Bombardier ติดปีกบินใหม่ให้สูงกว่าเดิม - Forbes Thailand

Bombardier ติดปีกบินใหม่ให้สูงกว่าเดิม

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Mar 2019 | 10:34 AM
READ 5674

Bombardier ถึงกับเกือบสิ้นเนื้อประดาตัวหลังทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านเพื่อพัฒนาเครื่องบินเจ็ตลำใหม่ โดยหวังจะบินแข่งกับ Airbus และ Boeing แต่หลังจากที่คนนอกเข้ามาบริหารและนำบริษัทแคนาดาแห่งนี้พ้นจากหลุมอากาศได้แล้ว เขาจะกลับมาบินผงาดอีกครั้งได้หรือไม่

ยามดึกวันพฤหัสบดีหนึ่งในเดือนมกราคม 2015 Alain Bellemare กำลังนั่งวางแผนก้าวต่อไปของตัวเองอยู่ในห้องทำงานที่ United Technologies ใน Hartford

เขาเพิ่งจะโดนมองข้ามสำหรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกำลังลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกการบินของบริษัทเมื่อตอนที่เขาได้รับโทรศัพท์จาก Pierre Beaudoin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bombardier ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทกันมานานและเป็นชาวมอนทรีออลเหมือนกัน

Beaudoin บอกว่า เขากำลังลำบาก Laurent คุณพ่อของเขาได้แปลงโฉมบริษัทสัญชาติแคนาดาแห่งนี้ จากผู้ผลิตสโนว์โมบิลระดับภูมิภาคกลายป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถไฟ และเมื่อเร็วๆ นี้ยังกลายเป็นนกเหล็กยักษ์ไล่งับเครื่อง Boeing กับ Airbus อีกด้วย

ในขณะที่ Bombardierกำลังจะทำให้นักลงทุนต้องผิดหวัง ด้วยตัวเลขขาดทุนประจำไตรมาสถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่บางที Bellemare อาจจะช่วยได้

Bellemare ปฏิเสธ แต่ในวันศุกร์วันหนึ่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เขาก็บินไปพบกับ Beaudoin ที่ Montreal โดยคิดจะแวะไปหาเพียงสั้นๆ กำหนดรายงานผลประกอบการใกล้เข้ามา Beaudoin จึงบีบให้ Bellemare ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท

 

เส้นทางก่อนวิกฤต

Joseph-Armand Bombardier ชาวฝรั่งเศส-แคนาดา เคยเป็นช่างกล เขาทำงานปะติดปะต่อในร้านเล็กๆ ของตนเองในชนบทของ Quebec นานเกือบ 10 ปีโดยหวังจะสร้างสโนว์โมบิลสักเครื่องหนึ่ง ไม่เกินปี 1942 Bombardier ก็สามารถก่อตั้งบริษัทรถหิมะ (สโนว์คาร์) ของตนเองขึ้น

แต่ผู้ที่ทำให้บริษัทแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแคนาดาคือ Laurent Beaudoin ลูกเขยของ Bombardier ซึ่งเป็นนักบัญชีจากเมือง Quebec วิธีการของเขาคือเข้าซื้อบริษัทที่กำลังประสบปัญหาและขอรับเงินช่วยเหลือก้อนโตจากรัฐบาล

Laurent Beaudoin ลูกเขยของBombardier ผู้สร้างความเติบโตให้บริษัทในยุค 80s-90s (PHOTO CREDIT: Jiang ren / Imaginechina)

Laurent วัย 27 ปีในเวลานั้น เข้าซื้อบริษัทเมื่อปี 1966 หลังการเสียชีวิตของBombardier จากนั้นธุรกิจสโนว์โมบิลเผชิญปัญหามากมายในช่วงวิกฤตน้ำมันปี 1973 เขาจึงหันไปจับอุปกรณ์รถไฟแทน และสามารถเสนอราคาสร้างรถไฟให้กับ Metro ใน Montreal ได้สำเร็จ ปลดล็อกไปสู่การคว้าประมูลกิจการในยุโรปมาได้อีกหลายรายการ ส่งให้บริษัทก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของตลาดอุปกรณ์รถไฟในช่วงต้นยุค 2000

ต่อมาคือธุรกิจการบิน Laurent ซื้อ Canadair มาจากรัฐบาลแคนาดาเมื่อปี 1986 ในราคา 120 ล้านเหรียญหลังจากที่ Ottawa สูญเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญไปกับต้นทุนพัฒนา Challenger ซึ่งเป็นเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจ เมื่อผนวกกับ Learjet ซึ่งได้มาเมื่อปี 1990 จากบริษัทแม่ที่ล้มละลายนั้น Bombardier ก็สามารถผลักดันเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจให้รุ่งเรืองได้สำเร็จในช่วงปลายยุค 1990

จากนั้นคือการเดิมพันครั้งใหญ่ นั่นคือ CSeries เครื่องบินใหม่ทั้งหมดลำแรกของบริษัท แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความมั่นใจในช่วงต้นยุค 2000 Pierre ลูกชายของ Laurent ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงนั้นเชื่อว่า ตลาดยังมีช่องว่างให้กับเครื่องบินประหยัดเชื้อเพลิงที่มีขนาดอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องบินเจ็ตเพื่อการเดินทางในภูมิภาคกับเครื่องบินขนาดเล็กสุดของ Airbus และ Boeing คือ A320 และ 737

แต่ Beaudoin ประเมินความโหดร้ายของการตอบโต้จาก Airbus และ Boeing ไว้ต่ำเกินไป สองยักษ์ใหญ่พัฒนา A320 และ 737 รุ่นใหม่ที่มีการใช้เครื่องยนต์ใหม่ออกมาบั่นทอนข้อได้เปรียบด้านประสิทธิภาพของ CSeries และเมื่อสายการบินต่างๆ กำลังเล็งว่าจะซื้อ CSeries อยู่นั้น Airbus กับ Boeing ก็ตอบโต้ด้วยการปรับลดราคาเครื่องบิน

Pierre Beaudoin ทายาทบริษัทผู้ชักชวน Bellemare ให้เข้ามาช่วยกู้ธุรกิจที่กำลังพบวิกฤตหนี้ (PHOTO CREDIT: Ronaldo Schemidt / AFP)

ขณะที่ต้นทุนการพัฒนาก็บานปลายจากที่ประเมินไว้ในตอนแรก 3.4 พันล้านเหรียญขึ้นเป็น 6 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน แผนกเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจของบริษัทก็กำลังถลุงเงินนับพันๆ ล้านในการออกแบบเครื่องบินใหม่ อีก 2 ลำคือ Learjet 85 และ Global 7000

Bellemare จึงเข้าฉากมากู้สถานการณ์ หลังร่วม งานกับ United Technologies มานานถึง 18 ปี Bellemare ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกอบการที่ชาญฉลาดและมีเครือข่ายลึกซึ้ง เมื่อเขาตอบรับงานเขายังไม่ทันเข้าใจว่าปัญหานั้นใหญ่แค่ไหนโดยทั่วไปแล้วคือมีความกดดันอยู่ทุกหนแห่ง” Bellemare กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกเขาได้นอนเพียงคืนละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

 

Bellemare ผู้พลิกสถานการณ์

ช่วง 10 เดือนแรก Bellemare หาเงินสดมาต่อกิจการของบริษัทด้วยการขายหุ้นใหม่ หุ้นกู้ และสินทรัพย์ระดมทุนรวมได้ 5.6 พันล้านเหรียญ เงินส่วนใหญ่ที่หามากู้วิกฤตนั้นมาจากการขายหุ้น 30% ในธุรกิจรถไฟ Bombardier Transportation (รายได้ของ Bombardier เกือบครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจนี้) ไปให้กับ กองทุนบำนาญ Quebec ในราคา 1.5 พันล้านเหรียญ และ Bellemare ยังดำเนินกิจการด้วยนโยบายรัดเข็มขัดและลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน

Bellemare โละพนักงานออก 7,700 คน ลดจำนวนซัพพลายเออร์จาก 10,000 เหลือเพียง 4,500 ราย และยุติการผลิตสินค้าที่เหมือนกันในหลายประเทศ Bellemare ยังสัมผัสได้ว่าตลาดเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจคงจะเติบโตแบบชะลอตัว เขาจึงปรับลดการผลิตเครื่องบินจาก 200 ลำในปี 2015 เหลือ 138 ลำในปี 2017 มีการยกเลิก Learjet 85 เนื่องจากขาดทุน 2.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Global 7000 โดนเลื่อนออกไปจนถึงปลายปี 2018

เครื่องบินรุ่นปัญหา - CSeries ที่กะว่าจะมาเก็บช่องว่างการตลาดระหว่างเครื่องบินเจ็ตเพื่อการเดินทางในภูมิภาคกับเครื่องบินขนาดเล็กสุดของ Airbus และ Boeing แต่ถูกสงครามราคาทำให้จำหน่ายยาก (PHOTO CREDIT: thepointsguy.com)

ปัญหาใหญ่ที่สุดยังคงเป็น CSeries ซึ่งในที่สุดได้เปิดตัวในปี 2016 แต่ก็ขายไม่ออก Bellemare เริ่มเคลื่อนไหวโดยหวังจะยุติฝันร้ายนี้ จึงหันไปจับมือกับ Airbus ซึ่งได้ตกลงเข้ารับหุ้นของโครงการไว้ 50.01% เมื่อเดือนตุลาคมปี 2017

ในที่สุด ข้อตกลงดังกล่าวก็ห้ามเลือดได้สำเร็จเราเริ่มคิดถึงก้าวต่อไปกันแล้วว่าเราจะนำทุนไปใช้อย่างไรให้เป็นระบบและมีระเบียบ” Bellemare กล่าว

สำหรับ Bombardier เส้นทางข้างหน้ายังคงคับแคบ Bellemare มีหนี้สินระยะยาวถึง 9 พันล้านเหรียญ สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องเร่งฟื้นฟูกระแสเงินสดเพื่อที่จะสามารถลดปริมาณหนี้สินนั้นลงได้ อีกเป้าหมายสำคัญคือซื้อหุ้นคืนจากกองทุนบำนาญ ของ Quebec เพราะว่าการลงทุนในธุรกิจรถไฟของกองทุนนี้มีเงื่อนไขมากมายเหลือเกิน

ในแต่ละปี บริษัทจะมีงบประมาณราว 800 ล้านเหรียญสำหรับลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาไปจนถึงปี 2020 ซึ่งนับว่ายังขาดแคลนอยู่มากสำหรับการพัฒนาอากาศยานลำใหญ่อีกสักลำ แต่ Bellemare แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Alain Bellemare ซีอีโอของ Bombardier ยืนเคียงข้าง Global 6000

แม้ว่าบริษัทจะประสบปัญหารุนแรง แต่เขาก็ไฟเขียวให้เดินหน้าโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต Bombardier ทำให้ตลาดประหลาดใจ เมื่อเขาเปิดตัวโมเดลใหม่ของเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่สำหรับผู้บริหาร 2 รุ่น ที่ทำรายได้มหาศาล คือ Global 5500 กับ 6500

นอกจากนี้ยังนับว่ามาถูกเวลา เพราะตลาดธุรกิจการบินส่งสัญญานฟื้นตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ บริษัทคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 25% มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญจนถึงปี 2020 โดยที่แผนกเครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจจะทำรายได้คิดเป็น 3 ใน 4 ของการขยายตัว

ส่วนอื่นๆ ของบริษัทต่างมีชื่ออยู่ในข่าวลือการซื้อและควบรวมกิจการ ผู้ที่จะซื้อแน่ๆ คือ Airbus นั่นเอง จากการเป็นพันธมิตรระหว่างสองบริษัทนั้น Bellemare บอกว่าจริงอยู่ว่าเรากำลังจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับ Airbus แต่สิ่งสำคัญคือโอกาสที่จะเติบโตต่อไป เราสามารถทำประโยชน์ให้กับ Airbus ได้ ตั้งแต่ห้องนักบินไปจนถึงปีก จนถึงตัวเครื่อง

แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือ Bombardierจะไม่ต้องขอลงจอดฉุกเฉินอีกต่อไปเราไม่ใช่พวกที่วิ่งหนีปัญหาเราวิ่งเข้าหามันต่างหาก” Bellemare กล่าว

 

เรื่อง: Jeremy Bogaisky เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม


คลิกอ่านฉบับเต็ม "ติดปีกบินใหม่ให้สูงกว่าเดิม" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine