เมื่อความคลั่งไคล้ใน AI นำมาซึ่งการขาดแคลนชิปและทำให้บริษัทต่างๆ ต้องแย่งชิงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่เหนือกว่า สตาร์ทอัพด้านคลาวด์รูปแบบใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจำหน่ายสิ่งที่เป็นที่ต้องการนี้
ณ ปี 2017 ผู้ร่วมก่อตั้ง CoreWeave ถูกรางวัลใหญ่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว พวกเขาสะสมชิป Nvidia ไว้มากมาย ซึ่งความจริงแล้วชิปจำนวนดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอีก 5 ปีต่อมา เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นกระแสหลักในโลกของเรา
ในระหว่างที่ Michael Intrator, Brian Venturo และ Brannin McBee ยังทำธุรกิจซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ พวกเขาได้เริ่มซื้อหน่วยประมวลผล GPU หลายร้อยชิ้นเพื่อใช้ทำการขุดเงินดิจิทัลไม่ถึงปี 2019 พวกเขาปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใน New Jersey ของตนเองไปเป็นการจัดหาอุปกรณ์ประมวลผลประสิทธิภาพสูงนอกองค์กรให้กับบริษัทที่มีความต้องการเพื่อใช้ในการสร้างผลงานแบบ 3 มิติ การพัฒนายารักษาโรคตัวใหม่ และการพัฒนา AI ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การเปิดตัว ChatGPT ของ OpenAI ในช่วงปลายปี 2022 เป็นจุดกำเนิดของศึกแย่งชิงชิป Nvidia ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการฝึกฝนการเรียนรู้ของ AI และ CoreWeave ก็โชคดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้พอดิบพอดี ความสามารถในการเข้าถึง “อุปกรณ์ประมวลผล” หรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลและการคำนวณในปริมาณที่มากกลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่บริษัทซึ่งต้องการแข่งขันในธุรกิจ AI ได้อย่างไม่เสียเปรียบคู่แข่งต้องมี ทุกวันนี้แม้แต่นักลงทุนรายบุคคลหรือนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนในธุรกิจ VC ก็ยังสะสมชิปเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นการพัฒนา AI ของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ตนร่วมงานด้วยเช่นกัน
เมื่อบริษัทแย่งกันซื้อหน่วยประมวลผล GPU ซึ่งถือเป็นของหายากและมีราคาแพงสุดๆ องค์กรอย่าง CoreWeave ซึ่งให้เช่าสิทธิ์การเข้าถึงหน่วยประมวลผลดังกล่าวซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินธุรกิจก็กลายเป็นองค์กรที่มากคุณค่า การเติบโตแบบก้าวกระโดดขององค์กรสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดผ่านตัวเลข โดย CoreWeave ระดมทุนได้ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมาจากทั้งเงินกู้และการระดมทุนผ่าน VC ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมูลค่าประเมินของบริษัทก็ทะยานขึ้นจากราว 2 พันล้านเหรียญในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 เป็น 1.9 หมื่นล้านเหรียญในปัจจุบัน และจากข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวของสหรัฐฯ อย่าง The Information ระบุว่า บริษัทมีรายได้ประมาณการในปี 2024 อยู่ที่ 2.3 พันล้านเหรียญ
ปัจจุบัน CoreWeave กำลังขยายธุรกิจออกสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วโดยขยับจากศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจำนวน 3 แห่งในปี 2022 ไปเป็น 28 แห่งในประเทศต่างๆ อย่างสเปนและสวีเดนภายในสิ้นปี 2024
“ความต้องการของตลาดมากเกินกว่าที่เราจะตอบสนองได้ ความต้องการดังกล่าวมีมากเกินความสามารถทั้งหมดของโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์รวมกันด้วยซ้ำ” Mike Intrator ซีอีโอ CoreWeave กล่าว
CoreWeave เป็นบริษัทแถวหน้าในกลุ่มบริษัทคลาวด์ที่มีเป้าหมายคือ การตอบสนองความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเฉพาะเจาะจงของบริษัทผู้พัฒนา AI และประสบความสำเร็จจากการสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการด้านคลาวด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon และ Microsoft จากการเก็บเกี่ยวดอกผลจากภาคธุรกิจ AI ซึ่งถือกำเนิดขึ้นใหม่นี้ทำให้ CoreWeave ติดอันดับที่ 29 ในทำเนียบ Cloud 100 ของ Forbes ประจำปี 2024 ซึ่งเป็นการจัดอันดับสุดยอดบริษัทเอกชนด้านคลาวด์คอมพิวติ้งจากทั่วโลก และ CoreWeave ก็เป็นบริษัทหน้าใหม่ซึ่งติดอันดับสูงสุดในปีนี้
บริษัทใน California อย่าง Lambda ซึ่งติดอันดับที่ 84 ในทำเนียบ Cloud 100 ก็ประสบความสำเร็จในการจัดหาสิ่งที่บริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI อย่าง Pika ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวิดีโอ และ Writer ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อองค์กรต้องการมากที่สุด นั่นก็คือ ชิปจำนวนมหาศาล บรรดาบริษัทขนาดเล็กก็เกาะกระแสความต้องการนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Together AI ซึ่งจัดทำโครงสร้างพื้นฐานแบบโอเพนซอร์สสำหรับการพัฒนาโมเดล AI
Lambda เหมือนกับ CoreWeave ตรงที่ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากการจัดหาหน่วยประมวลผลข้อมูล GPU ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Stephen และ Michael Balaban รับรู้ถึงความต้องการ “อุปกรณ์ประมวลผล” ที่มีราคาซึ่งจับต้องได้และพร้อมใช้งานหลังจากที่พวกเขาเปิดตัวธุรกิจอย่าง Dreamscope ในปี 2015 Dreamscope เป็นแอปที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานอัปโหลดรูปภาพของตนและใช้ AI ในการรังสรรค์ภาพเหล่านั้นใหม่ให้มีความงดงามทางศิลปะที่ต่างออกไป อย่างไรก็ดีแอปดังกล่าวไม่ได้ทำเงิน แต่นำมาซึ่งใบแจ้งหนี้มูลค่า 40,000 เหรียญจากผู้ให้บริการคลาวด์อย่าง Amazon Web Services และนี่เป็นจุดกำเนิดให้ Lambda หันมาสร้างส่วนประมวลผล GPU ของตนเอง
ในปี 2017 บริษัทเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปเป็นการจำหน่ายฮาร์ดแวร์และได้ลูกค้าในสถานศึกษาซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับด้านการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ซึ่งยอมจ่ายเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนเองต้องการ จุดเปลี่ยนนั้นเตรียม Lambda ให้พร้อมสำหรับโอกาสทองในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญ และมีรายได้ในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 250 ล้านเหรียญ
“เมื่อ ChatGPT ถือกำเนิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการฝึกคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้ บริษัททุกแห่งต่างก็พยายามสร้าง…ต้นแบบขึ้นมาและทุ่มงบจำนวนมหาศาลไปกับการวิจัยและพัฒนา พวกเราทำราวกับว่า ‘เราอยู่ที่จุดสูงสุดของเส้นโค้งตามทฤษฎี curve of adoption ของจริงแล้วในตอนนี้’” Mitesh Agrawal ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Lambda กล่าว
เส้นโค้งดังกล่าวอาจย่อตัวลงในไม่ช้า การขาดแคลนหน่วยประมวลผล GPU วิกฤตที่สุดในช่วงปลายปี 2023 David Cahn ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Sequoia Capital ได้โพสต์ผ่านบล็อกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเข้าถึง “อุปกรณ์ประมวลผล” จะทำได้ง่ายขึ้นมาก และมีผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI จำนวนมากขึ้นด้วย
“มีการผลิตหน่วยประมวลผล GPU ล้นเกิน และชิปเหล่านี้ก็กำลังจะกลายเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกันด้วยราคาในระยะเวลาอันใกล้นี้” Cahn กล่าว
หัวใจสำคัญของธุรกิจรูปแบบนี้คือ ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์และการเป็นพันธมิตรกับ Nvidia บริษัทยักษ์ใหญ่มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) ซึ่งสุดยอดฮาร์ดแวร์ของบริษัทเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา AI ถึงแม้ว่า Nvidia จะจัดหาชิปให้กับธุรกิจคลาวด์ขนาดใหญ่อย่าง Amazon Web Services และ Google Cloud ซึ่งบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลที่มีอุปกรณ์ประมวลผลประสิทธิภาพสูงหลายพันแห่ง แต่ Nvidia ก็ยังสร้างระบบที่เอื้อประโยชน์กับธุรกิจของผู้จัดจำหน่ายอย่าง CoreWeave (Nvidia ร่วมลงทุนใน CoreWeave ราว 100 ล้านเหรียญ) และ Lambda อีกด้วย
บริษัทซึ่งให้บริการในรูปแบบที่ยืดหยุ่นกว่าที่บริษัทคลาวด์ขนาดใหญ่ทำหลายเท่าเหล่านี้มีบริษัทขนาดเล็กเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักพัฒนา AI จำนวนมากต้องการหน่วยประมวลผลจำนวนมากเฉพาะในเวลาที่ต้องการใช้งานเท่านั้น กล่าวคือ ต้องการซื้ออุปกรณ์ประมวลผลเพื่อใช้งานเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ในระหว่างที่สร้างหรือฝึกต้นแบบ AI เท่านั้น บริษัทอย่าง Google และ Amazon มักจะกำหนดให้ลูกค้าทำสัญญาเป็นรายปีหรือหลายปี ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่มากโขและถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่ใช้ในการประมวลผลไปโดยเปล่าประโยชน์ Agrawal กล่าว
ในทางกลับกัน ผู้ให้บริการอุปกรณ์ประมวลผลบนคลาวด์ให้เช่า Nvidia H100s แบบจ่ายค่าบริการตามที่ใช้งานจริง โดยคิดราคาเป็นรายชั่วโมง ตั้งแต่ประมาณ 2.50-5 เหรียญต่อ GPU ในขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Amazon มีแอปพลิเคชันและบริการที่หลากหลายสำหรับธุรกิจดูแลสุขภาพ ค้าปลีก และการเงิน
ส่วน CoreWeave และบริษัทประเภทเดียวกันนี้ได้ออกแบบแอปพลิเคชันและบริการอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับการใช้งานของ AI ในแต่ละกรณี พวกเรากำลังสร้าง “สภาพแวดล้อมที่ดีกว่าด้วยการเลือกใช้เครื่องมือประมวลผลรูปแบบนี้มากกว่าเครื่องมือแบบที่คุณพบได้ในคลาวด์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองทุกความต้องการที่เป็นไปได้” Intrator ผู้บริหาร CoreWeave กล่าว
“ผมไม่จัดเก็บรูปภาพของคุณ ผมไม่ให้บริการโฮสต์เว็บไซต์ของคุณ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราทำ แน่นอนว่ามีคลาวด์จำนวนมากมายที่ตอบโจทย์การใช้งานรูปแบบดังกล่าวได้เป็นอย่างดี สิ่งที่เราทำก็คือ เราบอกว่า จงฟังให้ดีนะ จะมีวิธีการประมวลผลในรูปแบบใหม่ล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอะไรคือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีถ้าหากคุณต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้” Intrator กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง: Rashi Shrivastava
เรียบเรียง: ริศา
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ช่วงเวลาสำคัญของ ‘Mori Trust’ อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น