25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 4 - Forbes Thailand

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 4

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Jun 2016 | 10:43 AM
READ 1141

ทุกบริษัทที่เราเลือกเข้ามาอยู่ในทำเนียบ Best Small Companies ของเราต่างก็มีโอกาสที่จะขยายกิจการให้ใหญ่โตมหาศาลด้วยความรวดเร็ว ถึงแม้การเติบโตจะเป็นเรื่องดี แต่ผู้นำของกิจการเหล่านี้กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นที่นอก เหนือจากขนาดและผลตอบแทนทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการทำให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ในระดับดีเยี่ยม การมีบรรยากาศการทำงานที่ดี การพัฒนาบริการที่เยี่ยมยอดให้กับผู้บริโภค การตอบแทนสังคม รวมทั้งการแสวงหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากธุรกิจของพวกเขานั้น ถึงแม้จะมีมูลค่าสูงลิ่ว แต่ก็ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่า

การเลือกบริษัทเข้ามาอยู่ในทำเนียบ เราใช้วิธีเดียวกับที่ใช้เมื่อสิบปีก่อนตอนที่คัดเลือกบริษัทเข้ามาใส่ใน หนังสือที่ชื่อว่า Small Giants นั่นคือบริษัทพวกนั้นจำต้อง:

  • ได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ
  • เป็น บริษัทที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก แต่ผู้นำองค์กรเลือกให้น้ำหนักกับความเป็นเลิศของธุรกิจมากกว่าที่จะขยาย ขนาดของกิจการให้ใหญ่ยักษ์
  • ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรที่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน
  • สามารถ รักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินเอาไว้ได้อย่างน้อย 10 ปีติดต่อกัน ด้วยการมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และอัตรากำไรที่ค่อนข้างนิ่ง
  • เป็นบริษัทนอกตลาดที่มีการถือครองหุ้นโดยผู้ถือหุ้นในวงจำกัด
  • เป็น บริษัทที่จัดอยู่ในระดับ human scale ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังมีโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ บริหารระดับสูงของบริษัท

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งประการ ที่ เรียกว่า “เสน่ห์” (mojo) ซึ่งในทางธุรกิจอาจจะพอเทียบได้กับคำว่าบารมี (charisma) นั่นคือถ้าผู้นำองค์กรคนไหนที่มีบารมีก็จะสามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกอยากทำ ตามแนวทางของผู้นำคนนั้น เช่นเดียวกัน ถ้าหากบริษัทไหนมีเสน่ห์ ทุกคนก็อยากที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขายของ ซื้อของ หรือทำงานให้กับบริษัทนั้น แต่เรื่องเสน่ห์นี้เป็นเรื่องที่พูดยาก เหมือนกับวลีเด็ดของ Potter Stewart ผู้พิพากษาของสหรัฐฯ ที่พูดถึงภาพอนาจารว่า มันเป็นสิ่งที่กำหนดนิยามยาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณเห็นคุณก็จะรู้เอง

West Paw Design

ที่ตั้ง: มลฑล Bozeman รัฐ Montana

CEO: Spencer Williams

รายได้: 10 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 70 คน

West Paw Design หนึ่งในบริษัทที่ท้าทายความเชื่อของคนทั่วไปว่าการผลิตของอะไรสักอย่างในสหรัฐฯ ไม่สามารถจะแข่งขันได้แล้ว แต่ 99% ของสินค้าพวกของเล่นและเตียงสำหรับสัตว์เลี้ยงของบริษัทนี้ ซึ่งใช้วัตถุดิบประเภทปลอดสารพิษ และผลิตจากธรรมชาติ หรือ วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ล้วนแต่ผลิตที่ Montana ซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในแง่ของการผลิตสินค้าประเภทนี้เลย อันที่จริงบริษัทอาศัยวัตถุดิบในการผลิตบางส่วนจากลูกค้าด้วยซ้ำ โดยการให้ลูกค้าส่งของเล่นสำหรับให้สัตว์เลี้ยงแทะเล่น (pet chews) กลับมาที่บริษัทเพื่อนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งทำจากวัสดุที่บริษัทเรียกว่า Zagoflex ด้วยแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำให้ West Paw เป็นบริษัทแรกใน Montana ที่ได้รับการรับรองจาก B Corporation “วิสัยทัศน์ของเราก็คือการสร้างโลกที่ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จอย่างเป็นมิตรกับผู้คนและโลกได้” Spencer Williams บอก ตอนที่เขาซื้อกิจการนี้เขาอายุเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น เขาใช้แนวทางการบริหารแบบ open-book management และมีโครงการปันส่วนกำไรให้กับพนักงานทุกคนในบริษัท

Headsets.com

ที่ตั้ง: รัฐ San Francisco

ผู้ก่อตั้งและ CEO: Mike Faith

รายได้: 26 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 44 คน

บางครั้งภาวะวิกฤตก็ช่วยให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของกิจการและผู้นำองค์กร จากการให้บริการที่เยี่ยมยอดและการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบที่สนุกสนาน ทำให้ยอดขายของ Headsets.com เติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงมียอดรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญในปี 2007 แต่พอเข้าสู่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ลูกค้าก็หยุดซื้อสินค้าของบริษัท และทำให้ยอดขายลดลงถึงหนึ่งในสาม แม้ว่า Mike Faith ซึ่งเป็น CEO จะต้องปลดพนักงานออกถึง 30 คนจากทั้งหมด 70 คน แต่เขาก็สามารถหางานใหม่ให้กับพนักงานที่ปลดออกไปได้เกือบครบทุกคน และปัจจุบันบริษัทก็อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

Bi-Rite Market

ที่ตั้ง: รัฐ San Francisco

ผู้ก่อตั้ง:Sam Mongannam

รายได้: 44 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 300 คน

Bi-Rite Market ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับร้านขายของชำที่เน้นขายสินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อยในท้องถิ่น โดยบริษัทได้จัดให้พนักงานทุกคน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ และพนักงานพาร์ทไทม์ได้รับการประกันสุขภาพ และ 401 (K) ซึ่งเปรียบเสมือนกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งฝั่งนายจ้างช่วยจ่ายเงินสมทบอีก 4% แถมยังได้รับปันส่วนผลกำไรของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ พ่อและลุงของ Sam Mongannamดำเนินกิจการร้านหลักนี้อยู่ที่ย่าน Mission ใน San Francisco เรื่อยมาจนกระทั่งขายกิจการไปในปี 1989 แต่ต่อมา Sam ซึ่งได้ไปฝึกฝีมือที่สวิสเซอร์แลนด์เพื่อเป็น chef กับ Raphael น้องชายของเขาได้ขอซื้อกิจการเดิมของครอบครัวกลับมาในปี 1997 และได้เพิ่มพื้นที่ครัวภายในร้านเพื่อทำ แซลมอนรมควัน และผสม hummus โดยใช้สูตรเด็ดที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่ของพวกเขา Sam ยกเลิกขายสินค้าขายดีสองรายการคือปลาแซลมอนและปลาทูน่าครีบเหลืองเนื่องจากปลาทั้งสองชนิดถูกจับมาบริโภคมากเกินไปแล้ว ในปี 2006 เขาได้เปิดกิจการ Bi-Rite Creamery & Bakeshop โดยใช้น้ำผึ้งที่สกัดมาจากรวงผึ้งที่เพาะเลี้ยงอยู่บนดาดฟ้าของร้าน และต่อมาในปี 2008 ทางร้านก็ได้เริ่มทำฟาร์มเกษตรของตัวเองที่ Sonoma นอกจากนี้ พี่น้อง Mongannam ยังทำกิจการบริษัทรับจัดเลี้ยง Bi-Rite Catering และองค์กรไม่แสวงกำไรที่ให้บริการสอนทำอาหารและให้ความรู้ด้านโภชนาการ

Air Force One

ที่ตั้ง: เมือง Columbus รัฐ Ohio

CEO: GREG GUY

รายได้: 30 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 160 คน

แม้ว่าบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ Air Force One ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวางระบบทำความร้อน ระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศให้แก่อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้กลายมาเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ในระดับภูมิภาคไปแล้ว Greg Guy ซึ่งเป็น CEO และลูกชายของผู้ก่อตั้งกิจการบอกว่าคู่แข่งของเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่มีรายได้ประมาณไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ แต่เขายังตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตไปเรื่อยๆ เขาบอกว่าสิ่งที่ดึงดูดให้พนักงานอยากมาทำงานที่บริษัทของเขาก็คือความมุ่งมั่นของบริษัทในด้านของความโปร่งใส และการทำงานเป็นทีม เมื่อไม่นานมานี้ Air Force One ได้หยุดจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับพนักงานขาย โดย Guy บอกว่ามันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ “ระหว่างแผนกต่อแผนก และ ระหว่างพนักงานขายต่อพนักงานขาย” ดังนั้นเขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีให้ทั้งหกแผนกของบริษัทแบ่งกำไรกันถ้าหากทำให้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในปี 2014 ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทเลิกใช้ระบบคอมมิชชั่นและเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่นี้เต็มปี Air Force One สามารถทำยอดขายในปีนั้นได้เกินเป้าถึง 20%

AFO Ownership Thinking Intro with Greg Guy from Dave Keller on Vimeo.

Innotec

ที่ตั้ง: เมือง Zeeland รัฐ Michigan

ประธานกรรมการ: Mike Lanser

รายได้: 90 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 400 คน

Innotec เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่าง โลหะประยุกต์ และอุปกรณ์ส่งกำลังไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน และร้านค้าปลีกที่ขายอุปกรณ์ส่องสว่าง โดยบริษัทมีโครงสร้างองค์กรแนวราบ ที่บริหารแบบกระจายอำนาจ ซึ่งเปิดโอกาสให้สายการผลิตแต่ละสายซึ่งบริษัทเรียกว่า “cell” มีอิสระในการควบคุมงบกำไรขาดทุน และงบดุลของตัวเอง โดยแต่ละ cell จะต้องรายงานผลการดำเนินงานและงบการเงินให้ทุกฝ่ายในบริษัททราบทุกเดือน ทั้งนี้ พนักงานของบริษัทถือหุ้นบางส่วนอยู่ในบริษัทจากโครงการ stock option สำหรับพนักงาน

Innotec ถือสิทธิบัตรสินค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ มากกว่า 20 ใบ และผลิตสินค้าจากโรงงานในสหรัฐฯ จีน ยุโรป และเม็กซิโก ทางด้านพนักงานของบริษัทก็มีความกระตือรือร้นในการที่จะตอบแทนและแบ่งปันแก่สังคมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกใน Zeeland ซึ่งใช้ชื่อว่า Innocademy ซึ่งบริหารโดยคณะครูแทนที่จะเป็นนักบริหารเหมือนโรงเรียนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ Innotec ก็ยังช่วยระดมทุนและดำเนินโครงการขุดบ่อน้ำบาดาลในประเทศไนจีเรียซึ่งทำให้ประชากรกว่า 14,000 คนมีน้ำสะอาดไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค


25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 1

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 2

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 3

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 5


คลิ๊กอ่าน "25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 รูปแบบ E-Magaizne