หลังจากที่การควบรวมกิจการทำให้ Jeffrey Dunn ต้องตกเก้าอี้ซีอีโอ เขาก็นึกอยากจะเดินทางไปทั่วโลกแต่เขากลับมุ่งหน้าสู่ Harvard พร้อมแปลงโฉมองค์การไม่แสวงหาผลกำไรชื่อดังเสียใหม่
ณ งานเลี้ยง Halloween ประจำปีในปีที่ผ่านมา Jeffrey Dunn ซีอีโอ Sesame Workshop วัย 63 ปีไม่ได้แต่งชุด Bert หรือ Ernie แต่เขาเลือกเป็นเทพีเสรีภาพ “ผมไม่ค่อยสบอารมณ์กับความแตกแยกและความเป็นพิษในประเทศนี้ ผมอยากส่งข้อความบอกพนักงานทุกคนถึงจุดยืนของ Sesame” ชุดเทพีเสรีภาพของเขายังมีความหมายในอีกระดับด้วย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว Dunn ได้รับอิสรภาพทางการเงินจนสามารถทำอะไรดั่งใจ หรือไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้เพราะ Mattel Inc. เพิ่งจะควักเงิน 680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จ่ายให้กับ HIT Entertainment บริษัทที่เขาดำรงตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งเป็นเจ้าของ Thomas the Tank Engine พร้อมด้วยตัวละครและรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กๆ อีกมากมาย Dunn ซึ่งต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอและกลายเป็นผู้ว่างงาน จึงอยากหันไปจับงานการกุศลแต่ Karen ภรรยาแนะว่าพวกเขาควรจะใช้เวลาเดินทางรอบโลก นั่งพักผ่อนริมหาดกันสัก 2-3 ปีเสียก่อน ประหนึ่งเป็นการเกษียณอายุตัวเองแบบชั่วคราว ล่าสุดเขาเพิ่งได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตร Advanced Leadership Initiative ของ Harvard ซึ่งเป็นหลักสูตร 1 ปีสำหรับผู้บริหารองค์กรและบุคลากรมืออาชีพในวัยประมาณ 50-60 ปี ที่สนใจนำทักษะของตนมาแก้ไขปัญหาสังคม ค่าเล่าเรียนหลักสูตรดังกล่าวอยู่ที่ 65,000 เหรียญ นักเรียนที่ผ่านการคัดสรรอย่างบรรจง (ปี 2018 มีผู้สมัคร 550 คน ผ่านการคัดเลือก 48 คน) จะได้ศึกษาวิชาเกี่ยวกับการตรวจสอบ และหารือโครงการต่างๆ ที่วางไว้ร่วมกับอาจารย์และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน Dunn เริ่มเข้ามาเป็นนักเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2014 เมื่อผ่านมาได้ครึ่งทางตัวแทนจากคณะกรรมการบริหาร Sesame ก็ติดต่อเขามาเพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากรายได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (เช่นจากตัวคาแรกเตอร์ Tickle Me Elmo หรือ อะไรทำนองนี้) พร้อมกับยอดขายดีวีดีขององค์การไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ได้ตกต่ำลงมาทศวรรษหนึ่งแล้ว สวนทางกับตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นทุกที “Sesame มาเจอผมเพราะผมเป็นที่รู้จักในโลกสำหรับเด็ก” เขากล่าว เมื่อตอนที่ Dunn อยู่ในช่วงการทำรายงานที่ Harvard เขาส่งรายงานความยาว 10 หน้าไปยังคณะกรรมการบริหาร Sesame ยังไม่พ้นเดือนกันยายนเขาก็กลายเป็นคนนอกคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำองค์กรที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวแห่งนี้ Sesame จำเป็นต้องมี “จุดเปลี่ยนทางการเงิน จุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และจุดเปลี่ยนทางกลยุทธ์” Rosabeth Moss Kanter ผู้อำนวยการหลักสูตร Harvard Advanced Leadership Initiative แห่ง Harvard Business School ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำกรณีศึกษา Sesame กล่าวการปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญที่สุดของ Sesame อาจมาจากการตัดสินใจของ Dunn ในการจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมาใหม่ 2 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยงานการกุศลของ Sesame และกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากมูลนิธิต่างๆ และรัฐบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจโทรทัศน์ของ Sesame ธุรกิจสื่อ และการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) ซึ่งจะต้องดำเนินกิจการโดยมุ่งเน้นตัวเลขบรรทัดสุดท้ายในบัญชีเป็นสำคัญ “หลายคนคิดว่าไม่แสวงหาผลกำไรหมายถึงเราไม่ต้องหาเงิน หรือยอมควักเนื้อ จริงๆ แล้วไม่แสวงหาผลกำไรเป็นสถานะทางภาษี ถ้ารายรับไม่มากไปกว่าค่าใช้จ่ายก็ทำธุรกิจต่อไปไม่ได้เพราะมันไม่ยั่งยืน” Dunn กล่าว หลักจริยธรรมแนวใหม่นี้ทำให้ Dunn กล้าตัดสินใจที่ห้าวหาญที่สุด Public Broadcasting Service (PBS) เป็นสถานี ออกอากาศรายการโทรทัศน์ Sesame Street มายาวนานถึง 45 ปี ในปี 2015 Dunn จึงหันมาคุยเรื่องสัญญาใบอนุญาตระยะเวลา 5 ปีกับ HBO แทน “การเงินของเราเปลี่ยนไปสิ้นเชิง (รายได้จาก HBO) เข้ามาแทนที่รายได้ที่หายไปจากยอดขายดีวีดีและสินค้าอื่นๆ แผลเราปิดสนิทแล้ว” ในปีงบประมาณสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 Sesame มีผลขาดทุนจากการประกอบการอยู่ที่ 11 ล้านเหรียญ จากรายรับ 104 ล้านเหรียญ แต่ในปี 2017 กลายเป็นกำไรจากการประกอบการ 6.7 ล้านเหรียญ จากรายรับ 118.5 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับตัวเลขรายรับ Dunn ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อแก้ปัญหาของ Sesame ได้อีกอย่างคือก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการศึกษาและวิธีการบริโภคสื่อ เขาปลดระวางห้องทดลองนวัตกรรมภายในที่มีอายุ 4 ปีแต่ไม่ได้สร้างผลิตผลเป็นชิ้นเป็นอัน พร้อมกับเปิดตัว Sesame Ventures เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นด้านการศึกษา การพัฒนา และสุขภาพสำหรับเด็กๆ ถึงตอนนี้ Sesame ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 40 ราย ซึ่งก็รวมถึง Epic! ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กๆ และครูสามารถเข้าถึงห้องสมุดดิจิทัลที่ปรับแต่งได้ตามใจมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์คุณภาพดีเยี่ยม “คุณจะบังคับใจคนในบริษัทที่ทำแบบเดิมๆ มาทั้งชีวิต โดยหวังจะเปลี่ยนนิสัยพวกเขาไม่ได้หรอก ทว่าเมื่อคุณร่วมมือกับสตาร์ทอัพและเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับคนในบริษัท การจุดประกายสร้างสรรค์เริ่มเกิดขึ้น” Kanter จาก Harvard กล่าว ปัจจุบัน Sesame กำลังจะเสร็จสิ้นโครงการนำร่องที่ทำร่วมกับ IBM ในการจับคู่ตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ Watson ของ IBM เพื่อทดสอบการเรียนรู้แบบปรับให้เหมาะกับผู้เรียน (adaptive learning) สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Sesame Workshop และ International Rescue Committee ลงมือทำ Sesame Street รูปแบบใหม่สำหรับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเป็นเด็กๆ ในจอร์แดน เลบานอน อิรัก และซีเรีย ตลอดจนผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 9.4 ล้านคน โดยใช้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับประสบการณ์และวัฒนธรรมของพวกเขามากขึ้น โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ MacArthur Foundation เป็นระยะเวลา 5 ปี มูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญ Dunn ใช้เวลา 8 ชั่วโมงเดินทางด้วยรถไฟ Amtrak ไปกลับจากบ้านที่ Boston ไปยังสำนักงานใหญ่ของ Sesame ใน Manhattan เป็นประจำทุกๆ สัปดาห์ แต่เขาก็ไม่ปริปากบ่น “ในชีวิตนี้ คุณจะมีโอกาสได้เปลี่ยนโลกจริงๆ ไม่บ่อยครั้งนักหรอกซึ่งนี่น่าจะเป็นโอกาสครั้งหนึ่ง” เรื่อง: Kerry Hannon เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชมคลิกอ่านฉบับเต็มของ "วันฟ้าใสของ Sesame Street" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine