ธุรกิจขาขึ้นของ "EQT Corp." บริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ - Forbes Thailand

ธุรกิจขาขึ้นของ "EQT Corp." บริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jun 2022 | 08:31 AM
READ 1221

EQT Corp. เป็นผู้เล่นเก่าแก่ซึ่งอยู่ในธุรกิจพลังงานมา 133 ปี นับจากยุคเริ่มต้นขุดเจาะบ่อก๊าซในรัฐ Pennsylvania บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่เป็นอาคารหินแกรนิตและกระจกตั้งอยู่ในเมือง Pittsburgh

แต่ถ้าคุณได้เข้าเยี่ยมชมสำนักงานของ Toby Z. Rice ซีอีโอวัย 39 ปีของบริษัทนี้ คุณก็เดาเรื่องนี้ไม่ออกแน่ เพราะห้องทำงานของ Rice ดัดแปลงมาจากสตูดิโอฝึกเทควันโดที่อยู่บนร้านขายเหล้าของรัฐบาลในแถบชานเมือง Carnegie รัฐ Pennsylvania ห่างจากใจกลางเมือง 15 นาที ในโรงฝึกแห่งนี้มีหุ่นไอรอนแมนขนาดเท่าตัวจริง สวมหน้ากากกอริลลา ศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกราฟฟิตี้ และธง Gadsden ที่มีข้อความว่า “อย่ามาเหยียบฉัน” หนุ่มเจนมิลเลนเนียลดูผิดแผกคนนี้กลายเป็นผู้นำบริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดของประเทศได้อย่างไร คำตอบก็คือ การทำงานเป็นทีมในครอบครัว ความโชคดีที่ได้เข้าไปขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน Marcellus อย่างถูกเวลา และการกล้าเดิมพันครั้งยิ่งใหญ่ หุ้นส่วนของ Toby Rice ในธุรกิจสำรวจก๊าซคือ พี่น้องของเขา Daniel วัย 41 ปี และ Derek วัย 36 ปี เงินทุนที่ใช้เปิดกิจการคือเงินกู้ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทรัสต์ที่พ่อออกทุนให้ ซึ่งพวกเขาก็ต่อยอดจากเงินก้อนนี้ได้ดี เพราะปัจจุบัน 3 พี่น้องมีทรัพย์สินกว่า 700 ล้านเหรียญแล้ว แหล่ง Marcellus เป็นแหล่งหินดินดานที่ทอดยาวจากรัฐ New York จนถึงรัฐ West Virginia เทคโนโลยีแฟรกกิ้งทำให้ชั้นหินนี้กลายเป็นของมีค่าในชั่วข้ามคืน ซึ่งเป็นจังหวะที่ 3 พี่น้องเข้าสู่ธุรกิจก๊าซพอดี Toby, Daniel และ Derek โตในเมือง Boston พวกเขาอยู่กับแม่หลังจากพ่อแม่หย่ากัน หนุ่มๆ เล่นเบสบอลและเรียนรู้เรื่องธุรกิจจากครอบครัวผู้ประกอบการของพวกเขา ซึ่งมีลูกพี่ลูกน้องและลุงป้าที่เป็นชาวอาร์เมเนียอพยพ แม่ของพวกเขารับจัดอาหารงานเลี้ยง ส่วนพ่อ Daniel Rice III เป็นผู้จัดการพอร์ตการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติอยู่ที่ BlackRock เมื่อพ่อได้ลาภลอยมาก้อนหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ เขาก็ตัดสินใจว่าลูกชายทั้งสามควรจะได้เอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว “พ่อเพาะเมล็ดในหัวพวกเรา” Daniel คนลูกกล่าว แต่พวกเขาต้องเริ่มที่จะเตรียมตัว Daniel ไปเรียนเรื่องน้ำมันและก๊าซที่ Tyco, Transocean และธนาคารเพื่อการลงทุน Tudor, Pickering, Holt & Co. ส่วน Derek กลายเป็นนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ใหม่ด้านการเจาะชั้นหินดินดาน และ Toby ซึ่งเป็นนักเบสบอลมหาวิทยาลัยที่ติดทีม All-American แต่ไม่ได้รับการคัดตัวให้เข้าลีกอาชีพก็ไปทำงานเป็นคนงานขุดเจาะด้วยค่าแรงชั่วโมงละ 9 เหรียญ (และถ้านิ้วของทุกคนยังอยู่ครบก็จะได้เบี้ยปลอดภัยเพิ่มอีก 2 เหรียญ) และเขาเลิกทำปริญญาโทด้านการขุดเจาะด้วยแรงดันน้ำเมื่อทั้ง 3 พี่น้องก่อตั้ง Rice Energy ในปี 2007 ตอนนั้นเป็นช่วงต้นยุคปฏิวัติการขุดเจาะด้วยวิธีแฟรกกิ้ง มีการพัฒนาแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติใต้ชั้นหินดินดานเพียงแหล่งเดียวคือ แหล่ง Barnett ใกล้เมือง Fort Worth รัฐ Texas แต่ 3 พี่น้องเล็งชั้นหินดินดาน Marcellus ในรัฐ Pennsylvania เอาไว้ในช่วงเดียวกับที่บริษัทซึ่งใหญ่กว่าพวกเขามากอย่าง Chesapeake Energy ก็เริ่มหาเช่าพื้นที่ขุดเจาะในแถบนั้นเช่นกัน Toby นอนในรถกระบะของเขาระหว่างที่วิ่งตามหาพวกเจ้าของที่ดินเพื่อจะทำข้อตกลงขอเช่าที่ดินในจุดที่พวกบริษัทใหญ่มองข้าม “ผมเข้าไปนั่งคุยกับชาวไร่และเจ้าของที่ดินถึงในครัวมากกว่าที่นักการเมืองคนไหนในเขตนี้เคยทำ” Toby เล่า และ Daniel เสริมว่า “ถ้าเราเริ่มกองเศษอิฐขึ้นไปทีละน้อย วันหนึ่งก็จะได้ห้องที่มีผนัง 4 ด้าน” พ่อของพวกเขาเลิกสนใจเรื่องตัวเลขของบริษัทไปตั้งแต่ปี 2009 หลังจากเคยตั้งคำถามเรื่องเช็ค 2,300 เหรียญที่ Toby จ่ายให้ 4-H Club ใน Washington County รัฐ Pennsylvania ตอนนั้นเขาประมูลกระต่าย 1 ตัวในงานการกุศลชนะ Range Resources ซึ่งกำลังแข่งกันเช่าที่ดิน และเรื่องนี้ก็ทำให้ชาวบ้านรู้จักพวกเขา “เรารุกพื้นที่แอ่งแถบนั้นอย่างหนัก” Derek กล่าว นักขุดเจาะแฟรกกิ้งจะใช้ดอกสว่านชนิดปรับทิศทางได้ทะลวงลงไป 2 ไมล์จนถึงชั้นหินดินดานบางๆ ที่มีไฮโดรคาร์บอนอยู่ แล้วเจาะตามแนวราบเข้าไปในชั้นหินดินดานนั้น หลังจากใช้ปูนซีเมนต์ยึดท่อที่สอดไว้ในหลุม นักขุดเจาะจะใช้ระเบิดความแม่นยำสูงระเบิดหลุมภายในท่อ แล้วเจาะชั้นหินด้วยการฉีดน้ำผสมทรายหลายล้านแกลลอนลงไปในท่อด้วยแรงดันสูง พี่น้อง Rice ชอบเล่นใหญ่ไว้ก่อน พวกเขาใช้ทราย 1 ตันสำหรับการขุดเจาะในแนวราบระยะ 1 ฟุต ซึ่งมากกว่าที่รายอื่นๆ ใช้ถึง 3 เท่า สำหรับชั้นหินดินดาน Barnett ถ้ามีบ่อไหนที่ให้ผลผลิตก๊าซถึง 4,000 MCF ต่อวันได้ก็จะถือว่าเป็นบ่อใหญ่แล้ว (ก๊าซ 1 MCF หรือ 1,000 ลูกบาศก์ฟุตให้พลังงานเท่ากับน้ำมันเบนซิน 8.6 แกลลอน) แต่ Rice Energy เจาะก๊าซจากบ่อที่แหล่ง Marcellus ได้ถึง 30,000 MCF ต่อวัน “เราเคยคิดว่าขุดได้ก๊าซเท่าที่ Barnett ก็ดีแล้ว แต่ปรากฏว่าเรากลายเป็นรายแรกๆ ที่เข้าไปขุดแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ” Derek กล่าว ช่วงนั้นเขาอาศัยอยู่ในรถเทรลเลอร์ที่แท่นเจาะ และอาบน้ำที่จุดพักรถบรรทุก 3 พี่น้องนั่งกินอาหารร่วมกับพนักงานใหม่ทุกคน และตั้งชื่อโครงการขุดตามชื่อฮีโร่ในการ์ตูน ทั้งสามระดมทุนได้ 1 พันล้านเหรียญในการเสนอขายหุ้น IPO ของ Rice Energy เมื่อปี 2014 ซึ่ง Daniel เป็นซีอีโอ และอีก 400 ล้านเหรียญจากบริษัทในเครือซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนที่เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซ Derek กล่าวว่า พวกเขาพี่น้องรู้ดีว่าตัวเองไม่ได้ฉลาดกว่าใครๆ “บริษัทอื่นต้องเลียนแบบดีไซน์ของเราอยู่แล้ว จากนั้นปริมาณซัพพลายก็จะพุ่งทะลุหลังคา” ซึ่งก็จริง เพราะผลผลิตก๊าซจากแหล่ง Marcellus โตระเบิดจนถึง 3.5 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต (35 BCF) ต่อวัน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของผลผลิตก๊าซทั้งสหรัฐฯ “พวกเราเตรียมใจแล้วว่าคงทำบริษัทนี้กันไปทั้งชาติ” Daniel กล่าว แต่ในปี 2017 EQT ยื่นข้อเสนอใจป้ำเพื่อขอซื้อกิจการด้วยหุ้นและเงินสดรวม 6.7 พันล้านเหรียญ แถมยังรับเอาหนี้ 1.5 พันล้านเหรียญไปด้วย พี่น้อง Rice ได้เงินสดไปประมาณ 200 ล้านเหรียญและหุ้น EQT เกือบ 3% และ EQT Midstream Partners ยังซื้อห้างหุ้นส่วนท่อส่งก๊าซที่ Rice ก่อตั้งไปอีก 2.4 พันล้านเหรียญ แต่หลังจากข้อตกลงเสร็จสิ้นได้ไม่นาน พี่น้อง Rice ก็เริ่มได้รับโทรศัพท์จากผู้ถือหุ้นซึ่งไม่ค่อยปลื้มที่ EQT ภายใต้การนำของซีอีโอ Robert McNally ใช้เงินลงทุนเกินงบประมาณไป 300 ล้านเหรียญ แต่ดันขุดเจอแต่บ่อไม่เอาไหนในพื้นที่ซึ่ง Rice เคยขุดเจอบ่อสมบัติ “เราทำตารางขุดให้พวกเขาไปสำหรับ 3 ปี” Derek เล่า “แต่ผ่านไป 3 เดือนพวกเขาก็จับต้นชนปลายไม่ถูกแล้ว” ราคาหุ้น EQT จึงร่วงไป 45% งานนี้เลยเกิดศึกหาตัวแทนขึ้น เหล่านักลงทุนสถาบันหนุนหลังกรรมการบริษัท 7 คนที่เสนอให้ Rice เข้ามาบริหารและชนะโหวตไป 80% McNally จึงต้องออกไปในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 และ Toby Rice เข้ามาแทน (Daniel เข้ามาเป็นกรรมการของ EQT ส่วน Derek เป็นที่ปรึกษา) นายใหญ่คนใหม่ปรับลดพนักงานลง 1 ใน 4 จนเหลือ 650 คน และลงทุนใช้ซอฟต์แวร์กับเซนเซอร์หน้าแดชบอร์ดในแอปของบริษัท Salesforce ช่วยให้เขาเห็นสถานะของบ่อก๊าซ 3,000 บ่อใน 600 จุดทั่วพื้นที่ 1.6 ล้านเอเคอร์ได้

ปฏิวัติการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา EQT ซื้อกิจการขุดเจาะของ Chevron ในแหล่ง Marcellus ด้วยราคา 735 ล้านเหรียญ และของ Alta Resources ด้วยราคา 2.9 พันล้านเหรียญ การขยายกิจการเช่นนี้ช่วยให้บริษัทผลิตก๊าซเพิ่มได้เป็น 5.5 BCF ต่อวัน นำหน้าอันดับ 2 อย่าง ExxonMobil แต่บางครั้งการเดิมพันครั้งใหญ่ก็กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์จะใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสัญญาออปชั่นเพื่อขายสินค้าที่จะผลิตได้ล่วงหน้าในราคาที่เหมาะสม แต่ Toby ป้องกันความเสี่ยงมากเกินไปจนต้องสะดุ้งเมื่อราคาก๊าซปีนี้วิ่งขึ้นสูง การซื้อขายด้วยสัญญาออปชั่นของเขาจึงทำให้กำไรปี 2021 หายไป 3 พันล้านเหรียญ แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า หลังจากปรับแนวทางป้องกันความเสี่ยงแล้ว EQT ก็กลับมาทำได้ตามเป้าหมายในปี 2022 โดยสร้างกระแสเงินสด 2 พันล้านเหรียญ (รายได้สุทธิบวกค่าเสื่อมราคา หักค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับบำรุงรักษาสินทรัพย์) จากรายได้ 5 พันล้านเหรียญ ส่วนหุ้นบริษัทก็วิ่งขึ้น 40% นับตั้งแต่ Toby มาบริหาร ตามหลังบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมาติดๆ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมากและนักการเมืองอีกไม่น้อยอยากให้กิจการแฟรกกิ้งล้มหายไป แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วพี่น้อง Rice ต้องขอเถียง เพราะการปฏิวัติวิธีขุดเจาะก๊าซจากชั้นหินดินดานคือเหตุผลข้อใหญ่ที่สุดที่ช่วยให้การปล่อยคาร์บอนต่อปีของสหรัฐฯ ลดลงเกือบ 1 พันล้านตันมาตั้งแต่ปี 2005 เมื่อโรงไฟฟ้าเปลี่ยนจากถ่านหินมาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้จีนปล่อยคาร์บอนต่อปีเพิ่มขึ้น 4.7 พันล้านตันเมื่อการใช้ถ่านหินพุ่งสูง และ EQT กำลังมองโอกาสในการนำก๊าซจากแหล่ง Marcellus มาผลิตเป็นก๊าซเหลวแล้วส่งออกจากพื้นที่แถบเมือง Philadelphia ซึ่งถ้าเชื้อเพลิงนี้เข้าไปแทนที่ถ่านหินในเอเชียได้ก็จะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วเรื่องก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์รั่วไหลล่ะ Toby Rice เปิดแดชบอร์ดขึ้นมาโชว์รายละเอียดของโครงการมูลค่า 20 ล้านเหรียญที่เขาจะเปลี่ยนวาล์วนิวเมติก 9,000 ตัวในพื้นที่บ่อก๊าซมาใช้วาล์วไฟฟ้าที่ก๊าซมีเทนแทบไม่รั่วเลย และเขายังดึงเอา Project Canary ซึ่งเป็นบริษัทติดตามการปล่อยมลภาวะจากอุตสาหกรรมให้เข้ามาติดตั้งเครื่องตรวจจับก๊าซแบบใช้เลเซอร์รุ่นล่าสุด Chris Romer ผู้ร่วมก่อตั้ง Canary อวดว่า เซนเซอร์เหล่านี้สุดยอดถึงขั้นตรวจจับได้ว่ามีคนงานกินถั่วเป็นอาหารกลางวัน การขอใบรับรองว่าก๊าซของบริษัทผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีค่าใช้จ่าย 2 เซนต์ต่อ MCF แต่ก๊าซที่มีใบรับรองจะบวกราคาเพิ่มได้ 3-13 เซนต์ต่อ MCF หุ้น EQT คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 4 ของทรัพย์สินที่พี่น้อง Rice มีทั้งสามให้ Rice Investment Group เข้าเป็นสปอนเซอร์ของบริษัทในรูปแบบ SPAC ซึ่ง Derek กล่าวว่า “เราจะไม่เกาะกระแสนิยมอย่างพลังงานลมกับแสงอาทิตย์ แต่เราจะลงทุนอะไรที่สร้างความแตกต่างได้จริง” SPAC 1 ในแห่ง 2 นี้เข้าลงทุนใน Archaea Energy ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการและพัฒนาโครงการดักจับก๊าซมีเทนที่ลอยขึ้นมาจากขยะเน่าในหลุมฝังกลบ การดักจับก๊าซประเภทนี้ช่วยให้ได้เครดิตภาษีก้อนใหญ่พอจะสร้างรายได้ถึง 15 เหรียญต่อ MCF เทียบกับ 5 เหรียญที่ได้จากก๊าซธรรมดา “เราขายผลิตภัณฑ์พลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้คนที่ยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” Nick Stork ผู้ก่อตั้งวัย 37 ปีของ Archaea กล่าว พี่น้อง Rice ถือหุ้นบริษัทนี้ 1 ใน 4 คิดเป็นมูลค่า 600 ล้านเหรียญ แน่นอนว่า Toby รู้สึกเหมือนเขายังมีอะไรต้องพิสูจน์อีก ซึ่งนั่นหมายถึงเขาต้องยอมโตและย้ายออกจากโรงฝึกเทควันโดที่แปลงสภาพเป็นห้องทำงาน เขาขับรถกระบะ Dodge พาแขกไปชมอาคารโรงงานโทรมๆ ที่ริมฝั่งลำน้ำ Chartiers Creek และ Whiskey Run ใจกลางเมือง Carnegie ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งชื่อตามเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กผู้โด่งดังของ Pennsylvania เมื่อโรงงานปิดไปมากประชากรในเมืองนี้จึงลดลง 1 ใน 3 จากสมัยรุ่งเรือง แต่ Toby ทำนายว่า เมืองนี้จะคืนชีพ เขาอยากเปลี่ยนการใช้งานและสร้างคลังสินค้ากับโรงงานกลุ่มหนึ่งขึ้นมาใหม่ สร้างพื้นที่ซึ่งพนักงานอยากเข้ามาทำงานแม้ไม่จำเป็นต้องเข้าก็ตาม เพื่อพวกเขาจะได้ช่วยกันสร้างสิ่งที่ Toby เรียกว่าวัฒนธรรม “ชาวเชลเลนเนียล” “เราจะกลับไปนั่งกินมื้อกลางวันร่วมกับพนักงานใหม่ทุกคนอีกครั้ง” เขากล่าว เรื่อง: Chris Helman เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Chris Crisman
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine