Dean Solon เศรษฐีพันล้านผู้สร้าง “Shoals Technologies” ดวงอาทิตย์ของอเมริกา - Forbes Thailand

Dean Solon เศรษฐีพันล้านผู้สร้าง “Shoals Technologies” ดวงอาทิตย์ของอเมริกา

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Dec 2021 | 07:21 AM
READ 2684

Dean Solon สร้างทรัพย์สินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการผลิตอุปกรณ์จำเป็นแบบเดียวกับที่สามารถสั่งทำได้ถูกๆ ในจีน เคล็ดลับของเขาคือ ขายแพงกว่า แต่คุณภาพดีกว่า

ณ โรงงานขนาด 100,000 ตารางฟุตของ Shoals Technologies ในเมือง Portland รัฐ Tennessee ภารกิจค้นหาความเรียบง่ายของ Dean Solon เริ่มต้นจากการกำหนดสีเสื้อให้พนักงานตามแบบตัวละครใน Sesame Street “โลโก้ของ SunPower สีเหลืองเหมือน Big Bird และ First Solar สีแดงเหมือน Elmo” เขาอธิบาย ส่วนพนักงานที่ผลิตสินค้าให้ Blattner Energy ซึ่งเป็นผู้รับเหมาติดตั้งโซลาร์ฟาร์มให้สวมเสื้อสีน้ำเงินเหมือน Cookie Monster “แล้วก็มี Count von Count ตัวสีม่วงที่ชอบนับเลข กลุ่มนี้คือ ฝ่ายควบคุมคุณภาพ” พนักงานซึ่งไม่มีสหภาพแรงงานในโรงงาน 4 แห่งของ Shoals ในรัฐ Tennessee และ Alabama เป็นผู้ผลิตเครื่องในของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ พูดง่ายๆ คือ พวกเขาทำชิ้นส่วนจำเป็นทุกอย่างยกเว้นแผงโฟโตโวลเทอิกผิวมันวาวและอินเวอร์เตอร์ซึ่งจำเป็นสำหรับการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่าย พวกเขาผลิตหัวเชื่อมต่อสายไฟ กล่องรวมกระแสไฟฟ้า และฟิวส์ภายนอก ซึ่งเป็นงานผลิตชิ้นส่วนไม่เร้าใจที่ใครๆ คิดว่าหนีไปทำาในจีนกันหมดตั้งหลายปีแล้ว แน่นอนว่าคู่แข่งของ Solon ส่วนใหญ่คือ บริษัทจีนอย่าง GCL System Integration และ Wuxi Sun King แต่ถึงแม้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนจะราคาถูกกว่าของ Shoals แต่ Solon ก็ยังได้เปรียบ เพราะลูกค้ามองว่าชิ้นส่วนของเขาปลอดภัยกว่า เชื่อถือได้มากกว่า และติดตั้งง่ายกว่า นั่นแปลว่า บริษัทลูกค้ายอมจ่ายแพงขึ้น 5-10% เพื่อแลกกับการจ่ายค่าแรงและค่าซ่อมบำรุงที่น้อยลง ในปีที่แล้วราคาพรีเมียมส่วนนี้รวมกันเป็นกำไร 34 ล้านเหรียญจากยอดขาย 176 ล้านเหรียญ และหลังจาก Shoals เสนอขายหุ้น IPO เมื่อเดือนมกราคม Solon วัย 57 ปีก็มีทรัพย์สินประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญ ซึ่งมาจากหุ้น 40% ของเขาในบริษัท และรายได้หลังหักภาษีจากการขายหุ้นไปก่อนหน้านั้น Solon พยายามทำให้ราคาพรีเมียมสำหรับสินค้าที่ผลิตในอเมริกาของเขาต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยการปรับกระบวนการผลิตให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด จอภาพที่ติดอยู่หน้าเครื่องจักรแต่ละเครื่องแสดงวิธีการทำงานแต่ละงานให้พนักงานดู ตั้งแต่การปอกและย้ำสายไฟไปจนถึงการติดตั้งฟิวส์และประกอบหัวเชื่อมต่อสายไฟ ที่นี่ไม่ได้วัดรอบการผลิตตามปริมาณงานที่คน 1 คนทำได้ต่อชั่วโมง แต่วัดเป็นต่อวินาที
Dean Solon ผู้ก่อตั้ง Shoals Technologies ออกแบบโรงงาน ในเมือง Portland รัฐ Tennessee แห่งนี้ เพื่อให้พนักงาน 500 คนของเขาผลิตสายไฟฟ้าได้มากพอในแต่ละวันสำหรับการส่งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “เมกะวัตต์แล้วเมกะวัตต์เล่า”
Solon กล่าวว่า โรงงานนี้สร้างขึ้นตามทฤษฎีการเรียนรู้ของ “Pavlov” โดยฝึกให้พนักงานแก้ไขวิธีทำงานของตัวเอง เมื่อพวกเขาเห็นไฟเหนือที่นั่งกะพริบเตือนว่าทำงานช้ากว่าตาราง พวกเขาจะมีเวลา 15 นาทีในการแก้ปัญหาก่อนที่ไฟจะกะพริบเร็วขึ้นจน “ทีมซ่อมบำรุง” ถูกเรียกเข้ามาช่วยแต่บริษัทจะบอกพนักงานไว้ก่อนว่า ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองทำอะไรผิด “ถ้าเกิดความผิดพลาดในกระบวนการก็ผิดที่เราเอง เราออกแบบผิด เรายังคิดกระบวนการมาไม่ดีพอจะป้องกันไม่ให้พนักงานทำผิดพลาด” เขากล่าว ผู้จัดการโรงงานจะนั่งอยู่บนชั้นลอยเหนือชั้นโรงงาน ซึ่ง Solon เรียกว่า ผาทระนง (Pride Rock) ตามชื่อของแท่นหินใหญ่ในการ์ตูนเรื่อง The Lion King แต่พวกเขาก็ไม่ค่อยได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิต เพราะทีมต่างๆ จะช่วยกันแก้ปัญหาเอง เนื่องจากถ้ามีใครสักคนทำงานช้าเกินไป คนต่อไปในสายการผลิตก็จะไม่มีชิ้นส่วนให้ทำงานต่อ “อย่าตะคอกใส่ใคร ปล่อยให้พวกเขาชนะได้ด้วยตัวเอง” Solon กล่าว “ผมไม่ต้องเค้นให้พนักงานทำงานเร็วขึ้นอีก 10 วินาทีหรอก เพราะตราบใดที่ไฟเขียวยังติด เราก็ทำเงินได้อยู่แล้ว” Solon พาครอบครัวไปเที่ยว Disney World ปีละ 2 ครั้งมาหลายสิบปีแล้ว และเขาก็ได้แรงบันดาลใจจากการทำงานสอดประสานกันอย่างสมบูรณ์ของสวนสนุกแห่งนี้ “ถ้ามองผิวเผินทุกอย่างจะดูสงบราบเรียบมีความสุข แต่หลังฉากมีคนหลายร้อยคนช่วยกันดูแลให้เวทมนตร์ทำงานถูกต้อง” ฮาร์ดแวร์แบบ “แค่เสียบก็ใช้งานได้” ของ Shoals ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเงินจ้างทีมช่างไฟฟ้าแพงๆ มาปอกหรือย้ำสายไฟเป็นล้านๆ จุดด้วยมืออยู่กลางทุ่ง “เราไม่ใช้โซลาร์ฟาร์มของลูกค้าเป็นลานทดสอบฝีมือของเรา” Solon กล่าว เขาโชว์ให้ดูตู้ทดสอบชิ้นส่วน 5 ตู้ที่ตั้งเรียงอยู่ข้างกำแพง ซึ่งเป็นกล่องขนาดเท่าตู้เย็นที่เขาจะใส่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเข้าไปทดสอบกับความร้อน ความเย็น และความชื้นสัมพัทธ์ 100% ทั้งวันทั้งคืน 40 วันรวด เขายังเป็นนักประดิษฐ์มีชื่อผู้มีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วและกำลังรอการพิจารณารวม 30 รายการ และเขาก็มีกางเกงยีนส์ขาสั้นไม่น้อยกว่าสิ่งประดิษฐ์ เพราะยีนส์กับเสื้อยืดสีดำมีปกของ Shoals คือเครื่องแบบของเขา เขาภูมิใจในความเป็นคนไม่ชอบจุกจิกกับตัวเลขเงิน หรือการยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) มากจนเขาส่งบังเหียนให้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค Jason Whitaker มาเป็นซีอีโอแทนเมื่อ 15 เดือนก่อน และ Solon ยังคงเป็นกรรมการบริษัทและมุ่งสนใจเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีประธานกรรมการคือ Brad Forth ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Oaktree Capital ด้วย Forth ซื้อหุ้น Shoals มากกว่าครึ่งจาก Solon เมื่อปี 2017 และขายหุ้นได้เงินไป 2 พันล้านเหรียญจากการเสนอขายหุ้น IPO เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าถามว่า เมื่อ Shoals กลายเป็นบริษัทมหาชนไปแล้วจะมีแรงกดดันให้บริษัทต้องเค้นอัตรากำไรเพิ่มอีก 2-3% จนยอมลดคุณภาพตามแนวทางที่ Solon หลงใหลลงไปบ้างหรือเปล่า คำตอบคือ “เราจะไม่ลดคุณภาพ หรือความน่าเชื่อถือลงเพื่อแลกกับอะไรทั้งนั้น” Whitaker วัย 41 ปีกล่าว “เพราะเรื่องนี้ฝังอยู่ในกระบวนการของเรา” Solon เริ่มถือกล่องเครื่องมือเดินตามพ่อซึ่งเป็นช่างซ่อมแอร์และตู้เย็น และสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอาชีวศึกษาในเมือง Gary รัฐ Indiana ตั้งแต่ 8 ขวบ ในวัยเด็ก Dean ถอดชิ้นส่วนทุกอย่างเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรแล้วค่อยประกอบกลับไปใหม่ ตั้งแต่รถตัดหญ้าไปจนถึงเครื่องยนต์ V8 แต่บางทีประกอบแล้วก็มีชิ้นส่วนเหลือ พออายุ 16 ปีเขาก็มีลูกค้าและรถกระบะของตัวเอง เขาเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Purdue แต่เรียนไม่จบ จากนั้นเขาเข้าฝึกงานที่ Inland Steel แต่ก็ลาออกเพราะไม่ได้รับเครดิตจากนวัตกรรมที่เขาพัฒนาขึ้น เมื่อถึงปลายทศวรรษ 80 เขาทำงานด้านวิศวกรรมและขายชิ้นส่วนรถยนต์ในบริษัทร่วมทุนระหว่าง General Electric และ Bosch เขายอมหั่นค่าคอมมิชชั่นของตัวเองเพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้อของอีก แต่เขาตัดสินใจลาออกเมื่อโดนพวกเจ้านายเกลียด ในปี 2003 เขาได้รับโทรศัพท์จาก First Solar ซึ่งต้องการสายไฟและกล่องพักสายสำหรับเชื่อมต่อกับแผงโซลาร์ หลังจากนั้นไม่นาน Cypress Semiconductor ก็อยากได้อุปกรณ์แบบเดียวกันสำหรับบริษัทที่แยกตัวออกมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ SunPower ด้วย “ผมบ้าเครื่องยนต์กลไกมาตลอดชีวิต ผมเคยกะว่าเกษียณแล้วจะไปทำชิ้นส่วนรถยนต์” แต่เขาก็เปลี่ยนใจมาแนะนำแนวคิดเพื่อการผลิตที่สมบูรณ์แบบให้พวก “นักคิดที่จบปริญญาเอกกับนักประดิษฐ์ในห้องใต้ถุนบ้าน” ในวงการโซลาร์ เพราะคนเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะเพิ่มผลผลิตอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ “ส่วนผมรู้แต่เรื่องการเพิ่มผลผลิต” การปฏิวัติพลังงานแสงอาทิตย์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้ในปี 2020 การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 25% เป็น 130 กิกะวัตต์ชั่วโมง แต่การใช้พลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมไฟฟ้าพลังน้ำ) ยังคิดเป็นเพียง 12.5% ของพลังงานรวมทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ และปัจจัยที่ช่วยให้ผู้เล่นในประเทศได้ก้าวขึ้นมาโดดเด่น นอกจากเรื่องคุณภาพสินค้าสูงกว่าแล้ว ก็ยังมีโอกาสจากการที่ Huawei ของจีนปิดธุรกิจโซลาร์ในสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2019 หลังจากสภาคองเกรสประกาศข้อกังวลว่า อุปกรณ์ของ Huawei อาจเป็นช่องทางใช้ในการโจมตีในโลกไซเบอร์ได้ น่าชื่นใจที่เห็นว่า Solon ยังคงให้ความสำคัญกับมนุษย์ในการดำเนินธุรกิจของเขา การใช้หุ่นยนต์อาจเป็นเรื่องน่าสนุกเมื่ออยู่ในสวนสนุก แต่ไม่ใช่ในโรงงานของ Shoals “หุ่นยนต์ทำงานได้ 24 ชม. 7 วันก็เจ๋งดี แต่หุ่นยนต์ไม่ต้องซื้ออาหารกลับบ้านไปเลี้ยงครอบครัวทุกเย็น” Solon กล่าว “ผมจะติดตั้งระบบอัตโนมัติแล้วใช้หุ่นยนต์ทำงานทั้งหมดในโรงงานก็ได้ แต่แบบนั้นผมก็เป็นคนใจร้ายสิ”   เรื่อง: Chris Helman เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Jamel Toppin อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine