ต่างมีผลประโยชน์ตอบแทน (จริงหรือ!) - Forbes Thailand

ต่างมีผลประโยชน์ตอบแทน (จริงหรือ!)

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Jun 2020 | 09:30 AM
READ 2485

George Kurtz ทำเงินได้มากโขจาก CrowdStrike ถึงแม้ว่าบริษัทรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของเขาจะถูกกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยจากประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกา

หนึ่งปีที่ผ่านมาผู้คนทั่วโลกไม่รู้จัก CrowdStrike มากนัก และ George Kurtz ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แห่งนี้ก็รู้สึกสุขใจดีกับสภาพเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เมื่อบันทึกเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดี Trump กับ Volodymyr Zelensky ประธานาธิบดียูเครน ที่ผ่านการเรียบเรียงเล็ดลอดออกสู่สาธารณชน

ในบทสนทนาดังกล่าวผู้นำทั้งสองต่างถกเถียงกันถึง CrowdStrike ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก Democratic National Committee ให้ทำการสืบหาความจริงในกรณีที่รัสเซียลักลอบเจาะระบบข้อมูลในระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 และ Trump ผลักดันให้ Zelensky ทำการสอบสวน CrowdStrike โดยอ้างว่าบริษัทได้ซุกซ่อนเซิร์ฟเวอร์ของ DNC เครื่องหนึ่งไว้ในยูเครน

ในตอนที่เราเริ่มก่อตั้งบริษัท ผมไม่คิดเลยว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะกล่าวถึงบริษัทของเรา” Kurtz วัย 49 ปีกล่าว และบอกเพิ่มว่า บริษัทของเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่เคยติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ในยูเครนแต่อย่างใดสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ก็คือ ก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหยุดยั้งการละเมิดต่างๆ ที่เหลือก็เป็นแค่เสียงนกเสียงกา

เมื่อลูกค้าอย่าง DNC ว่าจ้างบริษัทใน Sunnyvale ใน California อย่าง CrowdStrike ให้ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับการละเมิดซึ่งใช้งานบนคลาวด์ของบริษัทที่มีชี่อว่า Falcon สแกนหาผู้เป็นแฮกเกอร์ นี่เป็นความทุ่มเทที่ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า CrowdStrike อาจได้รับการว่าจ้างให้ปฏิบัติภารกิจเฉพาะกิจที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิต อย่างเช่นการสืบสวนสอบสวนที่ทำร่วมกับ DNC หากแต่มีลูกค้าจำนวน 4,000 รายในบัญชีรายชื่อลูกค้าของบริษัท ซึ่งรวมถึง Amazon และ Credit Suisse ที่ต้องชำระค่าบริการรายเดือน 6.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง เพื่อแลกกับการให้ Falcon เฝ้าระวังระบบคอมพิวเตอร์ของตน

ภาระงานทั้งหมดสร้างรายได้คิดเป็น 465 ล้านเหรียญในปีงบประมาณล่าสุดของ CrowdStrike (สิ้นสุด วันที่ 31 มกราคม 2020) หรือเพิ่มขึ้น 86% โดยประมาณจากปีก่อนหน้า ราคาหุ้นของบริษัทแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่การออกหุ้น IPO ในเดือนมิถุนายน หากแต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้หุ้นที่ Kurtz ถือครองอยู่ในสัดส่วน 10% นั้นมีมูลค่าเกือบ 1.1 พันล้านเหรียญ

หลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจจาก Seton Hall University และทำงานในบริษัทไอที และที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยอยู่หลายปี Kurtz ก็ได้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ของตัวเองอย่าง Foundstone ขึ้นในปี 1999 Kurtz ขายบริษัทดังกล่าวให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าอย่าง McAfee และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่แห่งนั้น

แนวคิดเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่ใช้งานบนคลาวด์ ซึ่งเรียบง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าของ CrowdStrike นั้น มาจากการที่ Krutz เฝ้ามองชายคนหนึ่งซึ่งนั่งติดกับตัวเขาในเที่ยวบินหนึ่งในปี 2011 ที่ใช้เวลา 15 นาทีเต็มไปกับการสแกนคอมพิวเตอร์แล็บท็อปด้วยโปรแกรมของ McAfee ‘นั่นเป็นสิ่งเลวร้ายสุดๆ

Krutz ลาออกจาก McAfee ในปีเดียวกันนั้นเองเพื่อมาบุกเบิก CrowdStrike 5 ปีต่อมาบริษัทของเขามีรายได้ราว 50 ล้านเหรียญ โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีถัดมา

ทุกวันนี้ CrowdStrike ให้ความสำคัญกับดินแดนซึ่งเป็นเหมือนจุดเดือดของโลกปัจจุบัน อย่างเช่น อิหร่าน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการเจาะตลาดในยุโรป ซึ่งว่าที่ผู้ใช้งานจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกันกับลูกค้าของ CrowdStrike ในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของบริษัทอย่างอเมริกา

อย่างไรก็ตามทฤษฎีสมคบคิดของยูเครน ซึ่ง Trump หยิบยกขึ้นมานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทแต่อย่างใด ความจริงแล้วประเด็นนี้กลับทำให้ภาพลักษณ์ของเราในฐานะผู้นำระดับโลกด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เด่นชัดขึ้นต่างหาก Krutz กล่าว

   
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine