6 ผู้ประกอบการจากทำเนียบบริษัท ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ แห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2018 - Forbes Thailand

6 ผู้ประกอบการจากทำเนียบบริษัท ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ แห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2018

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Aug 2018 | 11:26 AM
READ 11319

การเติบโตเป็นสิ่งดี แต่ไม่จำเป็นถ้าต้องลงทุนลงแรงมากมาย ทำเนียบรายชื่อบริษัทขนาดเล็กที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาประจำปีนี้ตอกย้ำสิ่งที่เราเรียกว่า 'จิ๋วแต่แจ๋ว'

บริษัทเหล่านี้แสวงหาอิทธิพลอันยิ่งใหญ่มากกว่าอาณาจักรอันมโหฬาร เราเลือกบริษัท 25 แห่งที่มีโมเดลธุรกิจที่ดี งบการเงินที่แข็งแกร่ง และผลกำไรที่ต่อเนื่อง ทั้งหมดเป็นบริษัทที่มีเอกชนเป็นเจ้าของและมีผู้ถือหุ้นจำนวนไม่มาก บริษัทเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านไอศกรีมที่สนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะในการบริหารธุรกิจ หรือบริษัทกฎหมายที่จ่ายเงินเดือนทนายความจบใหม่ราวกับเป็นหุ้นส่วน โดยเราขอนำเสนอ 6 บริษัทจิ๋วแต่แจ๋วจากทั้งหมด 25 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกในปี 2018 อ่านเรื่องทั้งหมดได้ที่ forbes.com/feature/small-giants D’Artagnan Foods Union, New Jersey ผู้ก่อตั้ง: Ariane Daguin (CEO ), George Faison รายได้ปี 2017: 121 ล้านเหรียญ พนักงาน: 280 คน ในปี 1985 Ariane Daguin ตัดสินใจเปิด D’Artagnan Foods บริษัทผลิตอาหารที่ปราศจากสารปฏิชีวนะ (Antibiotic-free) ส่งตรงจากฟาร์มถึงผู้บริโภคแห่งแรกในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ แต่สิ่งที่ทำให้เธอก้าวเข้าสู่วงการไม่ใช่เหตุผลด้านธุรกิจ หากแต่เป็นสิ่งที่เธอเรียนรู้จากธุรกิจใน Gascony ประเทศฝรั่งเศส  “ฉันเติบโตมากับร้านอาหารของพ่อ” เธอกล่าว “ฉันกินอาหารแบบนั้น”  Daguin ก่อตั้งธุรกิจจัดส่งอาหารให้กับภัตตาคารหรูใน New York โดยเริ่มต้นจากรถบรรทุก 1 คันกับพนักงาน 2 คน ทุกวันนี้เธอส่งอาหารให้กับร้านอาหารและร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ทั้งยังให้คำแนะนำกับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ที่ส่งเสริมการให้คำติชมผลิตภัณฑ์  เธอทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยและได้มีส่วนช่วยส่งเสริมไก่พันธุ์พื้นบ้านกินผักให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งพันธุ์แกะที่เลี้ยงในฟาร์มซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าผาริมทะเล ทำให้เนื้อแกะมีรสเค็มตามธรรมชาติจากการได้สัมผัสลมทะเลอยู่เสมอ  บริษัทของเธอทำกำไรต่อเนื่องตลอด 33 ปีที่ผ่านมา แม้จะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่ชั่วโมงละ 15 เหรียญ รวมทั้งมีการใช้นโยบายแบ่งปันผลกำไรกับพนักงาน Vanderbloemen Search Group Houston, Texas ผู้ก่อตั้ง: William Vanderbloemen (CEO ) รายได้ปี 2017: 5.8 ล้านเหรียญ พนักงาน: 40 คน เคยได้ยินคาถาที่ว่า “ใครๆ ก็ต้องขายอะไรสักอย่าง” ไหม ที่ Vanderbloemen Search ใครๆ ก็เขียนบล็อก ทำไมน่ะหรือ เพราะ William Vanderbloemen ในฐานะอดีตบาทหลวงที่หันมาเอาดีทางธุรกิจจัดหางานสำหรับโบสถ์ รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้องค์กรทางศาสนามาเป็นลูกค้าถ้าเขายังจ้างพนักงานจากองค์กรเหล่านั้นไปในคราวเดียวกัน  ทางออกของเรื่องนี้คือกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดการจ้างงานแบบที่เรียกว่า Blind Hiring (การคัดเลือกผู้สมัครโดยไม่พิจารณาประวัติการทำงาน แต่ดูจากความสามารถเป็นหลัก) และเพื่อดึงดูดทั้งผู้สมัครงานและลูกค้า  แล้วพนักงานของเขาเขียนบล็อกเกี่ยวกับอะไร พวกเขาเขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่อาจเป็นประโยชน์กับพนักงานโบสถ์ บริษัททำกำไรทุกปีตั้งแต่ก่อตั้งและไม่เคยเป็นหนี้ Marlin Steel Baltimore, Maryland ผู้ก่อตั้ง: Jack Maurer รายได้ปี 2017: 5 ล้านเหรียญ พนักงาน: 32 คน ไม่นานหลังจาก Drew Greenblatt เข้าซื้อกิจการ Marlin Steel ผู้ผลิตตะกร้าโลหะใส่เบเกิล ในปี 1998 ได้เกิดความผิดพลาด 2 ประการ ประการแรกคืออาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำสูตร Dr. Atkins ได้รับความนิยม ทำให้คนลดการกินขนมปังลง และเชนร้านขายเบเกิลสั่งตะกร้าน้อยลง ประการที่สองคือเมื่อผู้ผลิตจากจีนเริ่มขายตะกร้าในราคาถูกกว่าต้นทุนที่ Marlin จ่ายเป็นค่าวัตถุดิบด้วยซ้ำ  ดังนั้น Greenblatt จึงปรับรูปแบบบริษัทใหม่ทั้งหมด บริษัทได้รับคำสั่งซื้อที่ไม่ได้คาดหมายจากบริษัท Boeing ซึ่งต้องการตะกร้าลวดโลหะสำหรับล้างชิ้นส่วนที่มีความเที่ยงตรงสูง (precision parts) ในสายการประกอบ  Marlin จึงหันเหธุรกิจไปสู่การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบตามความต้องการแก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศยุทโธปกรณ์ เวชกรรม และยานยนต์ บริษัทลงทุนเพิ่มเติมในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และอุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และให้ทุนเต็มจำนวนแก่พนักงานที่ต้องการศึกษาต่อ บริษัทมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และร้อยละ 20 ของพนักงานจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล Comfort Research Grand Rapids, Michigan ผู้ก่อตั้ง: Chip George (Co-CEO ), Matt Jung (Co-CEO ) รายได้ปี 2017: 73 ล้านเหรียญ พนักงาน: 220 คน Comfort Research ผู้ผลิตเก้าอี้ Beanbag ก่อตั้งโดย Chip George (ในภาพ) และ Matt Jung ตอนที่ทั้งสองยังเป็นนักศึกษา คำขวัญของบริษัทคือ “ความสบายสำหรับทุกคน” ซึ่งไม่ใช่แค่กับเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ชายหาด แต่รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ Big Joe ทั้งทางอินเทอร์เน็ตและร้านค้าปลีกอย่าง Target, Costco และ Wayfair  บริษัททำกำไรใน 18 ปี จาก 21 ปีที่ก่อตั้งมา บริจาคกำไรร้อยละ 10 แก่องค์กรการกุศลในท้องถิ่น และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาในการหางานทำ รวมทั้งอดีตนักโทษ  บริษัทให้ความสำคัญกับค่านิยมหลักโดยมีการมอบรางวัลให้แก่พนักงานที่แสดงออกในค่านิยมต่างๆ อาทิ รางวัล FAB (Find A Better Way) มอบเงินรางวัลไตรมาสละ 2,500 เหรียญ และปีละ 10,000 เหรียญ แก่พนักงานที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยม และรางวัล DIRT (Do the Right Thing) ให้เงินรางวัล 1,500 เหรียญ แก่ผู้ที่พยายามทำทุกวิถีทางในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ Amy’s Ice Creams Austin, Texas ผู้ก่อตั้ง: Amy Simmons รายได้ปี 2017: 9 ล้านเหรียญ พนักงาน: 260 คน ธุรกิจประเภทที่ต้องพึ่งพาพนักงานในวัยเรียนมักเจอปัญหาเดียวกันคือพนักงานทำงานไม่นานก็ลาออก แต่ Amy’s Ice Creams มีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว นั่นคือ Amy’s ไม่เพียงฝึกสอนพนักงานให้ตักไอศกรีมแต่ยังสอนวิธีทำธุรกิจให้ด้วย  ที่ร้าน Amy’s พนักงานทุกคนได้รับการฝึกอบรมเรื่องการเป็นผู้นำและการจัดการกะทำงาน รวมทั้งมีการหมุนเวียนความรับผิดชอบในการดูแลกะ นอกจากนี้ บริษัทเปิดให้มีการเรียนการสอนในด้านการบริการลูกค้า ภาวะความเป็นผู้นำ และวิธีการบริหารงานแบบเปิดเผยและโปร่งใส (Open-book Management) ที่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “MBAmy”  หลายปีก่อนบริษัทยกเลิกขั้นตอนการสมัครงานแบบทางการและให้ผู้สมัครแสดงความคิดสร้างสรรค์บนถุงกระดาษสีขาวที่จัดให้ Amy Simmons กล่าวว่า “สิ่งที่เราได้พบคือคนที่ไม่ได้เจาะจงอยากทำงานที่นี่จะไม่เสียเวลามาสมัคร” บริษัททำกำไรต่อเนื่องมา 34 ปีติดต่อกัน ZULU Alpha Kilo Toronto, Ontario ผู้ก่อตั้ง: Zak Mroueh รายได้ปี 2017: 16.7 ล้านเหรียญ พนักงาน: 100 คน Zak Mroueh ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในบริษัทโฆษณาที่มั่นคงแห่งหนึ่งใน Toronto เพื่อเปิดกิจการของตัวเองและบริหารงานแบบที่ต้องการ ที่สำคัญที่สุดคือบริษัทของเขาไม่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการนำเสนอแผนงาน หรือกลยุทธ์ให้แก่ลูกค้าเพื่อโน้มใจโดยที่ลูกค้ายังไม่ได้ตกลงให้ทำงาน  Zulu ยืนกรานให้ลูกค้าต้องชำระเงินเมื่อมีการทำงานให้ แน่นอนว่าแนวทางนี้ชะลอการเติบโตของบริษัท รวมทั้งต้องเสียลูกค้าบางรายไป แต่สามารถสร้างผลกำไรต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถรักษาลูกค้าอย่าง Harley-Davidson, Bell Canada, Tim Hortons และ Uber  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "25 บริษัทจิ๋วแต่แจ๋วประจำทำเนียบ FORBES" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine