สุขภาพกับความร่ำรวยของเศรษฐีพันล้านแห่งวงการไบโอเทค Bob Duggan - Forbes Thailand

สุขภาพกับความร่ำรวยของเศรษฐีพันล้านแห่งวงการไบโอเทค Bob Duggan

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Mar 2021 | 08:25 AM
READ 3094

โลกนี้มียาปฏิชีวนะราคาถูกล้นเหลือ ถ้าอย่างนั้นทำไมเศรษฐีพันล้านแห่งวงการไบโอเทคอย่าง Bob Duggan จึงพยายามผลิตยาใหม่อีกตัว แล้วเขาจะทำเงินจากยานี้ได้อย่างไร

Bob Duggan น่าจะเลิกทำงานไปได้อย่างสบายๆ ตั้งแต่ปี 2015 หลังจากเขาขาย Pharmacyclics บริษัทไบโอเทคของเขาที่คิดค้นยาโรคมะเร็ง ซึ่งขายกิจการให้ AbbVie ตอนนั้นเขาอายุ 71 ปี และมีทรัพย์สินประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เขาน่าจะถอนตัวออกไปอยู่บ้านที่ Costa Rica ซึ่งมีภาพฝาผนังรูปลูกเสือจากัวร์ตาสีเขียว แล้วใช้ชีวิตบั้นปลายบนชายหาดโต้คลื่น และอ่านหนังสือเกี่ยวกับลัทธิ Scientology แต่ Duggan ซึ่งปัจจุบันอายุ 76 ปีกลับปฏิเสธความคิดเรื่องเกษียณอายุ “ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากใช้ความสามารถและศักยภาพของตัวเอง” เขากล่าว “อายุไม่เกี่ยวเลย” เมื่อเดือนเมษายน Duggan เข้าเป็นซีอีโอของ Summit Therapeutics โดยการซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด Nasdaq แห่งนี้มากกว่า 60% ด้วยเงินประมาณ 63 ล้านเหรียญ Summit ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2003 แต่ยังไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน กำลังพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่สำหรับโรคติดเชื้อที่พบได้ทั่วไปแต่ร้ายแรงถึงชีวิตคือ โรคจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridioides difficile (C. diff) ซึ่งแพร่กระจายไปกับเศษอุจจาระ และมักพบการติดเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา เชื้อ C. diff ทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งในรายที่อาการหนักอาจถึงขั้นอวัยวะล้มเหลวและเสีบชีวิต แต่ละปีจะมีชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 4 ล้านคนติดเชื้อ C. diff และมีผู้เสียชีวิต 13,000 คน การที่ Duggan พยายามสร้างความแตกต่างถือเป็นเรื่องน่ายกย่องแต่ก็เป็นเรื่องยากด้วย ไม่มีใครเถียงว่ายาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ก่อนจะมีการค้นพบยาเพนิซิลลินเมื่อปี 1928 โรคติดเชื้อเคยเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในอเมริกา และอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดคือ แค่ 58 ปี แต่ยาปฏิชีวนะเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง เมื่อมีวิธีการรักษาราคาถูกแพร่หลายสำหรับทุกโรคตั้งแต่วัณโรคจนถึงปอดบวม เด็กที่เกิดในเมือง Cleveland เมื่อวานนี้จึงน่าจะอยู่ได้จนถึงเกือบ 80 ปี แต่ทุกวันนี้ยาปฏิชีวนะมีปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันในตลาดมียาปฏิชีวนะมากมายหลากหลายอยู่แล้ว และเกือบทุกตัวก็เป็นยาทั่วไปที่ราคาไม่แพง ตัวอย่างเช่น Amoxicillin ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อปี 1973 และเป็นหนึ่งในยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งกันทั่วไปมากที่สุดในโลก ยานี้หลุดจากสิทธิบัตรมาหลายทศวรรษแล้ว ปัจจุบันราคาเม็ดละไม่ถึง 1 เหรียญ และมีประสิทธิผลดีมาก ดังนั้น เมื่อการพัฒนายาใหม่ 1 ตัวต้องใช้เงินประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญ จึงไม่ค่อยมีใครมุ่งมั่นจะทำยาปฏิชีวนะตัวใหม่กันแล้วเพราะหาทางเอาทุนคืนไม่ได้ง่ายๆ สิ่งที่ทำให้ลำบากขึ้นไปอีกคือ ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์อย่างการที่แบคทีเรียกลายพันธุ์และวิวัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่า แบคทีเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่งจะรอดมาได้และขยายพันธุ์ต่อไปและถ้าจะรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งดื้อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่ง แพทย์ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ ดังนั้นแม้จะมีการพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ขึ้นมาในที่สุด แต่ “หมอก็จะเก็บไว้ใช้กับเคสหนักมากๆ เพราะกลัวเชื้อจะดื้อยา” Samir Devani กล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Rx Securities วาณิชธนกิจในกรุง London ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ “ความหมายในเชิงพาณิชย์ของเรื่องนี้ก็คือ ยาปฏิชีวนะใหม่ๆ จะถูกเก็บใส่ตู้และไม่นำมาใช้” ผลลัพธ์คือ โดยทั่วไปแล้วการพัฒนายาปฏิชีวนะกลายเป็นเรื่องไม่คุ้มสำหรับบริษัทยาขนาดใหญ่ และบริษัทเล็กที่ยังพัฒนายาเหล่านี้อยู่ก็ต้องลำบาก บริษัทระดับเดียวกับ Summit 2 แห่งคือ Achaogen (ซึ่ง Duggan ถือหุ้น 15%) และ Melinta Therapeutics ยื่นล้มละลายไปแล้วในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มียาปฏิชีวนะตัวใหม่ได้รับอนุมัติแค่ 25 ตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่ก็มีส่วนประกอบอยู่ในยาปัจจุบัน แต่เรื่องพวกนี้ขวาง Duggan ไม่ได้ Scientologist ผู้มีศรัทธาแน่วแน่คนนี้มีประวัติการลงทุนในกิจการที่เป็นมวยรองจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ในระหว่างเรียนบริหารธุรกิจที่ UCLA “ผมเริ่มอาชีพนักลงทุนด้วยเงินประมาณ 5,000 เหรียญ” เขากล่าว “แล้วภายในปีครึ่งผมก็มีเงินครึ่งล้าน” หนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่เขาลงทุนด้วยคือ Sunset Designs ผู้ผลิตชุดปักผ้ายี่ห้อ Jiffy Stitchery ซึ่งขายกิจการให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ Reckitt Benckiser Group ของอังกฤษไป 15 ล้านเหรียญเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1980 ต่อมาเขาลงทุนทั้งในเครือร้านเบเกอรี่บริษัทอีเธอร์เน็ต และกิจการออกแบบอุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ แล้วในปี 2008 Duggan ก็เข้าเป็นซีอีโอของ Pharmacyclics ซึ่งเป็นบริษัทไบโอเทคที่ขายหุ้นมูลค่าต่ำ ในที่สุดเขาก็ทำเงินทะลุพันล้านได้ เมื่อยาตัวหนึ่งในกลุ่มสินค้าของ Pharmacyclics ชื่อ Imbruvica กลายเป็นยาสุดฮิตสำหรับรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวบีเซลล์ รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (CLL) ซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทที่พบมากที่สุดในผู้ใหญ่ จนส่งผลโดยตรงให้ AbbVie เข้ามาซื้อกิจการไปด้วยราคา 2.1 หมื่นล้านเหรียญ ชะตาของ Summit ก็เช่นเดียวกับ Pharmacyclics นั่นคือ ขึ้นอยู่กับยาตัวเดียวชื่อ ridinilazole ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่สำหรับรักษา C. diff ที่กำลังทดสอบแบบเทียบตัวต่อตัวกับยาทั่วไปที่ถือเป็นยามาตรฐานเหรียญทองอย่าง vancomycin จากการทดสอบทางคลินิกเฟส 2 เมื่อไม่นานนี้พบว่า ridinilazole ไม่เพียงแค่เหนือกว่า vancomycin ในด้านการรักษา C. diff แต่ยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาติดเชื้อซ้ำได้ด้วยถ้า Summit พิสูจน์ได้ว่า ridinilazole ไม่ใช่แค่ช่วยรักษาแต่ยังช่วยป้องกันโรคได้ดีกว่ายาตัวเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน โรงพยาบาลก็อาจขายยาตัวใหม่นี้ได้ในราคาพรีเมียม Alan Carr นักวิเคราะห์วงการไบโอเทคที่ Needham คิดว่า ถ้าจะมียาปฏิชีวนะตัวใหม่ตัวไหนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ก็น่าจะเป็น ridinilazole “ยานี้มีโอกาสทำตลาดสำหรับ C. diff ได้น่าสนใจพอควร” Carr กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า ราคายา ridinilazole น่าจะสูงขึ้นเพราะเป็นยาเม็ด ไม่ใช่ยาฉีด ซึ่งหมายความว่า แพทย์สามารถสั่งให้ผู้ป่วยนอกได้ด้วย แต่ “ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นยาพันล้าน มันคงขายได้หลายร้อยล้าน แต่ไม่น่าจะขายได้ถล่มทลาย” สำหรับ Duggan ทุกอย่างจบลงด้วยแนวคิดเรียบง่ายที่สุดว่า “ทำไมคุณจะทำเงินไม่ได้ ถ้าคุณขายสิ่งที่คนไข้ต้องใช้”     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine