25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 3 - Forbes Thailand

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 3

FORBES THAILAND / ADMIN
26 May 2016 | 10:54 AM
READ 1043
ทุกบริษัทที่เราเลือกเข้ามาอยู่ในทำเนียบ Best Small Companies ของเราต่างก็มีโอกาสที่จะขยายกิจการให้ใหญ่โตมหาศาลด้วยความรวดเร็ว ถึงแม้การเติบโตจะเป็นเรื่องดี แต่ผู้นำของกิจการเหล่านี้กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นที่นอก เหนือจากขนาดและผลตอบแทนทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการทำให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ในระดับดีเยี่ยม การมีบรรยากาศการทำงานที่ดี การพัฒนาบริการที่เยี่ยมยอดให้กับผู้บริโภค การตอบแทนสังคม รวมทั้งการแสวงหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากธุรกิจของพวกเขานั้น ถึงแม้จะมีมูลค่าสูงลิ่ว แต่ก็ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่า การเลือกบริษัทเข้ามาอยู่ในทำเนียบ เราใช้วิธีเดียวกับที่ใช้เมื่อสิบปีก่อนตอนที่คัดเลือกบริษัทเข้ามาใส่ใน หนังสือที่ชื่อว่า Small Giants นั่นคือบริษัทพวกนั้นจำต้อง:
  • ได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ
  • เป็น บริษัทที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก แต่ผู้นำองค์กรเลือกให้น้ำหนักกับความเป็นเลิศของธุรกิจมากกว่าที่จะขยาย ขนาดของกิจการให้ใหญ่ยักษ์
  • ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรที่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน
  • สามารถ รักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินเอาไว้ได้อย่างน้อย 10 ปีติดต่อกัน ด้วยการมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และอัตรากำไรที่ค่อนข้างนิ่ง
  • เป็นบริษัทนอกตลาดที่มีการถือครองหุ้นโดยผู้ถือหุ้นในวงจำกัด
  • เป็น บริษัทที่จัดอยู่ในระดับ human scale ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังมีโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ บริหารระดับสูงของบริษัท
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งประการที่ เรียกว่า “เสน่ห์” (mojo) ซึ่งในทางธุรกิจอาจจะพอเทียบได้กับคำว่าบารมี (charisma) นั่นคือถ้าผู้นำองค์กรคนไหนที่มีบารมีก็จะสามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกอยากทำ ตามแนวทางของผู้นำคนนั้น เช่นเดียวกัน ถ้าหากบริษัทไหนมีเสน่ห์ ทุกคนก็อยากที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขายของ ซื้อของ หรือทำงานให้กับบริษัทนั้น แต่เรื่องเสน่ห์นี้เป็นเรื่องที่พูดยาก เหมือนกับวลีเด็ดของ Potter Stewart ผู้พิพากษาของสหรัฐฯ ที่พูดถึงภาพอนาจารว่า มันเป็นสิ่งที่กำหนดนิยามยาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณเห็นคุณก็จะรู้เอง Radio Flyer ที่ตั้ง: รัฐ Chicago CEO: Robert Pasin รายได้: 110 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 101 คน Antonio Pasin ซึ่งเรียนรู้วิธีการต่อตู้ไม้จากคฤหาสถ์ใน Venice ได้เริ่มผลิตรถลากเลื่อนของเล่นที่ทำจากไม้ในปี 1917 ที่ Chicago โดยในช่วงแรกใช้ชื่อเรียกว่า “Liberty Coaster” ตามอย่างชื่อของอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ และพอถึงปลายทศวรรษที่ 1920 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Radio Flyer เพื่อจับกระแสความนิยมในช่วงที่เพิ่งมีการกระจายเสียงทางวิทยุและมีการเดินทางโดยเครื่องบินใหม่ๆ โดยเขาเป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกเทคนิคการนำชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กมาใช้กับรถลากเลื่อน ซึ่งทำให้เขาได้ฉายา “Ford จิ๋ว” จากบรรดา supplier แต่เมื่อ Mario ลูกชายของเขาขึ้นมากุมบังเหียนบริษัทในฐานะ CEO ในปี 1970 กลับปล่อยให้กิจการซบเซาไป ทำให้คู่แข่งอย่าง Little Tikes ล้ำหน้าไปด้วยการนำรถลากเลื่อนที่ทำด้วยพลาสติกออกมาขายจนได้รับความนิยม ในขณะที่ Radio Flyer ยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิมที่ทำจากไม้และเหล็ก พอถึงปี 1997 Robert ซึ่งเป็นลูกชายของ Mario ที่มีอายุเพียงแค่ 28 ปีก็ขึ้นมารับตำแหน่งแทน เขาเคยได้เข้ามาทำงานในโรงงานและโกดังของบริษัทมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น และเขาหลงใหลกับแบรนด์ของตระกูลอย่างมาก Pasin ต้องรื้อสายการผลิตใหม่ โดยในช่วงแรกนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในทีมของเขายังไม่ค่อยคุ้นกับชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกนัก ซึ่งทำให้รุ่นแรกๆ ที่นำออกมาขายไม่ประสบความสำเร็จ “เราพลาดที่พยายามจะฉีกแนวให้แตกต่างไปจากสิ่งที่แข่งขันกันอยู่ในตลาด” เขาบอก และต่อจากนั้นบริษัทก็ทำสำเร็จจากการออกขายรุ่น Pathfinder ซึ่งมีที่นั่งที่ยกขึ้นยกลงได้ และยังคงเป็นรุ่นที่ขายดีมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ Radio Flyer ก็ยังทำ scooter รถสามล้อ และรถสี่ล้อที่เรียกว่า Ziggle ซึ่งเด็กๆ สามารถทำให้รถขยับไปได้ง่ายๆ ด้วยการขยับพวงมาลัยส่ายไปมา ทั้งนี้ ด้วยจำนวนสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นนี้ ทำให้สัดส่วนยอดขายรถลากเลื่อนลดลงจาก 100% เหลือแค่หนึ่งในสามเท่านั้น ในปี 2002 Radio Flyer ได้เปิดสำนักงานขึ้นที่เสิ่นเจิ้นในประเทศจีน ซึ่งบริษัทใช้เป็นฐานในการผลิตสินค้ามากถึงสองในสามของยอดผลิตสินค้าทั้งหมด ในงานสัมมนาที่ University of North Carolina เกี่ยวกับการคัดเลือกพนักงานใหม่ Pasin ได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังถึงกระบวนการที่เข้มงวดในการคัดเลือกพนักงานใหม่ของบริษัท ซึ่งบริษัทเรียกว่าเป็น “Flyer” คนใหม่ ว่าทุกคนจะต้องเขียนเล่าถึงความสำเร็จสามเรื่อง และความล้มเหลวหนึ่งเรื่อง และให้ทุกคนเขียนคำถามที่อยากจะถามบริษัท 15 ข้อ Pasin จะทำการสัมภาษณ์ผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานใหม่ทุกคนด้วยตัวเอง และเมื่อได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานแล้ว พนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า หรือเลขาแผนกก็สามารถที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทได้ Zifty.com ที่ตั้ง: รัฐ Atlanta ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ: Todd Miller รองประธานกรรมการ:: Jenifer Pete รายได้: 8.3 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 107 คน Zifty เป็นบริษัทที่โดดเด่นในธุรกิจการให้บริการจัดส่งอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งมีผู้ให้บริการจำนวนมาก เพราะ Todd Miller ก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี 2003 และมีบริการให้ลูกค้าสามารถติดตามคำสั่งซื้อได้แบบเรียลไทม์ก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ บริษัทขยายกิจการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากภายนอก หรือการกู้เงิน (ไม่รวมภาระจำนองรายการหนึ่ง) “เมื่อไหร่ที่เราทำกำไรได้สักนิดหน่อย เราก็ใส่มันกลับลงไปในธุรกิจของเรา” Jennifer Pete บอก ซึ่งในธุรกิจที่มีอัตราการเปลี่ยนงานสูงมากนี้ บริษัทยังคงสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานขับรถที่ดีให้ทำงานกับทางบริษัทอย่างต่อเนื่องได้ โดยมีพนักงานหนึ่งในสามที่ทำงานกับบริษัทมานานกว่าหนึ่งปี และ 19% ที่ทำงานมานานกว่าสองปี ซึ่ง Miller บอกว่าแทนที่บริษัทจะจ้างผู้รับเหมาแต่ “เราเลือกที่จะใช้ W2 model” McRoskey Mattress ที่ตั้ง: รัฐ San Francisco  CEO: Robin McRoskey Azevedo รายได้: 7.2 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 30 คน ในปี 2003 เจ้าฟ้าชาย Charles ทรงเข้าพักในที่พักแบบ Bed & Breakfast แห่งหนึ่งใน Marin County รัฐ California และเมื่อท่านจะออกจากที่พัก ก็มีทรงมีพระกระแสรับสั่งกับเจ้าของที่พักว่าน่าจะสั่งฟูก McRoskey มาใช้ในห้องพักทุกห้อง ซึ่งเธอก็ได้สั่งมาใช้กับห้องพักส่วนใหญ่ สำหรับฟูกของ McRoskey นั้น ถ้าดูจากความคิดเห็นของลูกค้าและผลการรีวิวบนโลกออนไลน์ก็ต้องถือว่าเป็นสินค้าที่ผู้ใช้ซึ่งถึงจะไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ก็ยังติดใจอย่างมาก แม้ว่าสนนราคาจะแพงลิ่วถึง 5,000 เหรียญสำหรับเตียงขนาด Queen size และ 6,000 เหรียญสำหรับเตียงขนาด King size พนักงานทั้ง 30 คนของบริษัทยังคงผลิตฟูกอย่างพิถีพิถัน แม้แต่การดัดลวด และเสริมสปริงเองที่โรงงานของบริษัท ซึ่งทำให้ฟูกของบริษัทนอนสบายและทนทานกว่าที่จะซื้อสำเร็จจากที่อื่นมาประกอบ ในจำนวนพนักงาน 30 คนของบริษัท มี 15 คนที่ทำงานมานานถึง 15 ปี โดยมี 2 คนที่ทำมา 20 ปี และ อีก 1 คนที่ทำมา 36 ปี โดย Robin McRoskey Azevedo ซึ่งเป็น CEO ของบริษัทมีศักดิ์เป็นหลานสาวของหนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Making of a McRoskey Mattress from McRoskey on Vimeo. Torch Technologies ที่ตั้ง: เมือง Huntsville รัฐ Alabama ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO: Bill Roark รายได้: 240 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 460 คน บริษัทส่วนใหญ่จะใช้ผู้บริหารระดับสูงแค่ไม่กี่คนในการจัดเตรียมข้อเสนอในการประมูลงานจากภาครัฐ แต่ที่ Torch Technologies ซึ่งให้บริการด้านวิศวกรรมอย่างเช่น การทำโมเดล และจำลองระบบยิงจรวดมิสไซล์ให้กับกองทัพบกสหรัฐฯ และพนักงานถือหุ้นของบริษัทเต็ม100% สนับสนุนให้พนักงานทุกคนเข้ามีส่วนร่วม โดยทีมงานที่จัดเตรียมข้อเสนออาจจะมีแค่หนึ่งคน ซึ่งใช้เวลาวันละสองสามชั่วโมงในช่วงเย็นหนึ่งสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นทีมงานที่มีจำนวนมากถึง 40-50 คน ซึ่งใช้เวลานอกเวลางานวันละหลายชั่วโมงในแต่ละวันนานถึงสองเดือน เพื่อจัดเตรียมข้อเสนอสำหรับสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 75,000 เหรียญ ถึง 100 ล้านเหรีญ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2002 แห่งนี้มียอดขายเติบโตถึงปีละ 35% Torch ได้ทำการตบแต่งอาคารเก่าที่ใกล้พังหลายอาคารใน Huntsville เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท Integrated Project Management ที่ตั้ง: เมือง Burr Ridge รัฐ Illinois ผู้ก่อตั้งและ CEO: C. Richard Panico รายได้: 29 ล้านเหรียญ จำนวนพนักงาน: 145 คน พ่อของ Rich Panico สอนเขาว่า “ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องทำให้อยู่ไปได้นานๆ” ดังนั้นก่อนที่เขาจะเริ่มก่อตั้งกิจการ Integrated Project Management ในปี 1988 เขาก็กำหนดแผนเอาไว้อย่างแน่วแน่แล้วว่ามันจะต้องอยู่ได้เป็น 100 ปี ด้วยมุมคิดนี้ พนักงานคนแรกของบริษัทที่เขาจ้างก็คือคนที่เขาคิดว่าจะมาทำหน้าที่แทนเขาได้ในกรณีที่เขาไม่สามารถดูแลกิจการต่อไปได้ไม่ว่าจากเหตุผลอะไรก็ตาม (เธอคนนี้ยังเป็นเบอร์สองของบริษัทอยู่ในปัจจุบัน) Panico กับทีมงานของเขาสร้างบริษัทที่เป็นเลิศจนสามารถกวาดรางวัลต่างๆ มาได้มากมายเสียจนไม่รู้จะเอาไปเก็บที่ไหน ซึ่งได้มาจากศาสตร์แห่งศิลปะของการรักษาวินัยในการบริหารจัดการ อย่างเช่นกระบวนการวางแผนงานประจำปีซึ่งกำหนดให้พนักงานประจำทั้ง 145 เข้ามาร่วม พร้อมกันนี้ ถือได้ว่า Panico เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจการให้คำปรึกษาทางธุรกิจให้ยกระดับเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ เพราะในช่วงที่เขาเข้าสู่ธุรกิจนี้ใหม่ๆ นั้น ธุรกิจนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
คลิ๊กอ่าน "25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 รูปแบบ E-Magaizne