AccuWeather บริษัทพยากรณ์อากาศกับศึกเหนือเมฆที่ต้องเผชิญ - Forbes Thailand

AccuWeather บริษัทพยากรณ์อากาศกับศึกเหนือเมฆที่ต้องเผชิญ

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Jan 2020 | 07:00 AM
READ 4681

วงการพยากรณ์อากาศเอกชนอยู่สบายกันมาหลายทศวรรษ โดยผู้ครองตลาดสหรัฐฯ คือ AccuWeather, The Weather Company (ก่อตั้งโดยสถานี The Weather Channel เมื่อปี 1982 และ IBM ซื้อกิจการไป 2.3 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2016)

Joel Myers ซีอีโอของ AccuWeather ผู้บริหารบริษัทพยากรณ์อากาศเอกชนเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งเขาก่อตั้งเมื่อปี 1962 ด้วยวัย วัย 79 ปี เขากำลังเผชิญกับมหาพายุกำลังตั้งเค้าขึ้น เพราะพลังประมวลผลที่ราคาถูกลงการประมวลผลบนคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากและเซนเซอร์ราคาถูกจำนวนมาก ช่วยเปิดทางให้สตาร์ทอัพกลุ่มใหม่ ที่ทะเยอทะยาน ซึ่งได้ระดมเงินไปแล้วรวมหลายร้อยล้านเหรียญจากนักลงทุนที่คิดว่าจะโค่นเจ้าเก่าในวงการได้ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ ข้อมูลอากาศนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด เช่น ใช้กับการแข่งรถ Nascar ซึ่งต้องหยุดแข่งเมื่อฝนตก ยิ่งลูกค้ากังวล ผลกระทบของข้อมูลก็ยิ่งมาก ในบรรดาสตาร์ทอัพด้านสภาพอากาศ มี 3 แห่งที่โดดเด่นด้วยเงินทุนที่ระดมมาได้ วิธีการรวบรวม ประเมิน และขายข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ และระดับความทะเยอทะยาน
Saildrone
บริษัทที่กล้ามากที่สุดน่าจะเป็น Saildrone ซึ่งก่อตั้งโดย Richard Jenkins วัย 42 ปีจากเมือง Alameda รัฐ California ในปี 2012 Jenkins เป็นวิศวกรเครื่องกลและนักแล่นเรือ เขาเริ่มก่อตั้ง Saildrone จากการเป็นโครงการวิจัยเพื่อผลิตเรือไร้คนขับยาว 23 ฟุตสูง 15 ฟุต โดยเรือแต่ละลำในกองเรือติดตั้งเซนเซอร์อุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ 20 ตัว เขาเล่าว่า ตอนแรกเขาคิดจะใช้เรือเก็บข้อมูลความเป็นกรด อุณหภูมิ และความเค็มของน้ำในมหาสมุทร “เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรกของเขาคือ หน่วยงานรัฐบาลอย่าง NOAA และ NASA เมื่อถึงปี 2017 Jenkins ตระหนักว่าเรือหุ่นยนต์ของ Saildrone ได้รวบรวมข้อมูลเฉพาะตัวที่จะช่วยให้พยากรณ์อากาศได้ดีขึ้นมากเพราะสภาพอากาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลางมหาสมุทรซึ่งมีสถานีที่ตรวจวัดได้อยู่ไม่กี่แห่ง และแม้จะมีเรือหุ่นยนต์เพียง 25 ลำ แต่เขากล่าวว่า Saildrone ก็ขายข้อมูลอากาศให้ทีมกีฬา บริษัทประกันและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้แล้ว นักลงทุนกว่าครึ่งโหล ซึ่งรวมถึงมูลนิธิที่ Eric Schmidt อดีตซีอีโอ ของ Google เป็นผู้บริหาร เข้ามาลงทุนกับ Saildrone แล้ว 90 ล้านเหรียญ โดย Pitchbook ประเมินมูลค่ากิจการไว้ที่ 260 ล้านเหรียญ ขณะนี้บริษัทมีพนักงาน 100 คนและกำลังเพิ่มขึ้น บริษัทเปิดตัวแอปฯ พยากรณ์อากาศฟรีเมื่อเดือนมกราคมและมีแผนจะคิดค่าใช้งานสำหรับเวอร์ชั่นพรีเมียมในเดือนมิถุนายน
Jupiter Intelligence
สตาร์ทอัพรายอื่นไม่ได้หยุดแค่การใช้ข้อมูลเพื่อพยากรณ์อากาศ Jupiter Intelligence บริษัทอายุ 2 ปีซึ่งมีฐานอยู่ในเมือง San Mateo รัฐ California และมีสำนักงานอยู่ ใน New York และเมือง Boulder รัฐ Colorado นำข้อมูลสภาพอากาศมาใช้ร่วมกับข้อมูลสิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่เพื่อ “การประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ" บริษัทนี้ขายบริการ 2 อย่างคือ การทำนายระยะสั้นตั้งแต่ 1 ชั่วโมงจนถึง 5 วัน และการคาดการณ์ระยะยาวที่มองอนาคต 50 ปี Jupiter หวังว่าเมืองใหญ่ที่ต้องวางแผนรับมือเฮอร์ริเคน น้ำท่วมและไฟป่าอย่าง Houston และ Los Angeles จะมาเป็นลูกค้าในที่สุด แต่สำหรับระยะสั้น กิจการที่เดือดร้อนจากสภาพอากาศรุนแรงดูจะขายง่ายกว่า เช่น บริษัทที่มีคลังสินค้าอยู่ในพื้นที่ต่ำต้องอยากรู้ว่า ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นบริษัทจะเสียพื้นที่ไปเท่าใด และความสูญเสียอาจเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะที่บริษัทที่รับทำประกันให้บริษัทเหล่านี้ก็ต้องอยากรู้ด้วย QBE บริษัทประกันใหญ่ของออสเตรเลียเป็นลูกค้าของ Jupiter เช่นเดียวกับ Nephila บริษัทร่วมลงทุนที่โฟกัสด้านการประกัน และลูกค้าทั้งสองรายก็ร่วมลงทุนกับ Jupiter ไปแล้ว 33 ล้านเหรียญ
ClimaCell
ผู้ท้าชิงที่เล็งเป้าหมายสูงมากอีกรายคือ ClimaCell ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยผู้ร่วมก่อตั้งคือ Shimon Elkabetz วัย 32 ปี อดีตนักบินกองทัพอากาศอิสราเอลผู้นี้ก่อตั้งกิจการระหว่างเรียน M.B.A. อยู่ที่ Harvard สมัยที่เขาอยู่กับกองทัพ เขาเคยเกือบควบคุมเครื่องบินไม่ได้ เนื่องจากพยากรณ์อากาศไม่เตือนว่า เขากำลังพุ่งเข้าใส่กำแพงเมฆหนา ในตอนนั้นเขาคิดว่า “ต้องมีใครคิดเครื่องมือใหม่แล้วล่ะ” บริษัทนี้ระดมเงินลงทุนได้ 77 ล้านเหรียญ และรายงานมูลค่ากิจการอยู่ที่ 217 ล้านเหรียญ ในปีที่แล้ว Elkabetz เปิดสำนักงานในเมือง Tel Aviv และเมือง Boulder รัฐ Colorado เพื่อเสริมกำลังให้สำนักงานใหญ่ที่เมือง Boston โดยเล็งลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรมซึ่งใช้บริการของ AccuWeather อยู่ “เราจะต้องใหญ่กว่า AccuWeather” เขากล่าว “เราอยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีสภาพอากาศรายใหญ่ที่สุดของโลก” ส่วน AccuWeather ถูกวิจารณ์หนักขึ้นตั้งแต่ Trump เสนอให้ Barry Myers ไปคุมงานที่ NOAA โดยสื่อรายงานกันอย่างแพร่หลายถึงข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทพยายามผลักดันให้รัฐบาลเลิกแจกข้อมูลพยากรณ์อากาศฟรีมาหลายปีแล้ว แต่แม้จะมีการรายงานข่าวเรื่องนี้กันมาก Joel Myers ก็ปฏิเสธอย่างหัวเสีย “เหลวไหลสิ้นดี” เขาโกรธ “ไม่มีใครพยายามลดบทบาทของกรมอุตุฯ” AccuWeather จะเป็นอย่างไรในปี 2039 เมื่อ Joel อายุ 99 ปีคงไม่มีใครเดาได้ บริษัทแห่งนี้ไม่ยอมพูดให้ชัดเจนเรื่องแผนการสืบทอดตำแหน่ง และลูกๆ ทั้ง 7 คนของ Joel ก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนกับการบริหารกิจการทั่วไป แต่ตระกูล Myers ยังมั่นใจกับอนาคตอย่างน่าประหลาด
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine