สร้างมากับมือแต่กลายเป็นแค่ผู้ถือหุ้น - Forbes Thailand

สร้างมากับมือแต่กลายเป็นแค่ผู้ถือหุ้น

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Apr 2017 | 01:51 PM
READ 3009

มหาเศรษฐี Chip Wilson ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้ง Lululemon เท่านั้น เขายังเป็นนักวิจารณ์ขาใหญ่ที่ผู้บริหารคนอื่นๆ หาได้ใส่ใจความคิดเห็นของเขาไม่

คาเฟ่ร่มรื่นแห่งหนึ่งในย่านเก่าแก่ของ Vancouver Chip Wilson ผู้ก่อตั้ง Lululemon Athleticaกำลังทอดถอนใจกับชะตากรรมของบริษัทที่เขาเป็นผู้สร้าง “มันไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย” เขากล่าวพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ พลางฉีกครัวซองท์ตรงหน้า “นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิถีการแต่งกายของผู้คน คนชอบสับสนคำว่า “นวัตกรรม” กับการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งที่สองอย่างนี้แตกต่างกันสิ้นเชิง” Wilson กล่าวเสริม ในปี 2013 หลังจากราคาหุ้นของ Lululemon ดิ่งลงร้อยละ 30 พร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่นำความเสื่อมเสียมาให้บริษัทหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการเรียกคืนสินค้าจำนวนมากและการแสดงความเห็นต่อเรือนร่างของสตรีโดยขาดความเข้าใจ บริษัทตัดสินใจขับ Wilson ไปให้พ้นทาง Laurent Potdevin ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานบริษัท Toms Shoes เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารคนใหม่ในเวลาไม่นานเขาจัดการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารของ Lululemon ตลอดจนไลน์สินค้า และกลยุทธ์การขยายธุรกิจ ภายในสองปีเขาทำยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็น 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นหุ้นละ 55 เหรียญ จากที่ดิ่งต่ำสุดที่ 37 เหรียญ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2014 แต่กำไรกลับไม่ฟื้นตาม และราคาหุ้นก็ทำราคาต่างจากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 82 เหรียญ ในปี 2013 อย่างมาก ราคาหุ้นผันผวนตลอดฤดูใบไม้ร่วงและปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 25 ของมูลค่าเมื่อเดือนกันยายน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เติมเชื้อไฟให้กับผู้ก่อตั้งที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง เขาไม่อาจนิ่งดูดายในสิ่งที่เขาปั้นมากับมือ เขายังถือหุ้นมากพอที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคือร้อยละ 15
Laurent Potdevin
Wilson รักแบรนด์ของเขาอย่างหัวปักหัวป่ำ ตั้งแต่เขาก่อตั้ง Lululemon เมื่อปี 1998 Wilson ให้ความสำคัญกับการควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองเขาดูแลการผลิตผ้าที่ใช้ตัดเย็บชุดสำหรับเล่นโยคะทุกขั้นตอน เนื้อผ้าทอจากไลคราและไนลอนที่ให้ความยืดหยุ่นและนุ่มราวกับผ้าฝ้ายที่ทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียง ขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นประเภท Athleisure ซึ่งเป็นการผสมผสานชุดกีฬากับดีไซน์ที่ทันสมัยเริ่มเป็นที่จับตา Wilson ยืนกรานว่า Lululemon จะต้องบริหารร้านสาขาทุกแห่งเอง สิ่งนี้หมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมทุกอย่าง วิสัยทัศน์ของเขาหล่อหลอมวัฒนธรรมบริษัทซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎี EST เรื่อง “การพบตัวตน” ของ Werner Erhard และหลักการเรื่องวัตถุวิสัยของ Ayn Rand แต่ธรรมชาติของความเป็นจอมบงการไปไม่ได้กับการเติบโตของ Lululemon Wilson รามือจากหน้าที่ซีอีโอตั้งแต่ก่อนที่บริษัทจะเปิดให้จองหุ้น IPO แต่ก็มีเรื่องไม่ลงรอยกับผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากเขาคนหนึ่งในเรื่องที่หยุมหยิมอย่างถุงใส่สินค้า เมื่อ Potdevin ในวัย 46 ปี มารับตำแหน่งแทน เขากล่าวว่าเขาได้พบกับ “ความยุ่งเหยิงในตัวผลิตภัณฑ์ ความยุ่งเหยิงในตัวผู้ก่อตั้ง” คณะกรรมการบริษัทช่วยให้ Potdevin หายใจหายคอได้คล่องขึ้นด้วยการหาทางลดบทบาทของ Wilson บอร์ดกล่อมให้เขาขายหุ้นที่ถืออยู่ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล และตกลงจะไม่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทในทางเสื่อมเสียเป็นเวลาสองปี ตลอดจนลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ ในที่สุด Wilson หันไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเสื้อผ้าคู่แข่ง Kit and Ace ซึ่งภรรยาและลูกชายของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง Potdevin นั้นเมื่อมารับตำแหน่งก็ได้เสาะหาขุนพลใหม่มาร่วมทีม “ผมต้องสร้างทีมบริหารใหม่ที่มีศักยภาพพอจะพาบริษัทก้าวไปข้างหน้า” เขาเผย ทีมงานสำคัญคนหนึ่งของเขาได้แก่ Stuart Haseldenซึ่งมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) Haselden เพื่อกำหนดตารางงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่โรงงานอย่างเคร่งครัด Haselden และผู้บริหารระดับสูงอีกสี่คนต่างก็เข้ามาทำงานกับ Lululemon ในยุคที่ Wilson พ้นจากบริษัทไปแล้ว Potdevin ได้สร้างกลุ่มที่ภักดีกับบริษัทอย่างถวายหัว พวกเขาแทบไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้ก่อตั้ง  ในขณะที่โครงสร้างบริษัทในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่เหมือนกันเพียงสิ่งเดียวคือวัฒนธรรมของการมีทัศนคติคับแคบ Gina Warren หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์คนใหม่ อดีตผู้บริหาร Nike ผู้ที่ชอบพูดจาแบบพึมพำอยู่ในคอ มักกล่าวถึงพนักงานด้วยคำว่า “หมู่พนักงาน” (collective) โครงสร้างบริษัทที่ขอให้บรรดาผู้จัดการเชื่อมั่นในความสามารถของพนักงานใต้บังคับบัญชาที่จะประสบความสำเร็จในบริษัทที่มีโครงสร้างค่อนข้างแบนราบ “โครงสร้างแบบนี้ทำให้เกิดความชัดเจนและทำให้พนักงานมีส่วนร่วม” Duke Stump หัวเรือฝ่ายการตลาดคนใหม่กล่าว
Stuart Haselden, Gina Warren, Duke Stump กลุ่มผู้บริหารใหม่ในยุค Laurent Potdevin
แล้วมันก็ทำงานได้ดี นักวิเคราะห์คาดว่า Lululemon จะทำรายได้ถึง 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 หนึ่งในความสำเร็จของ Potdevin คือเสื้อผ้าบุรุษ ซึ่งเป็นสินค้าที่ Wilson พยายามหลบเลี่ยงมากที่สุดตลอดมา โดย Wilson สร้าง Lululemon ให้เป็นแบรนด์สำหรับสตรี และตอนนี้ ข้อตกลงไม่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทในทางเสื่อมเสียหมดอายุแล้ว Wilson ในวัย 61 ปี จึงออกมาแสดงความเห็นต่างๆ นานาอีกครั้ง ในขณะที่ Wall Street ดูจะไม่ใส่ใจเท่าไหร่ “เรากำลังเริ่มเห็นผลของการบริหารงานที่มั่นคงและเราจะได้เห็นว่าบริษัทนี้มีศักยภาพแค่ไหนเมื่อมีความมั่นคง” McClintock นักวิเคราะห์จาก Barclays ให้ความเห็น สิ่งที่ดูเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ Wilson คือเขาต้องใช้เงินซื้อสิ่งที่เขาใช้หากินและนั่นก็คือซื้อหุ้น Lululemon คืน เขาต้องร่วมหุ้นกับบริษัทจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคลหรือนักลงทุนอื่นๆ สมบัติมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขายังไม่พอจะยึดเอา Lululemon ที่มีมูลค่าตลาด 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คืนมา แต่นั่นก็ไม่ใช่แผนที่เขาอยากทำ เขาอาจจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการสร้าง Lululemon สไตล์ของเขาเองที่ Kit and Ace ซึ่งมียอดขายราว 70 ล้านเหรียญสิ่งที่เขาเลือกทำและดูจะพอใจที่จะทำคือแค่บ่น เมื่อสองสามเดือนก่อน Wilson ซื้อป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ป้ายรถประจำทางหน้าสำนักงานใหญ่ของ Lululemon ใน Vancouver เพื่อเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บ ElevateLululemon.com Wilson เล่าถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการบริหารงานบริษัท “แนวการทำงานของผมคือผมคุยกับบริษัทเพราะซีอีโอที่บริษัทมีอยู่ตอนนี้รวมถึงวิธีการดำเนินงานไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวเป็นแรงผลัก” Wilson กล่าว ดูไปแล้วการเปิดบริษัทใหม่ในอุตสาหกรรมที่อายุยังน้อยต่างจากการบริหารบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมที่อยู่ยงมานานแล้วมาก เจ้าของธุรกิจบางรายเข้าใจความจริงข้อนี้ แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ นี่เองทำให้ Wilson ต้องเผชิญกับสิ่งที่ตามหลอกหลอนฝันร้ายของคนเป็นพ่อแม่อยู่เสมอ นั่นคือการถูกลูกตัวเองปฏิเสธ “Chip เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะฉะนั้นเขาย่อมมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น” Potdevin กล่าวพลางยักไหล่ “มันไม่ทำให้เราไขว้เขว เพราะนั่นเป็นแค่เสียงนกเสียงกา”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "สร้างมากับมือแต่กลายเป็นแค่ผู้ถือหุ้น" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560