วีซ่าสตาร์ทอัพ ปัญหา สหรัฐฯ ในการดึงคนเก่งเข้าประเทศ - Forbes Thailand

วีซ่าสตาร์ทอัพ ปัญหา สหรัฐฯ ในการดึงคนเก่งเข้าประเทศ

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jan 2022 | 10:58 AM
READ 2530

ธุรกิจในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีมูลค่ามากที่สุดในสหรัฐฯ มากมาย ตั้งแต่ Google ไปจนถึง Tesla เป็นผลงานของชาวต่างชาติอพยพ แต่ทำไมการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจากต่างประเทศจึงเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินโดยเฉพาะการให้ วีซ่าสตาร์ทอัพ ของฝ่ายกำกับการ

5 ปีที่แล้ว John S. Kim ย้ายจากเกาหลีใต้มาตั้งถิ่นฐานใน San Francisco เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง Sendbird บริษัทผู้ให้บริการระบบแชทและส่งข้อความแบบเรียลไทม์ทางแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์มือถือและเว็บไซต์ต่างๆ เขาต้องการอยู่ใกล้ๆ กับลูกค้าในสหรัฐฯ อย่าง Yahoo, Reddit และ Headspace พร้อมโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนใน Silicon Valley ว่าจ้างวิศวกรชาวอเมริกันและขยายกิจการ เขาได้รับวีซ่าสำหรับผู้บริหารชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ผู้อพยพ (L-1) เนื่องจากเริ่มดำเนินธุรกิจครั้งแรกที่เกาหลีใต้มาแล้ว แต่ยังไม่ทันพ้นปี 2019 ก็เหลือโอกาสต่ออายุวีซ่าได้อีกเพียงครั้งเดียว เขาจึงยื่นขอกรีนการ์ด โดยหวังจะได้รับสถานะผู้พำนักอาศัยถาวร แต่กลับได้รับหนังสือแจ้งว่า คำขอมีแนวโน้มว่าจะโดนปฏิเสธ “หนังสือแจ้งเหตุผลที่จะปฏิเสธก็คือ เราจะไล่คุณออกนอกประเทศ ฉะนั้นกลับไปคิดดูใหม่” Kim กล่าว “เราระดมทุนได้กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีรายรับนับสิบๆ ล้านเหรียญ เราสร้างงานมากมาย แน่นอนว่าหนังสือฉบับนี้เล่นเอาผมหน้าชาไปเลย” อย่างไรก็ตามโชคดียังเป็นของ Kim เจ้าของบริษัทมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญซึ่งมีทั้ง SoftBank และ Tiger Global เข้ามาร่วมลงทุน เวลาผ่านมา 2 เดือน หลังจากที่ Kim หารือแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินกับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล พร้อมทั้งส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกกองโตรวมถึงคำแปลระเบียบการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้แล้ว สหรัฐฯ เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการ และฉายแสงแห่งความหวังให้กับบรรดาผู้อพยพมายาวนาน แต่ในเวลานี้กลับมีนโยบายการเข้าประเทศที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยการเมือง กีดกั้นผู้ประกอบการที่เกิดนอกประเทศ ผลลัพธ์ก็คือ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาชาวต่างชาติอพยพที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจจะต้องเลือกวีซ่าประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น E-2 (สำหรับนักลงทุนจากประเทศที่มีสนธิสัญญากับสหรัฐฯ) หรือ O-1 (สำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ) หรือพยายามปะติดปะต่อประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันเพราะไม่เข้าข่ายวีซ่าประเภทใดเลย แม้ว่าฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันจะไม่เห็นพ้องกับนโยบายปรปักษ์กับผู้อพยพอย่างเปิดเผยของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump แต่ทั้งประธานาธิบดี Joe Biden กับสภาคองเกรสใหม่ก็ไม่ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ต้อนรับนักธุรกิจหน้าใหม่ความสามารถสูงไปมากกว่านี้ ปัญหาพื้นฐานคือ สหรัฐฯ ไม่ได้มี วีซ่าสตาร์ทอัพ ให้กับผู้ก่อตั้งกิจการเป็นกรณีเฉพาะ แม้จะมีความพยายามมานานนับ 10 ปี ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและชาญฉลาดมากที่สุด แต่ในเวลานี้ผู้ประกอบการทั่วโลกกลับพบว่า พวกเขามีทางเลือกอื่นที่เปิดกว้างและง่ายดายกว่า เช่น ประเทศต่างๆ ราว 25 ประเทศ รวมถึงสิงคโปร์และสหราชอาณาจักรนั้นกำลังชี้ชวนให้ผู้ประกอบการที่ถือวีซ่าสตาร์ทอัพเข้ามาลงหลักปักฐานในรอบทศวรรษที่ผ่านมา “ทั่วโลกต่างต่อสู้แย่งชิงบุคลากรฝีมือดี” Steve Case กล่าว เขาคือเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้ง AOL และบริษัทด้านการลงทุน Revolution ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเรื่องความสำคัญของวีซ่าสตาร์ทอัพ “เราต้องการคนที่เก่งที่สุด มีไอเดียเป็นเลิศที่สุด และอยากย้ายมาอาศัย พร้อมกับเริ่มก่อตั้งและสร้างกิจการในสหรัฐฯ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งประเทศผู้นำโลกด้านนวัตกรรมและการประกอบการ” ผู้ประกอบการที่เกิดในต่างประเทศคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของประเทศแห่งนี้ สหรัฐฯ มีผู้ประกอบการต่างชาติราว 3.2 ล้านคนที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศคิดเป็นเกือบ 22% ของเจ้าของกิจการทั้งหมด หรือเท่ากับ 14% ของประชากรทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายอย่างไม่ได้สัดส่วน มีการจ้างงาน 8 ล้านคน และคิดเป็นจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ประกอบการทั้งหมดที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ยูนิคอร์น” และได้รับการสนับสนุนเงินร่วมลงทุน จากการวิเคราะห์ผ่านทำเนียบ Forbes Billionaires พบว่า ผู้ประกอบการที่มาจากต่างประเทศ 77 รายที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นในสหรัฐฯ มีรายได้รวมกันกว่า 5.28 แสนล้านเหรียญ มีการจ้างงานรวมกว่า 775,000 ตำแหน่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวต่างชาติ ได้แก่ Google, Tesla และ Yahoo “ถ้าผมต้องมามัวแต่กังวลเรื่องวีซ่า Yahoo คงไม่ได้เกิด” Jerry Yang เศรษฐีพันล้านผู้ร่วมก่อตั้ง Yahoo กล่าวเขาอพยพมาจากไต้หวันตั้งแต่ยังเด็กและได้รับสัญชาติทันเวลาก่อตั้งบริษัทพอดี กุญแจสำคัญแห่งอนาคตของสหรัฐฯ คือ ความสามารถที่จะยังคงดึงดูดและรักษาผู้มากความสามารถเหล่านี้ไว้ต่อไปให้ได้ เมื่อครั้งที่ฝ่ายบริหารของ Obama เริ่มหมดอำนาจ พวกเขาวางโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า International Entrepreneur Rule ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่มีทุนไม่ต่ำกว่า 250,000 เหรียญสามารถอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะชะงักไปในยุคของ Trump อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนพฤษภาคมฝ่ายบริหารของ Biden ประกาศว่า พวกเขากำลังนำระเบียบนี้กลับมาใช้อีกครั้ง แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว โดยไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการพำนักอาศัยถาวร หรือการได้สัญชาติเป็นพลเมือง Sophie Alcorn ทนายความที่ดูแลเรื่องการย้ายถิ่นประจำ Silicon Valley คาดว่า เธอจะต้องยื่นคำขอให้กับผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ “เจ้าของธุรกิจบางคนอยู่นอกสหรัฐฯ และไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ บางคนอยู่ในประเทศแต่ไม่สามารถทำงานในบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้ฉันเลือกเฉพาะคนที่ระดมทุนได้เป็นจำนวนหลักล้าน” แม้ว่าระเบียบที่จะนำมาฟื้นใช้ใหม่จะเป็นสัญญาณความคืบหน้าที่ดี แต่ก็ไม่ใช่วีซ่า การอนุมัติจะต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลของประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นประเด็นเรื่องมนุษยธรรม และอาจจะถูกยกเลิกภายใต้การบริหารงานในอนาคตก็ได้ นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่การเปิดประตูตรงสู่การเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรให้กับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีวีซ่าสตาร์ทอัพเท่านั้น “ผมหวังว่าสภาคองเกรสจะลงมือทำอะไรสักอย่างก่อนที่มันจะสายเกินไป” Steve Case กล่าว “จะมีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรือไม่ แน่นอนว่าควรจะต้องมี หรือไม่อย่างนั้นผมคิดว่า ประเทศของเราในฐานะที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจนวัตกรรมนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงแน่นอน” การเมืองในนโยบายการอพยพย้ายถิ่นทำให้วีซ่าสตาร์ทอัพเป็นประเด็นปัญหาคาราคาซังมานาน และมักจะไม่ได้รับความสนใจ แต่ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังหาหนทางฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะโรคระบาดอยู่นั้นเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้ต้องรอนานจนเกินไป เพราะประเทศอื่นๆ ต่างยินดีต้อนรับคนช่างฝันเหล่านี้อยู่นั่นเอง เรื่อง: AMY FELDMAN เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพประกอบ: EMMANUEL POLANCO
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine