เหล่าหนุ่มสาวจาก 20 สาขาอุตสาหกรรม ผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งปี 2017 ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

เหล่าหนุ่มสาวจาก 20 สาขาอุตสาหกรรม ผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งปี 2017 ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Apr 2017 | 03:36 PM
READ 4637

ในรายชื่อที่เรานำเสนอนี้ 30 คนจากทั้งหมด 600 คน คือผู้พลิกโฉมประจำแวดวงจากทั้ง 20 สาขาอุตสาหกรรม พวกเขากล้าลุกขึ้นมาท้าทายขนบธรรมเนียมเดิมๆ พร้อมเขียนกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ นักการศึกษา และบุคคลในวงการบันเทิงรุ่นใหม่เสียเอง ศิลปิน Eric Waugh ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 นาทีระหว่างการถ่ายภาพที่ New York และ San Francisco แปลงความคลั่งไคล้ของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ออกมาเป็นภาพวาดแปลกๆ สื่อให้เห็นการก้าวขึ้นสู่สถานะคนดังของพวกเขา ภาพวาดที่ได้สื่อให้เห็นถึงการผสมผสาน

  สาขาดนตรี Gallant, 25 ปี ศิลปิน “เวลาที่ผมได้ยินเสียงเขา ผมคลั่งไปเลย” นั่นคือสิ่งที่ Elton John พูดถึง Gallant ไม่นานก่อนที่ทั้งคู่จะขึ้นเวทีแสดง “Weight in Gold” เพลงฮิตของนักร้องหนุ่มร่วมกันที่ London เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ชื่อจริงของ Gallant คือ Christopher Gallant III เขาจบการศึกษาจาก New York University เมื่อปี 2012 จากนั้นจึงย้ายมายัง Los Angeles เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานแนวดนตรีทั้งอาร์แอนด์บี อัลเทอร์เนทีฟร็อค โซล และอิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ Ology ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของเขาเมื่อปี 2016 ติดโผลุ้นรางวัล Grammy สาขา Best Urban Contemporary นอกจากนี้ยังมีแฟนเพลงเฉพาะทาง Spotify ตกเดือนละ 1.2 ล้านคนเข้าไปแล้ว ในปี 2016 เขาเริ่มตระเวนจัดคอนเสิร์ต โดยเปิดการแสดงไปทั้งสิ้น 77 ครั้งใน 8 ประเทศ ซึ่งเขามองว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “จริงๆ แล้วผมคิดว่ายังไม่ได้ประสบความสำเร็จใหญ่โตอะไรเลยครับ”   สาขาอาหารและเครื่องดื่ม Miguel Garza, 29 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, SIETE FAMILY FOODS Miguel Garza รับประทานอาหารที่โต๊ะทานข้าวของครอบครัวที่ Laredo รัฐ Texas มานานแสนนาน แต่น้ำจิ้มสูตรเม็กซิกัน-อเมริกันของที่บ้านกลับไม่มีส่วนประกอบสำคัญ นั่นก็คือ ตอร์ตียาที่ทำจากแป้ง เพราะว่า Veronica พี่สาวของเขาป่วยด้วยโรคภูมิต้านตนเอง ทำให้เธอไม่สามารถทานอาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืชได้ นอกจากนี้ ครอบครัว Garza ยังไม่สามารถรับประทานธัญพืชได้ด้วยเหตุผลด้านศีลธรรม จึงต้องใช้ใบผักกาดหอมทำทาโก้กินแทน ในปี 2014 Veronica หัดทำตอร์ตียาจากแป้งอัลมอนด์ จึงไม่มีส่วนผสมของธัญพืช และที่สำคัญยังผ่านการรับรองจาก Abuela อีกด้วย เพราะว่า Veronica พี่สาวของเขาป่วยด้วยโรคภูมิต้านตนเอง ทำให้เธอไม่สามารถทานอาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืชได้ ทำให้ครอบครัวของเขาค้นพบโอกาสสำคัญเข้าให้แล้วเขาจึงเริ่มนำตอร์ตียาสูตรใหม่ตระเวนขายตามร้านค้าและสหกรณ์ จากนั้นไม่นานก็ลงมือทำตอร์ตียาที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังกับมะพร้าว (หรือไม่ก็เมล็ดเจีย) ตามมา ในปัจจุบัน จากสูตรอาหารแก้ขัดของครอบครัวเติบโตจนกลายเป็น Siete Family Foods ซึ่งเกาะกลุ่มธุรกิจที่มีเจ้าของเชื้อสายละตินเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถทำรายได้ต่อปีได้แตะ 1 ล้านเหรียญแผนการขั้นต่อไปของบริษัทคือ ตอร์ตียากรอบที่ไม่มีธัญพืช ซึ่งวางจำหน่ายในร้าน Whole Foods ทุกสาขาทั่วประเทศไปเมื่อเดือนมีนาคม “เราวางตำแหน่งตัวเองเป็นบริษัทอาหารเม็กซิกันเพื่อสุขภาพ คุณรู้จัก Annie’s Homegrown ซึ่งเป็นอาหารอเมริกันแท้ๆ ในรูปแบบออร์แกนิกใช่ไหมครับ เราวางตำแหน่งตัวเองเป็นอย่างนั้นแหละ แค่เป็นอาหารเม็กซิกันเท่านั้น”   สาขาการศึกษา Jeremy Fiance, 25 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ, THE HOUSE FUND The House Fund ซึ่งเปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2016 ด้วยต้นทุน 6 ล้านเหรียญ เป็นกองทุนร่วมลงทุนระดับ Pre-seed และ Seed โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์กับ Berkeley เช่น นักศึกษา บุคลากรประจำคณะ มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าอีกกว่าครึ่งล้าน จนถึงทุกวันนี้ The House Fund สนับสนุนเงินทุนให้แก่บริษัทกว่า 20 แห่งครอบคลุมสาขาหุ่นยนต์ การศึกษาและปัญญาประดิษฐ์ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนเฉลี่ย 5 หมื่น - 2.5  แสนเหรียญ   สาขาฮออลีวูด & บันเทิง Tyler Oakley, 27 ปี คนดังทางสื่อออนไลน์ “YouTube คือไมโครโฟนสำหรับเสียงชายขอบ” Tyler Oakley นักแสดงตลกและนักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกล่าว ช่องทางดังกล่าวขยายเสียงของเขาออกไปจนมีผู้สมัครติดตามเกือบ 8.1 ล้านคนที่เข้ามาชมวิดีโอสไตล์ทอล์คโชว์ของเขา ซึ่งมีทั้งหัวข้อเบาๆ (เช่นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของคนดังและวิดีโอไวรัล) ไปจนถึงหัวข้อหนักๆ (เช่นการเมืองและเรื่องทางเพศ)   สาขาการตลาด & โฆษณา James Heller, 29 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, Wrapify เมื่อสมัยยังเด็ก James Heller มักจะขอให้พ่อพาไปบริษัทตัวแทนจำหน่าย Porsche เพราะว่าเขาอยากลองนั่งรถพวกนั้นมาก “ผมหลงใหลรถสปอร์ตของเยอรมันมากๆ เลย” Heller เล่าให้ฟังเมื่ออายุได้ 26 ปี เขาก็ซื้อรถ Porsche เป็นของตัวเอง ก่อนที่จะขายมันไปหลังจากนั้น 2 ปี พร้อมกับนำเงินเก็บและเงินสะสมเพื่อวัยเกษียณออกมาเปิดบริษัท Wrapify บริษัทหน้าใหม่ที่ระดมเงินทุนได้ 2.9 ล้านเหรียญ บริษัทแห่งนี้จ่ายเงินเฉลี่ยประมาณเดือนละ 350 เหรียญให้กับใครก็ได้ที่จะยอมให้รถยนต์ของพวกเขาถูกห่อด้วยป้ายโฆษณา พร้อมกับขับขี่ไปทั่ว แม้ว่าการโฆษณาบนตัวรถยนต์อาจจะไม่ใช่อะไรใหม่ แต่ Wrapify เพิ่มลูกเล่นที่เป็นดิจิทัลเข้าไปด้วย คือ แอพพลิเคชั่นที่จะเตือนคนขับโดยอัตโนมัติเมื่อมีโฆษณาตัวใหม่ๆ ออกมา ขณะที่แบรนด์นั้นๆ ก็จะสามารถติดตามในรูปแบบเรียล-ไทม์ได้เลยทันทีว่ามีผู้เห็นโฆษณากี่คน Wrapify มีคนขับรถในสังกัด 3.5 หมื่นคนใน 27 เมืองและยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนลูกค้าก็มีทั้ง Anheuser-Busch, Petco และ eBay ในปีหน้า Heller ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายให้ได้ 3 เท่าตัวจากปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านเหรียญ “ผมสะกดคำว่า ‘ทำไม่ได้’ ไม่เป็นหรอกครับ”   สาขาค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ Emily Motayed, 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, Havenly Emily Motayed กับ Lee Mayer พี่สาวของเธอก่อตั้งบริษัท Havenly ขึ้นร่วมกันเมื่อปี 2013 ทั้งที่ตอนนั้น Emily ไม่มีความรู้เกี่ยวกับมัณฑนศิลป์เลย อีกทั้งยังไม่มีเงินจัดการเรื่องการตกแต่งภายในอีกต่างหาก หลังจากที่เธอย้ายไปอยู่หอพักสำหรับ “เด็กสาว” แห่งแรกที่ New York แล้ว เธอยังค้นพบด้วยว่า นักออกแบบตกแต่งภายในไม่สนใจรับงานงบประมาณต่ำกันเลย Emily บอกว่า “จะให้มีเงิน 1 พันหรือ 5 หมื่นเหรียญก็เหอะ ใครๆ ก็ควรจะต้องมีบ้านสวยๆ กันทั้งนั้นแหละ” ปัจจุบัน Havenly ทำงานร่วมกับมัณฑนากรอิสระกว่า 200 คน และคิดค่าบริการห้องละ 79-199 เหรียญ ทุกขั้นตอนการติดต่อดำเนินการออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่ตกลงงบประมาณไปจนถึงทำรายการของที่จะต้องซื้อบริษัทใน Denver แห่งนี้ยังขายเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถซื้อเฟอร์นิเจอร์ยกชุดอย่างที่เห็นทาง Instagram ได้เลย ไม่เกิน 3 ปี Motayed กับ Mayer สามารถขยายทีมงาน Havenly จาก 2 คนเป็น 60 คน และระดมทุนได้แล้ว 13.3 ล้านเหรียญ   สาขาสื่อสารมวลชน Daniel Houghton, 28 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, Lonely Planet ในปี 2013 หรือสามปีหลังจากที่ Daniel Houghton จบการศึกษาจาก Western Kentucky University เขาขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารประจำ Lonely Planet แบรนด์ดังด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีอายุยาวนานถึง 44 ปีแล้วในเวลานี้ หนึ่งในภารกิจอันดับแรกๆ ของเขาคือ ปลดพนักงานออก 75 คน หรือเท่ากับ 1 ใน 5 ของพนักงานทั้งหมดของบริษัทเลยทีเดียว พนักงานจำนวนมากในกลุ่มนี้ดูแลคู่มือท่องเที่ยวแนวพักผ่อนหย่อนใจ นับตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปี 2012 ยอดขายคู่มือท่องเที่ยวในภาพรวมของอุตสาหกรรมตกฮวบลงมาถึง 40% Houghton พิจารณาแล้วว่า หากต้องการอยู่รอดให้ได้ Lonely Planet จะต้องหันมาเน้นสื่อดิจิทัล ซึ่งเพียง 1 ปีหลังจากที่เขาเข้ากุมบังเหียน ช่องทางดิจิทัลก็สามารถทำส่วนแบ่งรายได้ให้กับ Lonely Planet ถึง 30% ของรายได้รวม ขณะที่ยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์ก็กลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง โดยปรับตัวขึ้น 27% นับตั้งแต่ปี 2013 หลังจบการศึกษาระดับวิทยาลัย Houghton ลงมือเปิดบริษัทด้านการผลิตเป็นของตนเอง ชื่อว่า Houghton Multimedia ซึ่งไปเตะตา Brad Kelley อภิมหาเศรษฐีในวงการบุหรี่เข้าพอดี ทั้งคู่จับมือกันก่อตั้ง NC2 Media และ Kelley เข้าซื้อ Lonely Planet ผ่าน NC2 Media ไปในราคา 77 ล้านเหรียญ “คุณต้องเคารพอดีต แต่ก็ต้องพยายามเดินหน้าสู่อนาคตด้วย” Houghton กล่าว โดยอนาคตนั้นอุดมไปด้วยแอพพลิเคชั่นนำเที่ยวตัวหลัก (ดาวน์โหลดไปเกือบ 1 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา) บวกกับหุ้นส่วนกับบริษัทต่างๆ อาทิ Samsung ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า Lonely Planet เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมคู่มือ โดยครองส่วนแบ่ง 25% ของตลาดคู่มือที่มีมูลค่าเกือบ 90 ล้านเหรียญ   สาขาการเงิน Matt Humphrey, 29 ปี (ขวา) ผู้ร่วมก่อตั้ง, LendingHome แม้ว่าการซื้อบ้านสักหลังอาจจะเป็นความฝันของอเมริกันชน แต่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ก็เป็นฝันร้ายชัดๆ Matt Humphrey ต้องการเปลี่ยนแปลง และเขาก็ดำเนินธุรกิจนี้มาได้ 3 ปีแล้ว ทำเงินได้กว่า 100 ล้านเหรียญ และยังปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 พันล้านเหรียญ บริษัทแห่งนี้ตัดขั้นตอนการติดต่อธนาคารออกไปเลย แต่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ติดต่อกับนักลงทุนโดยตรงรูปแบบดังกล่าวนี้เองทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ๆ เช่น ผู้ประกอบการ เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จากปกติมักจะไม่ได้รับโอกาสจากสถาบันการเงินทั่วไป “ธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทุกวันนี้ยุ่งยากซับซ้อน ขาดเทคโนโลยี ขาดประสิทธิภาพ เราไม่ได้แค่เอาชนะธนาคารเฉพาะเรื่องที่พวกเขาถนัด ด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ธรรมดาๆ ให้ดียิ่งกว่า รวดเร็วยิ่งกว่า และราคาถูกยิ่งกว่าเท่านั้น แต่ยังขยายโอกาสเข้าถึงสินเชื่ออีกด้วย” Humphrey เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาตั้งแต่อายุเพียง 13 ปีและทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2005 ในปี 2011 เขาขาย Homerun ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อสิทธิพิเศษรายวันลักษณะเดียวกับ Groupon ไปในราคา 100 ล้านเหรียญ นับเป็นการขายกิจการครั้งใหญ่ครั้งแรกในชีวิต ส่วนในปีนี้ LendingHome ได้เปิดตัวช่องทางบริการทางการเงินเหมือนสถาบัน โดยแปลงโฉมสินเชื่อ 126 ล้านเหรียญให้อยู่ในรูปแบบหลักทรัพย์เพื่อค้า ทำให้รายได้เติบโตเกือบ 3 เท่าตัว   สาขาวิทยาศาสตร์ Alice Zhang, 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง, Verge Genomics เมื่อครั้งที่กำลังศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิตอยู่ที่ UCLA อยู่นั้น Alice Zhangถึงกับตกใจ เมื่อได้รับรู้ความจริงที่นักวิจัยยาทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ยาที่เริ่มนำมาทดลองใช้กับคนนั้นล้มเหลวถึง 90% “โดยมากแล้วก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้นเอง” เธอจึงเปิดตัว Verge Genomics บริษัทน้องใหม่รายล่าสุดในตลาดเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจำนวนมากต่างหวังว่า การผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อันล้ำสมัยเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์คือคำตอบของปัญหาดังกล่าว แต่ความพิเศษของ Verge คือ พวกเขากล้าเจาะโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่บริษัทยามากมายไม่สนใจเพราะมองว่าหมดหนทางเยียวยา บริษัทหน้าใหม่แห่งนี้มีทีมงานรวม 7 คน ระดมทุนได้ 4 ล้านเหรียญจากบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ IA Ventures และ Draper Associates อีกทั้งยังดึงที่ปรึกษาเข้าร่วมอีกมากมาย ซึ่งก็รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยโรคอัลไซเมอร์อย่าง Paul Aisen และ George Church ซึ่งเป็นกูรูด้านเทคโนโลยีชีวภาพประจำ Harvard ตลอดจนประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Alkermes การใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine-learning) เพื่อศึกษาโครงข่ายของยีนนั้นถือเป็นวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ แต่อาจจะถึงเวลาที่มันจะกลายเป็นธุรกิจแล้วก็ได้   ธุรกิจเงินร่วมลงทุน Lu Zhang, 28 หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง, NewGen Capital Lu Zhang จบการศึกษาด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมจาก Stanford เธอนำความรู้ในสายงานผนวกเข้ากับไบโอเซนเซอร์ (ตัวตรวจวัดทางชีวภาพ) ขนาดจิ๋ว เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถตรวจโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาบริหารธุรกิจสมัยเรียนนั่นเอง สุดท้ายแล้ว เธอก็สามารถขาย Acetone ซึ่งเป็นบริษัทที่เธอแยกออกมาไปให้กับบริษัทเอกชนผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่อมาบริษัทแห่งนี้ได้นำ Acetone เสนอขายต่อสาธารณชนด้วยมูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญ Zhang ต้องการจะเริ่มต้นใหม่ เธอจึงไปเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนอยู่ที่ Fenox Venture Capital เป็นเวลา 2 ปี ด้วยความที่เป็นหุ้นส่วนร่วมทุนหญิงจากจีน เธอจึงแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ Silicon Valley แต่ก็ใช้เวลาไม่นานสร้างชื่อเสียงจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่สร้างผลงานไว้ในบ้านเกิดของตัวเองได้เป็นอย่างดีด้วย ในปี 2014 เธอตัดสินใจเปิดร้านค้าของตัวเอง NewGen เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระยะแรกๆ ในกลุ่มเทคโนโลยี ระดมทุนครั้งแรกได้ 17 ล้านเหรียญและครั้งที่ 2 ได้ 75 ล้านเหรียญ จนถึงปัจจุบันนี้ บริษัทลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 38 รายการ อาทิ Chat Sports (ข่าวและเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาที่สามารถปรับตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ Grubmarket (ตลาดนัดออนไลน์สำหรับเกษตรกร) และ Stratifyd (เครื่องมือวิเคราะห์ความรู้สึกจากข้อมูล) “นิสัยของฉันคือ ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็พร้อมรับมือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด” Zhang ยังบอกด้วยว่า “ฉันอาจจะดูเหมือนผู้หญิงเอเชียตัวเล็กๆ แต่ฉันก็ไม่อยากจะให้ใครมาบอกหรอกนะว่า ฉันทำไม่ได้น่ะ” คลิ๊กเพื่ออ่าน: เหล่าหนุ่มสาวจาก 20 สาขาอุตสาหกรรม ผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งปี 2017 ตอนที่ 2 
คลิกอ่านฉบับเต็ม "30 Under 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่ง US ที่ทั่วโลกต้องจับตา" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560