Canelo Alvarez เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความแร้นแค้น สู่ทรัพย์สินสะสม 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในฐานะนักชกปอนด์ต่อปอนด์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก เวลานี้แชมป์มวยโลกวัย 33 ปีกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจในเม็กซิโก ประกอบไปด้วยสถานีน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ บริษัทรถบัส และแบรนด์ค็อกเทล โดยมีเป้าหมายข้ามรุ่นน้ำหนักอีกครั้งสู่การเป็นเศรษฐีพันล้าน
นอกจากจะติดทำเนียบ Forbes 30 Under 30 ในปี 2018 แล้ว Canelo Alvarez ยังครองตำแหน่งนักกีฬาที่มีรายได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลกจากการจัดอันดับของ Forbes เมื่อปี 2023 ด้วยรายได้ก่อนหักภาษี 110 ล้านเหรียญในรอบระยะเวลา 12 เดือน สิ้นสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งนับตั้งแต่มีการจัดทำเนียบดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1990 Alvarez เป็นนักกีฬาเพียง 1 ใน 15 รายที่สามารถทำรายได้ถึงหลักร้อยล้านเหรียญได้ภายในปีเดียว ต่อจาก Roger Federer, Lionel Messi และ Cristiano Ronaldo ฯลฯ
โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินดังกล่าว Alvarez สามารถทำได้จากการขึ้นชกเพียงไฟต์เดียว หรือเฉลี่ยนาทีละ 1.4 ล้านเหรียญในการชก 12 ยก Forbes ประเมินว่า ตลอดอาชีพของนักชกรุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวตวัย 33 ปี เขามีรายได้ก่อนหักภาษีรวมเกือบ 600 ล้านเหรียญ เมื่อ Alvarez บอกว่า การชกมวย “ไม่ใช่เรื่องเงิน” ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเงินไม่ได้จำเป็นอีกต่อไป
“ผมหลงรักทุกอย่างเกี่ยวกับการชกมวย” Alvarez กล่าว หลังจากชกมวยอาชีพมา 18 ปี กระทั่งรอยแผลบนใบหน้ายังไม่มีให้เห็น แม้เพียง 2 สัปดาห์ก่อนเขาเพิ่งจะคว้าชัยชนะแบบขาดลอยเหนือ Jermell Charlo ในการชกเมื่อเดือนกันยายน “ผมชอบกิจวัตรประจำวันของผมแบบนี้ ชอบการฝึกซ้อม อยู่ในโรงยิม ชอบการคุมอาหาร ชอบการลงนวมซ้อม ชอบทุกอย่างเลย”
Alvarez สักคำขวัญ NO BOXING, NO LIFE (ไม่มีมวยก็เท่ากับไม่มีชีวิต) ไว้บนกล้ามแขนซ้าย เขารักษาวินัยไว้ไม่พร่องเลยสักนิด แม้ระหว่างฮันนีมูนเขาก็ยังคงเข้าฟิตเนส แน่นอนว่าทุกความสำเร็จต้องใช้ความพยายาม แต่สำหรับ Alvarez เขาเติบโตขึ้นมาในย่านชนบทอันยากจน และเคยต้องชกมวยแลกกับเงินเพียง 40 เหรียญ เคยนิ้วโป้งขวาหักตั้งแต่ยก 2 ในไฟต์หนึ่งเมื่อปี 2016 แต่ก็ยังชนะน็อกได้สำเร็จ เคยต้องเจรจากับคนร้ายเพื่อขอให้ปล่อยตัวพี่ชายที่ถูกลักพาตัวไปเพียง 1 สัปดาห์ก่อนการขึ้นชกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
“การต่อสู้ทำให้ผมรู้สึกมีชีวิตชีวา” Alvarez กล่าวถึงไฟต์กับคู่แข่งในตำนานอย่าง Floyd Mayweather Jr. เมื่อปี 2013 (1 ใน 2 ไฟต์ที่เขาแพ้) และ Gennadiy Golovkin (เสมอ 1 ครั้ง และชนะคะแนน 2 ครั้งระหว่างปี 2017-2022) นอกจากนี้ เขายังมีไฟต์ที่ชก 12 ยกมากมาย ขณะที่เพื่อนร่วมอาชีพจำนวนมากยินดียุติการชกที่ยก 10 “ผมถึงได้มายืนอยู่ตรงนี้ ในความท้าทายผมกล้าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง”
ทุกวันนี้ Alvarez กำลังมองหาความท้าทายใหม่ๆ นอกสังเวียน แม้นั่นจะหมายถึงการซ้อมกระสอบทรายใบหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อธุรกิจให้แข็งแกร่ง เป้าหมายใหม่ของเขาอาจจะยากยิ่งกว่าการเป็นนักชกผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลเสียอีก “เป็นเศรษฐีพันล้าน” เขาตอบโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย
ที่ผ่านมามีนักกีฬาเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีทรัพย์สินมูลค่ารวมแตะหลักพันล้านเหรียญ ในจำนวนนี้มีเพียง 2 คนคือ LeBron James ฟอร์เวิร์ดทีม Los Angeles Lakers และนักกอล์ฟ Tiger Woods ที่ทำได้ขณะยังคงอยู่ระหว่างการแข่งขันระดับอาชีพ ขณะที่ Michael Jordan และ Magic Johnson ขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้านหลังจากอำลาศึกบาสเกตบอล NBA ไปนานหลายปี โดย Forbes ประเมินว่าAlvarez มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 275 ล้านเหรียญ ตามหลัง Russell Westbrook (375 ล้านเหรียญ) และ Serena Williams (290 ล้านเหรียญ) 2 ซูเปอร์สตาร์นักกีฬามาติดๆ
ที่น่าประทับใจยิ่งกว่าคือ อาณาจักรธุรกิจของ Alvarez ยังอยู่ในช่วงยกแรกๆ เท่านั้น ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา Alvarez เปิดตัวสถานีบริการน้ำมัน 5 สาขาทางตะวันตกของเม็กซิโก โดยใช้ชื่อว่า Canelo Energy และร้านสะดวกซื้อชื่อ Upper อีก 20 สาขา และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปิดตัว VMC ค็อกเทลกระป๋องจากเตกีลา และ Yaoca ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารเสริมสำหรับนักกีฬา จากเดิมที่มีธุรกิจเกี่ยวกับวงการมวยและวงการบันเทิง (Canelo Promotions และ Canelo Espectaculos) แอปพลิเคชันฟิตเนส (I Can) สายผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายผ่านร้านค้าออนไลน์ของตนเองคือ Canelo Store รวมถึง El Pastor Del Rica ร้านอาหารเม็กซิกันของเขากับพี่ชายในย่าน Guadalajara และในไม่ช้าก็จะเปิดตัวสาขา 2 ที่ San Diego ซึ่ง Alvarez ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในเมืองทั้งสองแห่งนี้เอง
ทว่าธุรกิจต่างๆ เหล่านี้สร้างรายได้รวมไม่มากนัก กล่าวคือ ไม่ถึง 50 ล้านเหรียญด้วยซ้ำ และหลายธุรกิจมีอัตรากำไรต่ำ Forbes จึงประเมินมูลมูลค่ารวมของธุรกิจทั้งหมดไว้ใกล้เคียงกันคือ ไม่ถึง 50 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางสายมีศักยภาพสูงและเติบโตอย่างรวดเร็ว Alvarez จับมือเป็นพันธมิตรกับ Casa Lumbre ผู้ผลิตเหล้าสปิริตชาวเม็กซิกันเพื่อผลิต VMC และร่วมมือกับ Jose Carlos Montibeller นักธุรกิจชาวเม็กซิกันเพื่อสร้าง Yaoca แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วเขาไม่ต้อนรับนักลงทุนอื่นอีกเลยและครองความเป็นเจ้าของบริษัทอื่นๆ ของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
ในการชกไฟต์ล่าสุด Alvarez ได้รับการประกาศว่าเป็นเจ้าของส่วนสูง 5 ฟุต 7 นิ้วครึ่ง แม้จะไม่ใช่ร่างกายที่กำยำเท่าไรนัก ต่อให้พิจารณาจากมาตรฐานนักชกรุ่นซูเปอร์มิดเดิลเวตก็ตาม แต่เขามีหมัดโต้กลับปลิดวิญญาณและเป็นจอมแท็กติกตัวฉกาจ สถิติการชกอาชีพของเขาคือ ชนะ 60 เสมอ 2 แพ้ 2 โดยในชัยชนะ 60 ครั้งนั้น 39 ครั้งเป็นการชนะน็อก นอกจากนี้เขายังครองแชมป์โลกทุกสถาบันในรุ่นน้ำหนัก 168 ปอนด์ พ่วงด้วยแชมป์ในอีก 3 รุ่นน้ำหนัก รวมถึงยังเป็นผู้ชนะเลิศในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยจำนวนผู้ติดตามทาง Instagram 16.7 ล้านคน มากกว่านักชกคนใดในรุ่นอายุเดียวกัน
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาตั๋วเข้าชมไฟต์ของ Alvarez ที่ Las Vegas (และที่อื่นๆ ที่เขาอยากจะชก) ขายหมดเกลี้ยง และยังทำเงินจากการรับชมแบบ Pay Per View ได้อยู่เสมอ Eddie Hearn ประธานกรรมการ Matchroom Boxing ผู้จัดไฟต์ของ Alvarez ไปทั้งสิ้น 6 ไฟต์ก่อนแยกทางกันเมื่อปีที่แล้วกล่าว “ถ้าไม่ใช่ระดับเมกะไฟต์ คนในวงการมวยสหรัฐฯ ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก ยิ่งเป็นการชมสดๆ ที่สนามแข่งคุณเล็งไว้ได้เลย 12 ล้าน, 15 ล้าน, 20 ล้านเสมอ ซึ่งก็ไม่มีใครในสหรัฐฯ เทียบได้เลยเช่นกัน ยกเว้นจะเป็นเมกะไฟต์”
ในขณะที่นักกีฬาจำนวนมากมีความสุขกับการทำเงินอย่างรวดเร็วเพียงนำรูปของพวกเขาแปะลงบนผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ Alvarez เขามักจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนอย่างพิถีพิถันเสมอ และในเวลานี้เขามีสปอนเซอร์หลักเพียงรายเดียวเท่านั้นคือ Anheuser-Busch ด้วยสัญญามูลค่าปีละประมาณ 2 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ เขายังมักจะไม่ค่อยพูดถึงธุรกิจของตนเองมากนัก และมักจะปล่อยให้ลูกค้าตีความหาความเชื่อมโยงจากมุกตลกของเขาเอาเอง
ตัวอย่างหนึ่งคือ ร้านสะดวกซื้อของเขาที่มีชื่อว่า Upper มาจากชื่อเรียกหมัดอัปเปอร์คัต พวกเขาขายกาแฟชนิดพิเศษชื่อว่า Santos ซึ่งเป็นทั้งชื่อจริงของเขาและชื่อของคุณพ่อ ขณะที่สถานีบริการน้ำมันของเขาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเติมสารพิเศษเรียกว่า P4P มาจากปอนด์ต่อปอนด์นั่นเอง ส่วนค็อกเทลกระป๋องจะมีรูปของเขาพร้อมลายเซ็นด้านหลัง ขณะที่ด้านหน้าเป็นข้อความ VMC ย่อมาจาก “Viva Mexico, Cabrones” (เม็กซิโกจงเจริญ) ที่เขามักจะตะโกนกล่าวหลังคว้าชัยชนะ
Alvarez เริ่มหันมาจับธุรกิจอย่างจริงจังในช่วงวัย 20 ปลายๆ โดยได้แรงบันดาลใจจากนักกีฬาที่เขาเคยเห็นว่าแล้วว่า จบลงมือเปล่า คนใกล้ชิดต่างยกย่องเขาเป็นเสียงเดียวกันว่า ฉลาดเฉลียว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เขาสั่งสมมาจากการสู้รบปรบมือกับบรรดาโปรโมเตอร์มวยและสถานีโทรทัศน์ผู้มากอิทธิพลมาตลอดหลายปี Guillermo Orozco ลูกพี่ลูกน้องของเขาและเป็นกรรมการบริษัทโฮลดิ้งที่อยู่เบื้องหลัง Canelo Energy และ Upper บอกว่า Alvarez เคลื่อนไหวเหมือนคน “เท้าหนัก” คือช้าแต่ชัวร์ เขาใช้เวลา 3 ปีกว่าจะเปิดสถานีบริการน้ำมันสาขาแรกๆ 2 ปีในการวางแผนเปิดร้านสะดวกซื้อ และ 1 ปีในการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเติมสารพิเศษ P4P
“ผมมีส่วนร่วมในทุกความเคลื่อนไหวของทุกธุรกิจที่มี” Alvarez กล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือกลยุทธ์ทางการตลาด พันธมิตรค็อกเทล VMC (Casa Lumbre ในเม็กซิโก และ Spirit of Gallo จากสหรัฐฯ) บอกว่า Alvarez ไม่ใช่แค่นักขายที่กระตือรือร้น (เขาสวมเสื้อ VMC แม้กระทั่งในการให้สัมภาษณ์หลังการชกเขายังพูดถึงค็อกเทล VMC อยู่เลย) แต่ยังวิเคราะห์ประเด็นด้านการปฏิบัติการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการกระจายสินค้าและการป้องกันไม่ให้สินค้าในร้านหมด
VMC คือ ส่วนผสมของเทรนด์การตลาดที่ลงตัว เพราะทั้งเตกีลาและค็อกเทลพร้อมดื่มจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมสุรา และชาวละตินซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรสหรัฐฯ ที่เม็กซิโก VMC วางจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ ราว 12,000 แห่งหลังจากเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อปี 2022 และขยายตลาดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนที่สหรัฐฯ มีการเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน ปัจจุบันวางจำหน่ายในร้านค้าราว 6,000 แห่งครอบคลุม 5 รัฐ ซึ่ง Spirit of Gallo ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฐานอยู่ที่ Modesto ใน California บอกว่า VMC สามารถขึ้นครองอันดับ 7 ใน California ได้อย่างรวดเร็ว และขึ้นแท่นอันดับ 2 ของร้าน Kroger ใน California ในกลุ่มเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่มที่มีเหล้าเป็นส่วนผสม [เครื่องดื่มประเภทดังกล่าวรวมถึงค็อกเทลที่ผสมแล้วล่วงหน้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัดลม (hard seltzer)]
นอกเหนือจากบริษัทของตนเองแล้ว Alvarez ยังเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ โดยรวมถึงโรงแรมด้วย เขากับ Orozco บอกว่า อยากจะขยายกิจการสู่การขนส่งสำหรับอุตสาหกรรม โดยจะสร้างศูนย์ให้เช่าคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง (Fulfillment center) ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ภายในเวลา 1 ปีครึ่งนี้ แต่ก็อีกนั่นแหละ Alvarez ไม่ได้ต้องการเงิน แต่เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะแขวนนวมในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เขายอมรับว่าชีวิตนี้เขาเป็นคนที่แข่งขันในทุกเรื่อง
“ผมทำเงินล้านแรกได้ตอนอายุ 20 ปี สำหรับผมที่เริ่มต้นจากศูนย์จนสามารถทำเงินล้านเหรียญได้นั้น ตอนนั้นผมรู้ตัวเลยว่าอยากได้มากกว่านี้อีก” Alvarez กล่าว “ผมไม่เคยรู้สึกพอใจเลย แม้กระทั่งเวลานี้”
เรื่อง: BRETT KNIGHT เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: ETHAN PINES
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “โฟกัสไอเดีย ไม่ใช่ต้นทุน” คำแนะนำทำธุรกิจจาก Richard Branson เจ้าของบริษัทกว่า 400 แห่งทั่วโลก