Forbes เผยรายชื่อ 92 มหาเศรษฐีที่โยกย้ายจาก 35 ประเทศ ไปตั้งรากฐาน หรือปักหลักลงทุนในสหรัฐอเมริกา จากทำเนียบมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022
นับตั้งแต่ Eric Yuan ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Zoom วางแผนจะเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ หลังสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในปี 1990 เพื่อดำเนินรอยตามไอดอลของเขาอย่าง Bill Gates
ทว่าหนทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียเลย เพราะเขาถูกปฏิเสธวีซ่ามากถึง 8 ครั้งในระยะเวลา 18 เดือน “ผมบอกกับตัวเองว่า โอเค เยี่ยมมาก ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้จนกว่าคุณจะบอกผมว่า ‘คุณไม่สามารถมาที่นี่อีกแล้ว’” บุตรชายของวิศวกรเหมืองแร่จากมณฑล Shandong ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ในปี 2019 “ไม่เช่นนั้นผมจะไม่หยุด”
ในที่สุด Yuan ก็ได้รับวีซ่า และตัดสินใจเดินทางไปยัง California ในฤดูร้อนปี 1997 เพื่อเข้าทำงานที่ WebEx ในฐานะพนักงานคนแรกๆ กระทั่ง 2 ทศวรรษต่อมาบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ที่เขาก่อตั้งขึ้นก็ได้เปลี่ยนวิธีที่ผู้คนหลายล้านคนเชื่อมต่อถึงกันในช่วงวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่
อย่างไรก็ดี Yuan (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 5.2 พันล้านเหรียญ ณ วันที่ 11 มีนาคม 2022) เป็นเพียงหนึ่งในพลเมืองอเมริกันที่เกิดในต่างประเทศ 92 ราย ในทำเนียบมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 7.11 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีอเมริกันทั้งหมด
ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 92 ของมหาเศรษฐีที่อพยพเข้ามา “เป็นผู้ที่สร้างฐานะด้วยตนเอง” ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงการสร้างรายได้จากกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อสร้างธุรกิจเช่นกัน นำโดยบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง Elon Musk ผู้กุมบังเหียน Tesla และ SpaceX (2.19 แสนล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 มหาเศรษฐีจากแอฟริกาใต้
ขณะที่อีก 5 รายมาจากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา เช่น Tope Awotona (1.4 พันล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Calendly บริษัทซอฟต์แวร์จัดตารางเวลา
สำหรับเส้นทางชีวิตของ Awotona ในวัย 12 ปีจากเมือง Lagos ประเทศไนจีเรีย ต้องเป็นพยานในเหตุการณ์ที่พ่อเขาถูกยิงเสียชีวิตในรถ ต่อหน้าต่อตา และหลังจากนั้น 3 ปีต่อมาเขาและครอบครัวก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใน Atlanta รัฐ Georgia
“เมื่อคุณมาจากประเทศอื่น คุณต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะเข้ากับผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน และเมื่อนั้นคุณจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน” Awotona กล่าว
ด้านมหาเศรษฐีหน้าใหม่รายอื่นๆ ได้แก่ Adam Foroughi ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจเกมมือถือ AppLovin (1.3 พันล้านเหรียญ) ซึ่งเกิดเพียง 1 ปีหลังจากการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และเจ้าพ่อธุรกิจไพรเวทอิควิตี้ Ramzi Musallam จากจอร์แดน (4 พันล้านเหรียญ) ที่เคยใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตในซาอุดีอาระเบียและแทนซาเนีย เนื่องจากพ่อของเขาทำงานให้กับ U.S. Army Corps of Engineers
ขณะที่ประเทศที่ส่งออกมหาเศรษฐีผู้อพยพมากที่สุดแห่งปี คือ อิสราเอล ด้วยจำนวนมากถึง 10 ราย อาทิ คู่พี่น้อง Tom และ Alec Gores (6 พันล้านเหรียญและ 2.6 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ) ที่เติบโตมากับการค้าขายที่ร้านขายของชำของพ่อในเมือง Flint รัฐ Michigan ก่อนที่จะต่อยอดเส้นทางของตนเองในธุรกิจไพรเวทอิควิตี้
ด้าน Safra Catz ซีอีโอ Oracle (1.5 พันล้านเหรียญ) คือ หนึ่งในผู้อพยพหญิง 10 รายที่มีทรัพย์สมบัติหลายพันล้านเหรียญ เช่นเดียวกับ Eren Ozmen (2.6 พันล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารบริษัท การบินอวกาศและการป้องกันประเทศ Sierra Nevada Corporation ร่วมกับสามีของเธอ Fatih Ozmen (2.5 พันล้านเหรียญ)
โดยครอบครัว Ozmens เป็นผู้อพยพชาวตุรกีที่เดินทางมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในช่วงต้นทศวรรษ 1980
“สมัยที่เราเป็นเด็กในอีกฟากหนึ่งของโลก เราดูเห็นภาพดวงจันทร์ฉายบนทีวีขาวดำ มันทำให้เราขนลุก มันเป็นแรงบันดาลใจมาก” Fatih Ozmen ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ในปี 2018 “ที่สหรัฐฯ มีหลายสิ่งหลายอบ่างที่ผู้หญิงสามารถทำที่นี่ได้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก” Eren ภรรยาของเขากล่าวเสริม
ด้าน 8 มหาเศรษฐีอเมริกันที่เกิดในแคนาดา ได้แก่ เจ้าพ่อธุรกิจอสังหาฯ Mortimer Zuckerman (3 พันล้านเหรียญ) บุตรชายของผู้อพยพชาวยิวยูเครนที่ตั้งรกรากอยู่ใน Montreal ที่เลี้ยงชีพด้วยการขายยาสูบและลูกอม ไปจนถึง Robyn และ Mark Jones (1.8 พันล้านเหรียญ) ชาวพื้นเมือง Alberta ผู้ก่อตั้ง Goosehead ธุรกิจประกันภัยใน Texas
ขณะที่ Weili Dai (1.4 พันล้านเหรียญ) หนึ่งใน 7 มหาเศรษฐีผู้อพยพที่เกิดและเติบโตในจีน ด้วยการเล่นบาสเก็ตบอลกึ่งอาชีพตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ Marvell Technology กับสามีของเธอ Sehat Sutardja (พลเมืองอเมริกันที่เกิดในอินโดนีเซีย ซึ่งมีทรัพย์สินประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญ)
เช่นเดียวกับ คู่สามีภรรยา Andrew และ Peggy Cherng ที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3.2 พันล้านเหรียญ จากการร่วมก่อตั้ง Panda Express
ด้านอินเดียครองอันดับที่ 4 ในฐานะประเทศบ้านเกิดของ 7 มหาเศรษฐีอเมริกัน ซึ่งในจำนวนมีมากถึง 5 รายที่ประสบความสำเร็จจากการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี นำโดยนักลงทุน Vinod Khosla (6.9 พันล้านเหรียญ) และ Ram Shriram (2.6 พันล้านเหรียญ) ไปจนถึง Jay Chaudhry (1.14 หมื่นล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้ง Zscaler บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ Chetan Dube (2.4 พันล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้งบริษัท AI Amelia
ทั้ง 92 รายชื่อดังกล่าว ไม่ได้นับรวมเหล่ามหาเศรษฐีที่ไม่ใช่พลเมืองอีก 36 รายที่อาศัยและทำงานในสหรัฐฯ อย่างพี่น้องชาวไอริช John และ Patrick Collison (รายละ 9.5 พันล้านเหรียญ) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงิน Stripe และป๊อปสตาร์ Rihanna (1.7 พันล้านเหรียญ) ซึ่งอาศัยอยู่ใน Los Angeles และได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Fenty Beauty และธุรกิจชุดชั้นใน Savage X Fenty ที่ผลักดันให้เธอก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของบาร์เบโดส
พบกับ “10 มหาเศรษฐีผู้อพยพ” จากทำเนียบมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 11 มีนาคม 2022
อันดับ 1
Elon Musk
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Tesla, SpaceX
ประเทศ: แอฟริกาใต้
อันดับ 2
Sergey Brin
ทรัพย์สินสุทธิ: 1.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Google
ประเทศ: รัสเซีย
อันดับ 3
Miriam Adelson
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Las Vegas Sands
ประเทศ: อิสราเอล
อันดับ 4
Rupert Murdoch และครอบครัว
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Fox News, The Times of London และ The Wall Street Journal
ประเทศ: ออสเตรเลีย
อันดับ 5
Jensen Huang
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Nvidia
ประเทศ: ไต้หวัน
อันดับ 6
Thomas Peterffy
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Interactive Brokers
ประเทศ: ฮังการี
อันดับ 7
Jay Chaudhry
ทรัพย์สินสุทธิ: 1.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: Zscaler
ประเทศ: อินเดีย
อันดับ 8
Pierre Omidyar
ทรัพย์สินสุทธิ: 1.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: eBay และ Paypal
ประเทศ: ฝรั่งเศส
อันดับ 9
Jan Koum
ทรัพย์สินสุทธิ: 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: WhatsApp
ประเทศ: ยูเครน
อันดับ 10
George Soros
ทรัพย์สินสุทธิ: 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แหล่งที่มาทรัพย์สิน: WhatsApp
ประเทศ: ฮังการี
แปลและเรียบเรียงจากบทความ A Record Number Of Immigrants Have Become Billionaires In The U.S. โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ ประจำปี 2022ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine