กำไรของ Serena Williams - Forbes Thailand

กำไรของ Serena Williams

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Sep 2019 | 09:28 AM
READ 10244

นักกีฬาหญิงผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่าง Serena Williams กำลังย้ายเกมและชื่อของเธอเข้าสู่สนามธุรกิจโดยร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ และเธอก็คิดสูตรที่จะช่วยให้ไม่แพ้ได้ง่ายๆ

วันนี้เมื่อ 4 ปีก่อนใน Rome นครอมตะแห่งนี้ Serena Williams ได้พบกับสามี Alexis Ohanian ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บชุมชนออนไลน์ Reddit ส่วนหนึ่งในแผนการฉลองของทั้งคู่คือกิจกรรมนอกบ้าน นั่นคือการเดินเล่นด้วยกันในสวนโรงแรม โดยจูงมือหนูน้อย Olympia วัย 22 เดือนที่ทั้งคู่ช่วยกันสร้างขึ้นมา

บรรยากาศอลังการเช่นนี้สมศักดิ์ศรีของบุคคลผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการกีฬาอเมริกันโดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 23 สมัย รวมทั้งทลายกำแพงและล้มล้างอคติมาอีกนับไม่ถ้วน

แล้วนัยของยูนิคอร์นล่ะ ขณะที่ Ohanian มีบทบาททั้งใน Reddit และกองทุน Initialized Capital มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเขา Williams เองก็แอบเล่นเกมนี้อยู่เงียบๆ เช่นกัน

Williams เป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับการจัดอันดับ World’s Richest Self-Made Women ซึ่งเป็นลิสต์ประจำปีของ Forbes ด้วยทรัพย์สินประมาณ 225 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่มาจากสมองและแบรนด์ของเธอมากกว่าจากลูกตบแบ็กแฮนด์

Serena Williams และ Alexis Ohanian
Serena Williams และ Alexis Ohanian สามีของเธอ และผู้ช่วยคนสำคัญในการก้าวสู่วงการเวนเจอร์แคปิตอล (PHOTO CREDIT: goodmorningamerica.com)

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเธอได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วอย่างเงียบๆ 34 ราย และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Williams ประกาศเปิด Serena Ventures อย่างเป็นทางการสำหรับทำธุรกิจร่วมลงทุนและเปิดบริษัทของเธอเองด้วย

Williams ไม่ใช่คนแรกที่มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วมาลงทุนต่อ เพราะแค่ในกลุ่ม NBA ก็มีทั้ง LeBron James, Stephen Curry และ Kevin Durant ที่เปิดบริษัทด้านสื่อ แต่ Williams เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่กำหนดทิศทางการลงทุนโดยมุ่งเข้าหาดาวเด่นที่สุดดวงเดียว นั่นคือตัวเธอเอง

ฉันอยากเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเธอเล่าขณะนั่งคุยกันที่โรงแรมฉันอยากอยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน ฉันอยากเป็นแบรนด์ แทนที่จะเป็นแค่หน้าตาของแบรนด์

 

ลงทุนอย่างแตกต่าง: ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และสตาร์ทอัพระดับตั้งต้น

การกลับคืนสนามอย่างแข็งแกร่งของเธอในปีที่แล้ว หลังจากคลอดลูกช่วยส่งให้เธอกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมที่มีอะไรมากกว่าความเป็นนักกีฬา

เรื่องราวการก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดในโลกเทนนิสของสองพี่น้อง Serena กับ Venus Williams ฟังแล้วเหมือนตำนานในหนังฮอลลีวูด พ่อผิวดำที่พอมีประสบการณ์เรื่องเทนนิสอยู่บ้างสอนหนังสือให้ลูกสาวเองที่บ้านและสอนให้ตีเทนนิสบนถนนในเมือง Compton รัฐ California จนลูกๆ บุกทะลวงเข้าไปในวงการของนักกีฬาผิวขาวและครองแชมป์ได้ในที่สุด

ส่วนงานของเธอที่ Serena Ventures จะมุ่งไปที่บริษัทซึ่งก่อตั้งโดยผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย ใช่ เธอตัดสินใจเช่นนี้โดยมีเป้าหมายด้านสังคม และเธอใช้แนวทางธุรกิจแบบเดียวกับการฝึกหัดเทนนิส นั่นคือการมองหาโอกาสโดยไม่แห่ตามคนส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว วงการร่วมลงทุนของสหรัฐฯ ให้ทุนแก่สตาร์ทอัพซึ่งมีผู้นำเป็นผู้หญิงเพียง 2.3% แม้จะนับรวมบริษัทที่มีผู้ก่อตั้งทั้งหญิงและชายก็ยังคิดเป็น 10% เท่านั้น และตัวเลขยิ่งดูแย่ลงไปอีกสำหรับบริษัทที่มีผู้ก่อตั้งเป็นคนผิวดำหรือคนเชื้อสายสเปน ที่ผ่านมา Williams จึงใช้เงินลงทุน 60% ไปกับบริษัทที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงหรือคนผิวสี

Serena-Williams-Ventures-Portfolio

ทางเดียวที่จะหาบริษัทลักษณะนี้มาเข้าพอร์ตได้มากพอคือ การเข้าไปช่วยฟูมฟักตั้งแต่ระยะแรก ในบรรดาบริษัท 34 แห่งที่เธอช่วยสนับสนุนผ่าน Serena Ventures มีมากกว่า 3 ใน 4 ที่ยังอยู่ในช่วงตั้งต้น ฉันเป็นคนแบบที่ไม่ชอบเสี่ยงเอาเสียเลย แต่ฉันรู้สึกว่าเราอยากเข้าไปร่วมตั้งแต่ต้น” Williams กล่าว

แต่เนื่องจากบริษัทในช่วงก่อนจะเริ่มสร้างรายได้หรือเพิ่งเริ่มสร้างรายได้ในช่วงแรกมีความเสี่ยงมากเป็นทวีคูณ Williams จึงตั้งทีมพี่เลี้ยงด้านการลงทุนจาก Silicon Valley รอบตัวเธอ แบบเดียวกับที่โค้ช Patrick Mouratoglou ช่วยแนะนำ Williams ในคอร์ท

ทีมนี้มี Chris Lyons จาก Andreessen Horowitz เป็นทั้งที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการและเพื่อนของเธอ พี่เลี้ยงอีกคนคือ Sheryl Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Facebook

แต่มีพี่เลี้ยงคนหนึ่งที่เหนือกว่าคนอื่น เพราะนั่นคือ คนที่เธอแต่งงานด้วยฉันต้องพึ่ง Alexis เยอะเลยเธอเล่า ตอนทั้งคู่พบกันเมื่อปี 2015 Williams ไม่เคยได้ยินชื่อ Reddit มาก่อน ส่วน Ohanian ก็รู้เรื่องเทนนิสน้อยมาก แต่ทั้งสองคนผูกพันกันด้วยความทะเยอทะยาน

 

พลังของชื่อเสียงที่เข้าถึงทุกกลุ่มคน

ปัจจุบัน Williams เป็นนักกีฬาหญิงคนดังที่สุดของสหรัฐฯ แม้จะแพ้ Tom Brady กับ Tiger Woods แต่ชื่อเสียงของ Williams แทบไม่มีที่ติเลยในฐานะแบรนด์

Henry Schafer ซึ่งติดตาม Q Scores ที่เป็นคะแนนวัดความชื่นชอบคนมีชื่อเสียงกล่าวว่า เธอสามารถดึงดูดใจผู้คนได้เกินค่าเฉลี่ยในทุกกลุ่มประชากร ตั้งแต่คนรุ่นมิลเลนเนียล ผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงผู้มีรายได้สูง การอยู่กลางสปอตไลต์มา 20 ปีทำให้ Williams รู้วิธีดึงพลังความเป็นดารามาใช้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เธอคิดออกแล้วว่าจะนำพลังนี้มาใช้กับ Serena Ventures ได้อย่างไร

Serena Williams
แม้จะเพิ่งลงหวดในสนามต่อเนื่องมา 2 ชั่วโมง แต่เธอก็พร้อมแจกลายเซ็นและถ่ายเซลฟี่กับแฟนๆ ด้วยท่าทางน่าชื่นชม (PHOTO CREDIT: ESPN)

Williams พยายามลงเงินในข้อตกลงธุรกิจที่จะใช้ชื่อเสียงและแบรนด์ของเธอมาบวกกับแพลตฟอร์มแล้วทำให้ได้พายชิ้นใหญ่ขึ้น จากข้อมูลของ Hookit ซึ่งติดตามเรื่องอิทธิพลของศิลปินดังในสื่อโซเชียลพบว่า เธอมีผู้ติดตามทางสื่อโซเชียลเกือบ 30 ล้านคน และการที่เธอโพสต์ภาพตัวเองสวมสินค้าติดโลโก้ Nike ช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ตีเป็นมูลค่าได้มากกว่า 2 ล้านเหรียญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

เสียงของเธอจะดังขึ้นอีกเป็นทวีคูณ เมื่อ Williams ทำข้อตกลงทางธุรกิจกับแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นแทนที่จะเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง Nike

Georgina Gooley ผู้ร่วมก่อตั้ง Billie กล่าวว่าการได้ใช้แพลตฟอร์มของ Williams เพื่อพูดเรื่องภารกิจของเรา ถือเป็นการสนับสนุนครั้งใหญ่ที่สุดที่เราได้รับ นอกเหนือจากเงินทุนของเธอบริษัทแห่งนี้ผลิตมีดโกนสำหรับผู้หญิงและตั้งราคาโดยกำจัดภาษีสีชมพู

...waiting for Gist...

แอปหาคู่และสร้างเครือข่าย Bumble ได้ Williams มาโฆษณาให้ในปี 2019 และทั้งสองฝ่ายยังจับมือกันจัดการแข่งขันนำเสนอไอเดียสำหรับสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิง ซึ่งผู้ชนะ 2 รายจะได้รับเงินทุนจาก Serena และ Bumble

อีกทั้งเหล่าผู้บริหารของบริษัทในพอร์ตของ Serena Ventures อย่าง Daily Harvest และ The Wing ซึ่งเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซที่เน้นให้บริการลูกค้าผู้หญิง รวมทั้ง Lola แบรนด์ผ้าอนามัยแบบสอดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ต่างก็ได้มาสร้างเครือข่ายกันในงาน Bumble Fund Summit “เธอช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ให้คนอื่นได้สร้างความสัมพันธ์กันJordana Kier ผู้ก่อตั้ง Lola กล่าว

Daily Harvest อาหาร 'ซูเปอร์ฟู้ด' ที่ Williams ร่วมลงทุน เธอช่วยโปรโมตแบรนด์โดยการถ่ายคลิปผู้ติดตามของเธอกำลังทานอาหารยี่ห้อนี้ลงใน IG Stories ของตนเอง
 

กำไร 2 เท่า

บริษัทร่วมลงทุนทั่วไปจะต้องถือหุ้นจำนวนมากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมาย แต่ Williams พอใจแค่ได้โตไปด้วยกันบริษัทต่างๆ รู้ว่า Serena เป็นนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่มีคุณค่ามาก” Ohanian กล่าว

ข้อดีอีกอย่างของการเข้าร่วมลงทุนในช่วงตั้งต้นกิจการคือ แม้เธอจะเขียนเช็คไปแล้ว 34 ใบ แต่ Williams ใช้เงินกับบริษัทเหล่านี้ไปประมาณ 6 ล้านเหรียญเท่านั้น และผลตอบแทนที่ผ่านมาก็ดูดีใช้ได้

Serena Ventures กล่าวว่า บริษัทประเมินมูลค่าของการลงทุนในพอร์ตไว้มากกว่า 10 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็น 2 เท่าของเงินทุนตั้งต้น โดยบริษัทในพอร์ตเกือบครึ่งหนึ่งมีการระดมทุนรอบ 2 ไปแล้วนับจากที่ Williams เริ่มเข้าไปลงทุน และ Serena Ventures พร้อมทำกำไรด้วยการขายหุ้นเพื่อออกจากกิจการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ Unilever ประกาศว่ามีแผนจะซื้อบริษัทอาหารเสริม Olly Nutrition

อีกทั้งบริษัท 5 แห่งที่เธอลงทุนก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 เท่า ซึ่งกลุ่มที่กิจการดีที่สุดนั้นรวมถึง Billie, Daily Harvest, MasterClass และ The Wing

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Serena Ventures ยังเปิดตัวไลน์เสื้อผ้าที่บริษัทลงทุนเองเพื่อขายให้ผู้บริโภคโดยตรงคือ S by Serena ก่อนหน้านั้น เธอมัวแต่รอให้ใครสักคนมาลงทุนเปิดบริษัทเพื่อให้เธอออกแบบเสื้อผ้า แต่เธอกล่าวว่าฉันคิดผิดทาง ฉันต้องลงทุนกับตัวฉันเอง

 
View this post on Instagram
 

A post shared by Serena Williams (@serenawilliams) on

...waiting for Gist...

ไลน์ของเธอก็ได้แรงส่งเพิ่มอีกในเดือนตุลาคม เมื่อมีคนเห็น Meghan Markle ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Williams สวมเสื้อเบลเซอร์จากคอลเล็คชั่น “Boss” ของเธอ ทำให้เสื้อรุ่นดังกล่าวขายหมดจากเว็บไซต์อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ Williams ยังมีแผนจะเปิดตัวไลน์สินค้าอัญมณี S by Serena ในปีนี้ และไลน์ผลิตภัณฑ์เสริมความงามอีกหนึ่งไลน์ในปี 2020

เนื่องจากงานค้าขายทั้งหมดนี้ Williams จึงกล่าวว่าเธอจะลดตารางเวลาการอยู่ในคอร์ทลง แต่สำหรับ Serena Ventures เธอได้วางรากฐานเพื่อการลงแข่งตลอดชีวิตเอาไว้แล้วฉันอยากอยากสร้างแบรนด์ที่อยู่ได้นาน คล้ายอาชีพการงานของฉัน เธอกล่าวไม่ต้องหวือหวา ไม่ใช่มาแล้วก็ไป ไม่ต้องเป็นเทรนด์ แต่มั่นคง เหมือนการเล่นเทนนิสของฉัน

 

เรื่อง: Kurt Badenhausen เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง


คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็ม “กำไรของ Serena” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine