สตาร์ทอัพบำบัดออทิสติกในสหรัฐฯ ยกเลิกบริการฉับพลันพร้อมเลิกจ้างพนักงาน - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพบำบัดออทิสติกในสหรัฐฯ ยกเลิกบริการฉับพลันพร้อมเลิกจ้างพนักงาน

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Aug 2022 | 05:38 PM
READ 2067

Elemy สตาร์ทอัพบำบัดโรคออทิสติก ที่ถือหุ้นโดย SoftBank ทำการปลดพนักงานลูกจ้างและยกเลิกนัดการรักษาทั้งหมดอย่างกะทันหันในสาขาที่ Illinois และ Georgia หลังทยอยลดการให้บริการในรัฐอื่นๆ เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ

Lisa Rudisel มีลูกชายวัย 7 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสติกและดาวน์ซินโดรม  ทุกๆ สุดสัปดาห์ลูกชายของเธอจะต้องพบกับนักบำบัดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การกินข้าว หรือ การใช้ห้องน้ำ ลูกของ Rudisel ไม่สามารถสื่อสารเองได้และต้องใช้แท็บเลตเป็นเครื่องมือช่วย เธอกล่าวว่าการบำบัดรักษาอาการออทิสติกที่จัดขึ้นโดย Elemy สำคัญกับลูกชายเธออย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการ ดิสรัปฯ ที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19

หลังจากได้ให้บริการมาในระยะเวลาหนึ่งปี บริษัทได้ยุติการรักษาแบบตัวต่อตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า Rudisel ให้สัมภาษณ์กับทาง Forbes เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ว่าเธอได้รับอีเมลยกเลิกนัดจากบริษัทเพียง 15 นาทีก่อนเวลาบำบัดของลูกชายเธอจะเริ่มขึ้น ทาง Elemy ได้แถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรให้การระงับบริการรักษาแบบตัวต่อตัวของคนไข้ในรัฐ Illinois มีผลโดยทั่วกัน โดยอ้างถึง “สภาวะของตลาด” อันเป็นเหตุจำเป็นให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการรักษาไปยังพื้นที่อื่น การเลิกจ้างล่าสุดส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในหลายแผนก รวมถึงนักบำบัดและนักวิเคราะห์พฤติกรรมที่ทำงานโดยตรงกับเด็กๆ ด้วย Rudisel กล่าวว่า หลังจากที่ได้เห็นพัฒนาการของลูกชาย การยกเลิกการรักษาทำให้เธอและลูกไม่สามารถตั้งรับได้ทัน ทางด้านอดีตพนักงานของ Elemy กล่าวในสัมภาษณ์กับ Forbes ว่า ในวันเดียวกันที่มีการยกเลิกนัดรักษา พวกเขาถูกเลิกจ้างผ่านการประชุมทางวิดีโอสั้นๆ และบัญชีงานของพวกเขาได้ถูกปิดการใช้งานทันทีหลังจากนั้น ทาง Elemy ปฏิเสธการตอบคำถามเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างในเดือนนี้และรอบก่อนหน้าในเดือนมีนาคม ฝ่ายบริหารของบริษัทกล่าวว่ากำลังปรับโครงสร้าง โดยมุ่งเน้นการรักษาไปที่ 3 รัฐหลัก ได้แก่ Florida, Texas และ California  แผนการรักษาที่จัดทำโดย Elemy แบ่งออกเป็นการรักษาแบบตัวต่อตัวควบคู่กับแบบทางไกลที่เรียกว่า “การวิเคราะห์พฤติกรรมประยุกต์สำหรับผู้ป่วยออทิสติก” โดยจะมีนักวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการเป็นผู้วางแผนการดูแล และมีนักบำบัดพฤติกรรมซึ่งจะเดินทางไปทำงานที่บ้านของเด็กด้วยตนเองเพื่อนำแผนการรักษาดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้รับการรับรองจาก the Behavioral Health Center of Excellence สถาบันรับรองนานาชาติที่วางมาตรฐานสำหรับองค์กรที่ให้บริการด้าน Applied Behavior Analysis กรณีลูกชายของ Rudisel นักบำบัดจะทำการตรวจเยี่ยมที่บ้านทุกวัน โดยมีนักวิเคราะห์เฝ้าสังเกตการณ์ผ่านทางวิดีโอคอล เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและเสนอแนวทางการรักษาต่างๆ เพิ่มเติม การบำบัดรักษาซึ่งอยู่ในแผนประกันสุขภาพของครอบครัว Rudisel อาศัยการทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ ตัวอย่างของวิธีการรักษา ได้แก่ ระบบ "โทเค็น" ที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่ลูกชายของเธอไม่สามารถกินอาหารใหม่ๆ ดังนั้น หากลูกชายของเธอยอมกินอาหารหนึ่งคำ เขาจะได้รับโทเค็นเป็นรางวัลตอบแทน อาทิ โทเค็นที่ใช้แลกกับการได้เล่นไอแพด Rudisel กล่าวว่าเธอสามารถรับรู้ได้ถึงพัฒนาการในตัวลูกชายและสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างเขากับนักบำบัด หลังจากได้ใช้เวลารักษาด้วยกันมาเป็นเวลา 1 ปี

ข้อบังคับทางจริยธรรมของบริษัทในการส่งต่อการรักษา ?

ในอีเมลฉบับแรก บริษัทให้คำมั่นว่าข้อเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะดำเนินไปอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” และจะมีการรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการในท้องที่รายอื่นๆพร้อมส่งสำเนารายงานการส่งตัวคนไข้ ขณะที่อีเมลล่าสุดแจ้งว่าครอบครัวยังสามารถเข้ารับคำปรึกษาทางไกลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนถึงสิ้นปีหรือเมื่อครอบครัวพบผู้ให้บริการรายใหม่แล้ว อีกทั้งยังระบุเพิ่มอีกด้วยว่า “ทีมสนับสนุนครอบครัวแบบทางไกล” จะให้ความช่วยเหลือในการค้นหาและติดต่อผู้ให้บริการรายใหม่ อย่างไรก็ตาม Rudeisel กล่าวว่า การรักษาทางไกลจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าการรักษาตัวต่อตัวที่บ้าน หากอิงจากหลักจรรยาบรรณที่กำหนดโดย Behavior Analyst Certification Board องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งทำหน้าที่รับรองนักบำบัดและนักวิเคราะห์พฤติกรรม จะเห็นได้ว่าไม่มีการระบุจำนวนวันหรือสัปดาห์สำหรับการส่งตัวไว้อย่างชัดเจน โดยองค์กรเพียงแต่กำหนดให้มี “ความพยายามเหมาะสมในการจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ” รวมถึง แผนการส่งต่อการรักษาเป็นลายลักษณ์อักษร, ไทม์ไลน์เวลาสำหรับครอบครัวคนไข้, ขั้นตอนแนะแนวทางเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเข้ารับรักษา ตลอดจน การให้ความร่วมมือกับผู้ให้การรักษารายใหม่ ทาง Henry Roane ผู้นำทีมคลินิกและผู้เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของ Elemy ได้ขยายความกับ Forbes ในสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า แผนดังกล่าวไม่ใช่โรดแมปที่ระบุขั้นตอนชัดเจน แต่เป็นเพียงองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นแนวทางได้ Roane ยังกล่าวต่อว่า จำนวนวันที่ต้องใช้นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะของเด็กแต่ละคน โดยสำทับว่า “การให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง” ที่บริษัทจัดทำให้แบบทางไกลนั้นไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของหลักจรรยาบรรณ พนักงานของ Elemy ทั้ง 4 คน กล่าวว่า แม้จะไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่หลักปฏิบัติกำหนดเวลารับช่วงต่ออยู่ที่ 30 วัน หลักการนี้ได้รับความเห็นพ้องโดย Jon Bailey ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครสายด่วน Applied Behavior Analysis Ethics Hotline และศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาที่ Florida State University “ในกรณีที่ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตามข้อบังคับทางจริยธรรมในการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของคนไข้ เป็นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันบอกกล่าว” Bailey กล่าว เขาให้ความเห็นว่าการให้คำปรึกษาแบบทางไกลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการส่งต่อการรักษา และสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเด็กคือการสูญเสียความสัมพันธ์ส่วนตัวกับทีมผู้ดูแล “เด็กจะมีความผูกพันกับนักบำบัดเหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้น การแสดงความเสียใจ การปลอบโยน และคำขอโทษจึงสำคัญ ผมเลยไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้จะสามารถทำได้ผ่านโปรแกรม Zoom ได้" เขากล่าว ทางประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร Amanda Taggart กล่าวว่า บริษัทได้พบ “ผู้ให้บริการในท้องถิ่นจำนวน 82 จุด” ที่จะช่วยรับช่วงต่อเคสของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการให้บริการ อย่างไรก็ตาม Rudisel กล่าวว่าทาง Elemy ไม่ได้แจ้งให้เธอทราบถึงผู้ให้บริการดังกล่าว และจากการค้นข้อมูลด้วยตัวเอง เธอพบว่าต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 เดือนในการหาทีมผู้รักษาใหม่ที่จะสามารถให้บริการในละแวกที่เธออาศัยอยู่ได้

ซีอีโอที่มีภาวะโรงสมาธิสั้นขั้นรุนแรงในวัยเด็กตัดสินใจก่อตั้งบริษัทเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ Yury Yakubchyk ได้ก่อตั้งบริษัทโทรศัพท์เติมเงิน Wing Wireless และโรงแรมบูติกชื่อว่า Life House Hotels ซึ่งทำให้ตัวเขาติดอันดับในรายชื่อของ Forbes 30 Under 30 Consumer Tech กระทั่งปี 2019 ที่เขาได้ก่อตั้ง Elemy (หรือชื่อเดิม Sprout Therapy) ร่วมกับ Michael Ragheb จากการประเมินครั้งล่าสุด บริษัทมีมูลค่ากิจการอยู่ที่จำนวน 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
Yary Yakubchyk
Yury Yakubchyk ปี 2019
นับแต่มีการระดมทุน บริษัทสตาร์ทอัพได้รับเงินเป็นจำนวนถึง 270 ล้านเหรียญจากบริษัทใหญ่ต่างๆ เช่น Premji Invest บริษัทร่วมลงทุนของ Azim Premji มหาเศรษฐีชาวอินเดีย, Founders Fund, Table Management ของมหาเศรษฐี Bill Ackman, Metrodora Ventures บริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งโดย Chelsea Clinton ฯลฯ ประสบการณ์ตรงในวัยเด็กของ Yakubchyk  บวกกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เป็นเหตุให้บรรดานักลงทุนตัดสินใจเข้าร่วมกับบริษัทของเขา หลังจากที่ Elemy ได้รับเงินทุนจำนวนมหาศาล ในตอนต้น บริษัทวางแผนขยายกิจการให้เติบโตระดับประเทศ โดยบริษัทได้ประกาศในประชาสัมพันธ์ข่าวว่า “ได้ทำการดูแลและเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กใน 14 รัฐแล้ว” ซึ่งกลุ่มตลาดอื่นๆ ที่ระบุตามข้อมูลในหน้าเว็บหลักนั้น มีตั้งแต่รัฐ  Colorado, Indiana, Massachusetts, Missouri, New Jersey, Ohio, Pennsylvania จนถึง Washington อย่างไรก็ตาม สัญญาณแรกของขีดจำกัดในแผนกลยุทธ์ที่บริษัทได้วางไว้เริ่มปรากฏตัวขึ้น 6 เดือนให้หลัง จากคำบอกเล่าของอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันจำนวน 4 คน ในเดือนมีนาคม บริษัททำการเลิกจ้างพนักงานฝ่าย operation ที่ทำหน้าที่เสมือนด่านแรกในการติดต่อกับครอบครัว เพื่อช่วยกรอกแบบฟอร์มและสำรวจประวัติประกันภัย อีกทั้ง บริษัทยังปฏิเสธการรับผู้ป่วยใหม่ในบางพื้นที่และตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นให้บริการรักษาภายในแค่ 5 รัฐ อันได้แก่ Georgia, Illinois, California, Florida และ Texas  อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีประวัติเดิมในพื้นที่นอกเหนือจากรัฐดังกล่าวยังสามารถรับบริการต่อไปได้ แม้ว่าบริษัทจะเลิกทำการประชาสัมพันธ์แล้วก็ตาม “ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเริ่มประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจโลก” Yakubchyk เขียนข้อความถึงพนักงานที่เหลือผ่านแอปพลิเคชันสื่อสาร Slack “ในขณะที่เราไม่สามารถทำอะไรได้มากกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น สงครามที่น่าสลดใจในยุโรป บรรยากาศการลงทุนที่ซบเซามาก หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน เราสามารถลงมือทำให้กับธุรกิจของเราในวันนี้เข้มแข็ง เพื่อขยายการช่วยเหลือของเราให้มากขึ้นในวันข้างหน้า” Yakubchyk กล่าวเพิ่มในอีเมลของบริษัทว่า มี 87 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการให้บริการดังกล่าว นับเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10 จากจำนวนครอบครัวที่ใช้บริการบริษัททั้งหมด แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ An Autism Therapy Company Abruptly Cuts Off Care To Children As It Lays Off Staff เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม:

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine