ไม่ใช่แค่น้ำมันธรรมดา ยุคพลังงานสะอาดของ ExxonMobil - Forbes Thailand

ไม่ใช่แค่น้ำมันธรรมดา ยุคพลังงานสะอาดของ ExxonMobil

FORBES THAILAND / ADMIN
21 May 2018 | 02:02 PM
READ 11171

ในการสัมภาษณ์พิเศษ ซีอีโอ ExxonMobil คนใหม่ได้นำเสนอแผนรับมือกับโลกที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในรูปแบบที่ไม่ทำร้ายโลก

Darren Woods เดินสาวเท้ามาตามทางเดินยาวปูด้วยเสื่อน้ำมันของศูนย์วิจัย ExxonMobil ใน Clinton รัฐ New Jersey วิศวกรไฟฟ้าร่างสูงวัย 53 ปี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอ Exxon ในเดือนมกราคมปี 2017 ไม่รู้สึกอึดอัดใจในการทำงานที่ศูนย์รวมบุคคลอัจฉริยะแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่อย่างปลอดภัยบนพื้นที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติเนื้อที่ 750 เอเคอร์ มีรั้วรอบขอบชิด พนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีอาวุธครบมือ และสแกนเนอร์รังสีเอกซ์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายของ Exxon ได้ใช้งบประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีในความพยายามตอบโจทย์ที่ท้าทายที่สุดข้อหนึ่งในยุคสมัยของเรา ซึ่งก็คือ เราจะลดการปล่อยของเสียให้น้อยลงในขณะที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของโลกใบนี้ได้อย่างไร  Woods ตกลงที่จะให้สัมภาษณ์พิเศษกับ FORBES ที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงานของฝ่ายบริหารของ Exxon ใน God Pod นอกรัฐ Texas ไปหลายพันไมล์ ประเด็นก็คือเพื่อเน้นย้ำว่าตัวเขาเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการทำลายสภาพอากาศของโลกเราเป็นอย่างดี  ภายในศูนย์วิจัย ExxonMobil ใน Clinton รัฐ New Jersey (Photo Credit: ExxonMobil) “เราเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข” Woods กล่าว “เรามีความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว และเราก็มีความเชื่อมั่นมากอีกด้วย” แต่จริงๆ แล้ว เขาหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ท้ายที่สุดแล้ว Exxon ไม่ได้กำลังจะยุติการขุดเจาะน้ำมันใต้พื้นผิวโลกอย่างที่นักต่อต้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนต้องการ ความจริงแล้วภายในปี 2025 Exxon วางแผนจะเพิ่มการผลิตน้ำมันอีกมากกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวันในสหรัฐฯ และต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 200,000 บาร์เรลต่อวันจากแหล่งผลิตขนาดใหญ่แหล่งใหม่นอกชายฝั่ง Guyana  นักคาดการณ์แนวโน้มสำคัญของ Exxon ประมาณการว่าน้ำมันทุกหยดจะเป็นที่ต้องการเนื่องจากพลเมืองชนชั้นกลางทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าตัว และมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2040  “การไปเยือนสถานที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาพลังงานขาดแคลนนั้นทำให้คุณมีแรงกระตุ้น” Woods กล่าว“คุณไม่สามารถเดินหนีไปเฉยๆ และพูดว่า ‘ช่างพวกเขาเถอะ’ ได้” “เราไม่ได้ใช้การนำเสนอข้อมูลด้วย PowerPoint เพื่อเอาตัวรอดจากปัญหานี้ แต่เรากำลังหาทางออกด้วยวิทยาศาสตร์ต่างหาก” Vijay Swarup หัวหน้าห้องปฏิบัติการของ Exxon กล่าว อย่างไรก็ดี Exxon ยังจับตาดูพายุใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นจากแรงกดดันจากผู้มีอำนาจบังคับตามกฎหมาย สังคม และผู้ถือหุ้นที่ต้องการให้ Exxon ผลิตพลังงานสะอาดอย่างไม่วางตา  สิ่งที่เราต้องการก็คือนวัตกรรมที่เข้าเกณฑ์ 4 ข้อดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แก่การเป็นนวัตกรรมที่ “อยู่ในงบประมาณที่เราสามารถจ่ายได้ สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตได้ เชื่อถือได้ และมีความยั่งยืน” Vijay Swarup ผู้บริหาร Exxon ซึ่งดูแลศูนย์วิจัยใน New Jersey กล่าว นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่มูลค่า 2.6 แสนล้านเหรียญ (ยอดขายโดยประมาณในปี 2017)  ก่อนหน้านี้ Exxon มีอดีตซีอีโออย่าง Lee Raymond และ Rex Tillerson (ปัจจุบัน Tillerson ทำข้อตกลงยุติความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิงกับ Exxon และนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาล Donald Trump) ทั้งคู่ต่างมีนโยบายที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องพลังงานสะอาด “การรักษ์โลกจะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้าหากว่ามนุษยชาติต้องอยู่อย่างยากลำบาก” เป็นคำกล่าวของ Rex Tillerson อดีตซีอีโอ Exxon ที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้เข้าใจเรื่องพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง (Photo Credit: bitaf.org) ในขณะที่เมื่อมาถึงยุคของ Woods บริษัท Exxon มีการลงทุนเพิ่มเท่าตัวกับเทคโนโลยีสีเขียว Exxon ได้ให้สัญญาที่จะร่วมลงทุน 600 ล้านเหรียญกับ Craig Venter (ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ได้) และบริษัทของเขาอย่าง Synthetic Genomics  ความร่วมมือดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2009 และในที่สุดเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วพวกเขาได้เปิดเผยถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองผลิตน้ำมันจากสาหร่ายอย่างยั่งยืน สิ่งที่ Woods ซึ่งควบคุมดูแลแผนกการกลั่นและเคมีภัณฑ์ของ Exxon มานานหนึ่งทศวรรษต้องการจริงๆ คือโรงกลั่นน้ำมันจากสาหร่าย Franken ที่มีความสามารถในการผลิต 450,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็น “การอดทนรออย่างแน่วแน่”  การทดลองเพื่อผลิตน้ำมันจากสาหร่ายในการร่วมทุนระหว่าง Exxon กับบริษัท Synthetic Genomics (Photo Credit: gigaom.com) บริษัทน่าจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ในระยะเวลาอันสั้นกว่านั้น Exxon ได้ร่วมมือกับบริษัทจดทะเบียนอย่าง FuelCell Energy ในการปรับปรุงระบบการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอื่นๆ จากโรงไฟฟ้ามาผสมกับก๊าซมีเทน และส่งไปตามท่อผ่านเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งจะเกิดกระบวนการทางไฟฟ้าเคมี เปลี่ยนก๊าซดังกล่าวให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 90% ที่พร้อมจะได้รับการอัดและฉีดลึกลงไปใต้พื้นโลก  สิ่งที่เตะตา Exxon ก็คือระบบนี้ไม่ใช่กาฝากพลังงาน ซึ่งแตกต่างจากระบบดักจับคาร์บอนอื่นๆ เซลล์เชื้อเพลิงเป็นรูปทรงลูกบาศก์ขนาด 10x10 ฟุตเหมือนกับแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ มีการติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิง 2 ลูกที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งหนึ่งที่ดำเนินงานโดย Alabama Power โรงไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์แห่งนี้ต้องใช้เซลล์เชื้อเพลิงราว 175 ก้อนจึงจะสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (และมลพิษอื่นๆ) ได้เกือบทั้งหมด  และจะทำให้โรงไฟฟ้ามีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวเพิ่มขึ้นจาก 6 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 8 เซนต์ ซึ่งเกือบเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากสภาคองเกรสออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีคาร์บอน หรือถ้าหากบริษัทน้ำมันต้องการซื้อคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออัดฉีดลงในแหล่งน้ำมันเก่าเพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอีก โรงไฟฟ้าเซลส์เชื้อเพลิง (Photo Credit: FuelCell Energy/jwenergy.com) ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงใดก็ไม่พ้นที่จะโดนถากถาง เพราะ Exxon มีประวัติอันมัวหมองมาช้านาน ในปี 1978 James Black นักวิจัยด้านสภาพอากาศของ Exxon ได้จัดทำรายงานเรื่อง“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” เพื่อเตือนว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 2 องศา และให้ความเห็นว่าประชากรโลกมีเวลา 10 ปีเพื่อขบคิดวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว  แต่บริษัทก็ไม่ให้ความสนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมแต่กลับไปลงทุนในถ่านหินและยูเรเนียมแทน หลังจากนั้นก็มีเหตุการรั่วไหลของเรือบรรทุกน้ำมัน และการปล่อยของเสียปริมาณเกินกำหนดจากโรงกลั่นน้ำมันอีกด้วย ในที่สุด Eric Schneiderman อัยการสูงสุดของ New York ทำการสืบสวนสอบสวน ExxonMobil ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันหลอกลวงผู้ถือหุ้นโดยการปิดบังความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 2015  หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องจากผู้ถือหุ้น การประชุมประจำปีเมื่อปีที่แล้วเป็นเหมือนการเตือนสติ ข้อเรียกร้องจากผู้ถือหุ้นผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 62% การลงมติเรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยแผนการรับมือกับภาวะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและประเมิน “ความสามารถของทรัพย์สินของบริษัทในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ” ซึ่ง Woods เลือกที่จะไม่เพิกเฉยต่อมติที่ไม่มีผลผูกพันดังกล่าว เหตุการณ์เรือขนส่งน้ำมันของ Exxon รั่วไหลนอกชายฝั่งเมือง Valdez รัฐ Alaska เมื่อปี 1989 ยังติดอยู่ในใจผู้คนและส่งผลถึงปัจจุบัน เพราะน้ำมันที่รั่วไหลนับหลายพันแกลลอนได้สร้างมลพิษให้พื้นที่ดังกล่าวกินบริเวณ 1,300 ไมล์จากชายฝั่งโดยธรรมชาติที่เสียหายไปไม่อาจคืนกลับดังเดิมได้อีก (Photo Credit: Chris Wilkins/AFP) “Exxon เคยเพิกเฉยและหยิ่งยโส” Tim Smith กรรมการบริษัท Walden Asset Management ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นเตือน Exxon มานานเป็นสิบปีกล่าว “ท่าทีของคนที่ Exxon กำลังเปลี่ยนไป”  สิ่งที่สร้างความตระหนกครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปีที่แล้วก็คือการที่ Exxon แต่งตั้ง Susan Avery นักบรรยากาศวิทยาและอดีตผู้บริหารสูงสุดของสถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution เป็นคณะกรรมการบริษัท Woods ปฏิเสธว่าไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่เป็นแรงผลักดันให้เขาตื่นตัว Woods กล่าวว่า “ผมจะแยกการลงมติเรื่องสภาพอากาศออกไป พูดกันตามตรงเราเองก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับว่าจะมีมติดังกล่าวหรือไม่ เรามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวมานานหลายปีแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีข้อเสนอจากตัวแทนผู้ถือหุ้นเสียอีก”  อย่างไรก็ตาม Woods เองก็มีแนวคิดที่ชัดเจน “วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง” จะต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน  “ถ้าหากว่าสังคมต้องการแก้ไขปัญหานี้ คุณจะต้องกำหนดราคาคาร์บอนที่มีการสร้างขึ้น” Woods กล่าว“นี่คือสิ่งที่จะเป็นข้อบังคับต่อไป ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ และสังคมจะต้องยินยอมที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อเป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจ และทำให้การแก้ไขปัญหานี้ลุล่วงไปได้ จงระวังสิ่งที่คุณร้องขอ สิ่งนี้อาจลงเอยด้วยการเรียกว่าภาษี Exxon ในที่สุด”   เรื่อง: Christopher Helman เรียบเรียง: ริศา
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "ไม่ใช่น้ำมันธรรมดา" ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine