ทลายกำแพงวีซ่า - Forbes Thailand

ทลายกำแพงวีซ่า

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Jan 2017 | 02:04 PM
READ 1382

เมื่อ Manan Mehta และ Nitin Pachisia จาก Unshackled เจ้าของไอเดียธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการจากต่างชาติอยู่ในประเทศได้ต่อ

ระบบกฎหมายของอเมริกาว่าด้วยการอพยพของคนต่างชาติ เกือบคร่าธุรกิจ Instagram ย้อนกลับไปในปี 2009 Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชาวบราซิลซึ่งจบการศึกษาจาก Stanford และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเป้าหมายขององค์กรหัวเสียอย่างมากเนื่องจากเขายังไม่สามารถยื่นขอวีซ่าทำงานได้สำเร็จและกำลังรอเวลาเดินทางกลับประเทศ แต่ในนาทีสุดท้ายเขาได้รับใบอนุญาตให้สามารถทำงานในประเทศได้ Krieger ร่วมกับ Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้งอีกรายและ CEO ของบริษัทได้เริ่มปลุกปั้น Instagram จนพัฒนากลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ด้วยจำนวนสมาชิกผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านรายและมีมูลค่ากิจการ 5 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้บริษัทยังสร้างงานหลายร้อยตำแหน่งในสหรัฐฯ ปัจจุบัน Mana Mehta และ Nitin Pachisia สองผู้ประกอบการที่ได้ผันตัวมาเป็นนักลงทุนกำลังพยายามทำให้แน่ใจว่าธุรกิจหน้าใหม่ภายใต้การนำทัพของคนต่างชาติจะไม่ต้องประสบปัญหาจากการไม่มีวีซ่า เมื่อ 2 ปีก่อนพวกเขาก่อตั้ง Unshackled Ventures กองทุนร่วมทุนในธุรกิจระยะแรกเริ่มและให้บริการแนะนำปรึกษาสร้างกลยุทธ์อันหลักแหลมในการแก้ปัญหาเรื่องวีซ่าอันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ประกอบการที่เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ทั้งนี้ Unshackled จะสนับสนุนเงินทุนและรับหน้าที่เป็นนายจ้างเพื่อสปอนเซอร์การขอวีซ่าสำหรับผู้ก่อตั้งธุรกิจเหล่านี้ แนวคิดของพวกเขาเป็นที่เลื่องลือในวงการเทคโนโลยีและภายในเวลาอันรวดเร็ว Unshackled สามารถระดมทุนมูลค่า 5 ล้านเหรียญจากนักลงทุนชั้นแนวหน้ากว่า 80 ราย อย่างเช่น Laurene Powell Jobs, Jerry Yang และหน่วยลงทุนของ Bloomberg และการระดมทุนรอบใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นคาดว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ “ขณะที่ประเด็นโต้เถียงเกี่ยวกับการอพยพเข้าเมืองมีแต่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงและเลวร้ายมากขึ้น รูปแบบธุรกิจของ Unshackled แสดงให้เห็นถึงประเด็นที่ควรนำมาพูดคุย อันได้แก่ การพูดคุยเพื่อหาวิธีกำจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางโอกาส แนวทางเพื่อพัฒนาทุนทางปัญญาที่มีความโดดเด่นและช่องทางในการผลักดันนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน” Powell Jobs กล่าวผ่านอีเมล์ “Unshackled เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าผู้อพยพเต็มไปด้วยศักยภาพ” การขอวีซ่าให้กับชาวต่างชาติที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook ในปีนี้หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและพลเมืองแห่งสหรัฐฯ (USCIS) ได้รับคำร้องจากผู้ยื่นขอวีซ่าทำงาน 233,000 รายภายในเวลา 1 สัปดาห์หลังเปิดรับสมัคร ขณะที่โควต้าการออกวีซ่า H-1B จำกัดอยู่ที่เพียง 85,000 รายต่อปี โอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะยื่นขอวีซ่าได้สำเร็จยิ่งน้อยลงไปอีกเนื่องจากมักจะขาดทั้งเงินทุนหรือหลักฐานยืนยันต่อหน่วยงานรัฐว่าพวกเขามีความสามารถในการชำระเงินเดือนให้กับพนักงานต่างชาติตลอดระยะเวลาการว่าจ้าง Pachisia มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับปัญหาในการขอวีซ่า เขาเกิดที่อินเดียและเดินทางมายัง Silicon Valley เพื่อทำงานให้กับ Deloitte ในตำแหน่งที่ปรึกษาโดยมุ่งเน้นที่ธุรกิจเกิดใหม่ หลังจากนั้นเขารับหน้าที่ดูแลด้านกลยุทธ์และการเงินให้กับ Kno ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต่อมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนมหาศาล แต่เมื่อมีแผนที่จะเปิดธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองเขาพบว่าเขาไม่สามารถลาออกจากบริษัทที่เป็นผู้สปอนเซอร์วีซ่าได้ ทำให้เขาจำเป็นต้องทำงานควบ 2 แห่งโดยใช้เวลาช่วงกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์กับธุรกิจใหม่ Mehta พบกับ Pachisia ระหว่างทำงานที่ Kno เขาเกิดที่สหรัฐฯ ดังนั้นจึงไม่ต้องเผชิญอุปสรรคเหล่านี้ แต่เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งเจอกับปัญหานี้ตอนพยายามก่อตั้งธุรกิจเกิดใหม่ เรื่องนี้ดึงให้ Mehta และ Pachisia โคจรกลับมาเจอกันอีกครั้งและตั้งเป้าที่จะ “ขจัด” อุปสรรคด้านวีซ่าให้กับเหล่าผู้อพยพที่มีทักษะ ความสามารถ หลังจากช่วยกันระดมสมองก่อร่างรูปแบบธุรกิจของ Unshackled ตามร้านกาแฟใน Palo Alto พวกเขาตัดสินใจทดลองตลาดผ่านทางเว็บไซต์ โพสต์บน Facebook และวางแผ่นพับในร้าน Hacker Dojo พื้นที่สำหรับทำงานร่วมกันสำหรับเหล่าธุรกิจเกิดใหม่ หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน พวกเขาตัดสินใจเปิดบริษัท Unshackled เป้าหมายของพวกเขาคือการสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจเกิดใหม่ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะช่วยสร้างงานใหม่กว่า 100,000 ตำแหน่ง Unshackled ไม่ใช่คนเดียวที่พยายามแก้ปัญหานี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดี Obama ได้เสนอร่างแผนใหม่โดยจะออกวีซ่าทำงานชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการจากต่างชาติที่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนนอกตลาดตั้งแต่ 345,000 เหรียญขึ้นไป แผนดังกล่าวมาจากการแก้เกมภาวะชะงักงันทางการเมืองสำหรับ “วีซ่าสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ”ซึ่งเป็นการออกวีซ่าให้กับผู้ประกอบการจากต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากวงการเทคโนโลยีและผลักดันโดยผู้นำสหรัฐฯ แต่ถูกชะลอออกไปโดยสภาคองเกรส ร่างกฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการภายใต้เครือของ Unshackled ขอวีซ่าได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ Mehta และ Pachisia มีเวลาและอิสระมากขึ้นที่จะหันไปมุ่งเป้าคอยให้คำปรึกษาและแนะนำในการก่อร่างสร้างธุรกิจ “สหรัฐฯ มีหน้าที่ในการดึงดูดคนเก่งและมีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และให้เหตุผลที่ดีว่าทำไมพวกเขาต้องอยู่ต่อ” Mehta กล่าวโดยสะท้อนถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบัน Unshackled ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับบริษัททั้งหมด 15 แห่งซึ่งผู้ก่อตั้งมีเชื้อชาติหลากหลายจากกว่า 10 ประเทศ โดย 9 บริษัทแสดงศักยภาพได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงโครงการบ่มเพาะธุรกิจ เกิดใหม่ชื่อดังอย่าง Y Combinator ขณะที่ยังไม่มีบริษัทภายใต้การสนับสนุนของ Unshackled แห่งไหนประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลแต่ก็ยังไม่มีใครประสบความล้มเหลวเช่นกัน การที่คุณไม่มีวีซ่าคือแรงผลักดันมหาศาล รายงานโดย Miguel Helft
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Forbes 400 ชี้ฝันชาวอเมริกันยังดีอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559