ศึกยุติทำงานไกล เมื่อบรรดา CEO อยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ - Forbes Thailand

ศึกยุติทำงานไกล เมื่อบรรดา CEO อยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Jan 2024 | 08:30 AM
READ 2059

บรรดาซีอีโอต่างรักในข้อมูลที่ทั้งช่วยในการตัดสินใจเรื่องราคา กลยุทธ์ และการบุกตลาดใหม่ๆ แต่เมื่อเป็นเรื่องการทำงานทางไกล เสียงอื้ออึงในห้องผู้บริหารมักเป็นความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง และผู้บริหารมากมายต่างต้องการพาพนักงานกลับเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศให้ได้


    ยกตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว Larry Fink ซีอีโอของ BlackRock ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการลดอัตราเงินเฟ้อไว้ว่า “ผมคิดว่าถ้าเรามีคนกลับเข้าทำงานในออฟฟิศมากขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพการทำงานน่าจะเพิ่มมากขึ้น”

    ส่วนซีอีโอของ Disney อย่าง Bob Iger ระบุในอีเมลที่เรียกพนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วันไว้ว่า “ไม่มีอะไรจะมาทดแทนการทำงานร่วมกันต่อหน้าที่ทำให้คนเราได้สานสัมพันธ์ เฝ้ามองซึ่งกันและกัน และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้”

    Jamie Dimon ซีอีโอของ Chase ในเครือ JPMorgan ยังคงแน่วแน่ต่อต้านการทำงานทางไกลตามที่เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2021 ว่า “สิ่งนี้ไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ไม่เหมาะกับคนกระฉับกระเฉง ไม่เหมาะในแง่การสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ แบบปุ๊บปั๊บ” และยัง “ไม่เอื้อต่อวัฒนธรรม”

    จริงๆ แล้วก็ยังยากที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านี้คิดถูกหรือไม่ เพราะบรรทัดฐานในที่ทำงานเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเครื่องมือจำพวกซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานร่วมกันก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

    แม้ว่าสำหรับงานบางประเภทหรือพนักงานบางกลุ่ม การทำงานทางไกลเต็มรูปแบบจะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรให้ต้องขบคิดเลย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหลายๆ คนได้ ส่วนเรื่องผลิตภาพ (productivity) ก็ขึ้นชื่อว่ายากจะชี้วัดในหมู่คนทำงานนั่งโต๊ะ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนมากมาจากการตอบแบบสำรวจความเห็นของพนักงานเอง หรืองานวิจัยเชิงวิชาการที่ศึกษาเฉพาะกลุ่มงานบางประเภทเท่านั้น

    ด้วยเหตุนี้ Brian Elliott ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้บริหารด้านการปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น และเคยนำทีมวิจัย Future Forum ของ Slack มาก่อนจึงมองว่าซีอีโอจำนวนไม่น้อยยังติดอยู่กับ “ความรู้สึกโหยหาการบริหารซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่เคยใช้ได้ผลดีเมื่อหลายปีก่อน แล้ว “ก็ยังมีเหล่าซีอีโอใหญ่ๆ นี้ที่คิดการบริหารรูปแบบเดิมๆ ตามแบบฉบับของตัวเองที่เคยเจอมาอยู่” เขากล่าว

    สำหรับประเด็นนี้แต่ละฝ่ายที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มเททุ่มเถียงกันราวกับว่าเป็นเรื่องสำคัญทางจิตวิญญาณ

    Jonathan Levav อาจารย์จาก Stanford Graduate School of Business ที่ร่วมเขียนงานวิจัยที่มีการอ้างกันในวงกว้างได้ระบุว่า การประชุมผ่านระบบวิดีโอเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ต้องประหลาดใจที่ได้รับเสียงตอบรับแนวฉุนเฉียวจากกลุ่มคนที่สนับสนุนการทำงานทางไกล

    “แทนที่จะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องนี้กลับกลายเป็นความเชื่อทางศาสนาไปเสียแล้ว” เขากล่าว

    ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ Forbes ได้พูดคุยกับทั้งนักวิชาการ ที่ปรึกษาธุรกิจ และบรรดาผู้บริหาร เพื่อหาคำตอบว่าข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันบอกอะไรเราได้บ้าง หรือหลักฐานที่มีอยู่จะบอกอะไรเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการทำงานทางไกลได้

    แม้ว่าข้อมูลบางส่วนจะดูสอดคล้องกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างในหมู่ผู้บริหารว่าการทำงานทางไกลทำลายประสิทธิภาพของการทำงาน ไม่ดีต่อพนักงานที่อายุยังน้อย ลดทอนความคิดสร้างสรรค์ หรือฆ่าวัฒนธรรมองค์กร

    แต่งานวิจัยอื่นๆ ชี้ว่า ผลออกมาตรงกันข้าม เพราะการทำงานทางไกลช่วยให้พนักงานเอาเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทางมาทำงานได้นานมากขึ้น และยังช่วยรักษากลุ่มพนักงานที่มีลูกหรือต้องดูแลผู้สูงอายุซึ่งต้องการความยืดหยุ่นเอาไว้กับบริษัท พร้อมทั้งยังทำให้การเลือกจ้างพนักงานทำได้หลากหลายมากขึ้นเมื่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ซึ่ง Elliott กล่าวว่า สำหรับหลายๆ หัวข้อ “เมื่อเจอผลการศึกษาชิ้นหนึ่งก็ยังมีการศึกษาชิ้นอื่นที่ให้ผลคนละแบบกันอีกได้”

    แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ การทำงานในรูปแบบผสม (hybrid) ซึ่งผสมผสานทั้งสองทางเลือกเข้าไว้ด้วยกันน่าจะมีแต้มต่อมากที่สุด เมื่อลูกจ้างที่ไม่มีประสบการณ์อาจเสี่ยงได้รับผลในแง่ลบจากการทำงานที่บ้านมากกว่า ส่วนบรรดาพนักงานก็ไม่อยากกลับมาทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลาเลยจริงๆ

    แต่เหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าแนวทางไหนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะทุกอย่างล้วน “ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม” เสียมากกว่า ไม่ต่างไปจากสรรพสิ่งส่วนใหญ่ในโลก

    Ethan Bernstein อาจารย์จาก Harvard Business School กล่าวว่า “ผมพบว่าการที่บรรดาผู้บริหารบอกว่า พวกเขารู้ว่าจะเป็นแบบนี้ก็เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะต้องเป็นแบบนี้ เป็นอะไรที่ทั้งท้าทายและน่าผิดหวัง และเชื่อว่าลูกน้องของพวกเขาก็คงคิดเหมือนกัน”


ผลิตภาพ

    เมื่อเริ่มเกิดโรคระบาดซีอีโอทั้งหลายดูค่อนข้างจะประหลาดใจที่คนทำงานจากบ้านสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พอผ่านไป 3 ปีพวกเขากลับส่งสัญญาณในแบบตรงกันข้ามว่าผลิตภาพการทำงานลดลง (Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta กล่าวไว้เมื่อปี 2020 ว่า การทำงานทางไกลทำให้มี “พื้นที่สำหรับการคิดเพื่อระยะยาวมากขึ้น” และทำให้ “ผมมีความสุขมากขึ้นและทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้น” แต่ Zuck ในปี 2023 กล่าวว่า เหล่าวิศวกรที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศ “ทำงานสำเร็จลุล่วงมากกว่า” ตามการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานภายในบริษัท)

    แล้วที่จริงเป็นแบบไหนกันแน่?

    งานวิจัยสามารถเลือกสรรนำมาใช้ให้ชี้นำไปได้ทั้งสองทาง บทความที่ตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้โดยนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Nicholas Bloom ซึ่งทบทวนผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายชิ้นสร้างแรงกระเพื่อมพอสมควรเมื่อหยิบยกผลการวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานทางไกลเต็มรูปแบบทำให้ผลิตภาพลดลงถึงประมาณ 10% โดยเฉลี่ย

    แต่จริงๆ งานวิจัยเดียวกันยังพบด้วยว่า “สำหรับการทำงานในรูปแบบผสมที่บริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งมักถูกมองข้ามไปในการศึกษาเหล่านี้ดูเหมือนว่าผลการทำงานจะออกมาในเชิงบวก” Bloom กล่าว

    ก่อนที่เหล่าซีอีโอจะเที่ยวเอาบทความของ Bloom ไปใช้อ้างอิงเพื่อเรียกพนักงานทุกคนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา จริงๆ ในตัวเลขเหล่านี้ยังมีอะไรอีกหลายอย่างแฝงอยู่

    Bloom กล่าวว่า การศึกษาต่างๆ ที่เขาหยิบยกขึ้นมาเหล่านี้มักศึกษาจากกลุ่มแรงงานรายได้น้อยที่ทำหน้าที่เดิมซ้ำๆ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้อย่างชัดเจน เช่น เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์หรือพนักงานกรอกข้อมูลในอินเดีย ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับภาพรวมแรงงานในตลาดทั่วไปได้ และบอกเพิ่มว่า การศึกษาเหล่านี้มุ่งไปที่การบริหารที่แตกต่างกันออกไป

    ขณะที่ Elliot บอกว่า มีรายงานบางชิ้นศึกษาข้อมูลของพนักงานบริษัทในช่วงปี 2020 ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งผิดแผกไปจากเวลาปกติ ทั้งการที่พนักงานต้องคอยดูแลลูกๆ ซึ่งเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ หรือเรื่องวัคซีนที่ยังคงไม่มีใช้ ซึ่งอาจกระทบต่อผลการศึกษาได้


ความคิดสร้างสรรค์

    เช่นเดียวกับผลิตภาพ นวัตกรรมตกเป็นประเด็นที่ผู้บริหารนำมาใช้โต้แย้งเพื่อนำพนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศมากที่สุดโดยอ้างว่า การบังเอิญเจอกันตามทางเดินหรือได้เข้าแถวรอซื้ออาหารที่โรงอาหารด้วยกันจะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ได้

    ตัวอย่างเช่น Robert Thomson ซีอีโอของ News Corp. ระบุไว้ในบันทึกข้อความเมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 ว่า “บรรยากาศอันมีชีวิตชีวาในออฟฟิศที่เอื้อให้เกิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นโดยบังเอิญแบบโชคช่วยหรือไม่ได้วางแผนตระเตรียมไว้ล่วงหน้าถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างสรรค์”

    แล้วปัญหาอะไรล่ะ?

    ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไม่แน่ใจว่าการบังเอิญไปเจอกันตามตู้กดน้ำจะช่วยจุดประกายนวัตกรรมได้มากน้อยแค่ไหน การศึกษาหลายชิ้นในอดีตแสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปพนักงานในออฟฟิศมักจะไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนพนักงานที่นั่งทำงานอยู่ห่างออกไปเกิน 9 เมตร แม้ว่าจะมีโอกาสให้คุยก็ตาม และงานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นด้วยว่า คนเรามักผุดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้มากกว่าเมื่อไม่ได้รวมหัวกันคิดหลายๆ คน

    ในขณะเดียวกันการออกแบบออฟฟิศแบบเปิดโล่งที่บรรดาผู้บริหารตั้งใจให้พนักงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นกลับกลายเป็นว่าอาจจะให้ผลตรงกันข้าม งานวิจัยของ Bernstein แสดงให้เห็นว่า ออฟฟิศที่เปิดโล่งกลับลดปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าลงได้สูงสุดถึง 70% เพราะพนักงานต่างก็ใส่หูฟัง เลี่ยงการสบสายตา และหมั่นสังเกตภาษากายของบรรดาเพื่อนร่วมงาน

    “บรรทัดฐานแบบนี้แพร่กระจายได้รวดเร็ว” เขากล่าว “ถ้าคุณไปรบกวนใครเข้า เขาจะส่งสายตาอาฆาตใส่คุณได้”


การให้คำปรึกษา

    ข้อกังวลที่พบได้มากที่สุดเกี่ยวกับการทำงานทางไกลซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลให้กลับมาทำงานในออฟฟิศคือ ผลกระทบต่อกลุ่มพนักงานใหม่หรือพนักงานที่อายุยังน้อย “สำหรับพนักงานกลุ่มที่เด็กที่สุดของเรา ผมกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการขาดโอกาสในการพัฒนาในสายอาชีพตั้งแต่เนิ่นๆ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในอีกหลายสิบปีข้างหน้า” Ken Griffin ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Citadel กล่าวไว้เมื่อปี 2021

    นี่เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายดูจะเห็นตรงกันมากกว่าเรื่องอื่นๆ ในการศึกษาชิ้นหนึ่งของ Emma Harrington ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก University of Virginia ซึ่งจัดทำก่อนจะเกิดโรคระบาดพบว่า วิศวกรที่นั่งทำงานในอาคารเดียวกับเพื่อนร่วมทีมจะได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโค้ดที่พวกเขาเขียนมากกว่าคนที่มีเพื่อนร่วมทีมนั่งทำงานอยู่คนละอาคารถึง 22%

    เมื่อเกิดโรคระบาดและออฟฟิศต้องปิดตัวลง ช่องว่างทางการโต้ตอบทางความคิดที่พนักงานทั้งสองกลุ่มได้รับก็ไม่ค่อยจะแตกต่างกันสักเท่าไรแล้ว “ดูเหมือนว่าพนักงานรุ่นใหม่ๆ จะสะดวกใจกับการขอความเห็นหรือคำแนะนำเพิ่มเติมต่อหน้ามากกว่า” เธอกล่าว

    ขณะเดียวกันอคติที่เกิดจากระยะห่างหรือแนวคิดที่ว่าการอยู่ใกล้กันกับเพื่อนร่วมงานเป็นข้อดียังคงเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น จากการสำรวจความเห็นหัวหน้างาน 800 คนโดย Society for Human Resource Management เมื่อปี 2021 พบว่า มีถึง 42% ที่ยอมรับว่าเวลามอบหมายงานต่างๆ พวกเขาลืมนึกถึงคนที่ทำงานทางไกลไปบ้างเป็นบางครั้ง


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ในวันที่เติบใหญ่ของ Mark Zuckerberg

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine