เงินมหาศาลกับการบุกเบิก “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” เพื่อคนรุ่นถัดไป - Forbes Thailand

เงินมหาศาลกับการบุกเบิก “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” เพื่อคนรุ่นถัดไป

อย่าถูกหลอกเด็ดขาด นวัตกรรมอย่างเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลอง (Lab-grown Meat) หรือที่คนวงในอุตสาหกรรมเรียกกันว่า “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultivated Meat หรือ Cultured Meat)” นั้นอาจไม่ใช่เรื่องราวการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการบุกเบิกธุรกิจใหม่สำหรับคนรุ่นถัดไป

    

    นักลงทุนต้องการให้คุณเชื่ออีกอย่าง แม้ว่าพวกเขาจะมีสิทธิรู้สึกวิงเวียนที่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ Good Meat และ Up-side Foods ในสหรัฐอเมริกาจะได้ไฟเขียวจากกระทรวงเกษตร (USUA) และองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ให้ขายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้ ยังคงมีปัจจัยอันหลากหลายที่จะขัดขวางการยอมรับและเติบโตของเนื้อสัตว์ชนิดใหม่นี้
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ตลอดห้าปีมานี้ เงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถูกใช้ไปกับการพัฒนาสตาร์ทอัพกว่า 100 รายในอุตสาหกรรมดังกล่าว และพวกเขาจะยังต้องการอีกหลายพันล้านเลยทีเดียว

    ภาคส่วนนี้ “จำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นในการก้าวออกมาพูดว่า เราไม่ได้แค่กำลังดำเนินการ แต่เรากำลังดำเนินการในมุมที่ท้าทายที่สุดนั่นเพื่อนำสิ่งนี้มาสู่ตลาด นั่นคือเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับ” Lisa Feria ซีอีโอแห่งบริษัทลงทุน Stray Dog Capital จากเมืองแคนซัสเผยกับ Forbes
“การขยายฐานเข้าไปสู่ตลาดยังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญมันมีราคาที่แพงมาก” เธอกล่าว

    ด้านล่างนี้คือปัจจัยบางส่วนที่จะบอกเล่าเส้นทางอันยาวไกลจากการได้รับอนุญาตด้านระเบียบข้อบังคับ จนมาถึงจานอาหารของครอบครัวอเมริกัน

    

ราคาสูงก็จริง แต่ยังไม่สูงพอจะเปลี่ยนเป็นกำไร

    

    เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองอาจมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยก็หลายพันหรืออาจถึงหลักแสนต่อออนซ์ในการผลิต อย่างไรก็ตามแบรนด์ต่างๆ ตัดสินใจยอมรับผลขาดทุนมากมายเหล่านี้เพื่อให้ราคาอาหารจากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีมูลค่าเทียบเท่าเนื้อวัวและเนื้อไก่ธรรมดาที่ลูกค้าต่างก็คุ้นเคยกันดี

    อาหารจานแรกจากเนื้อไก่เพาะเลี้ยงของ Upside จะเปิดตัวที่ร้านอาหาร Bar Crenn ใน Bay Area ของเชฟดาวมิชลิน Dominique Crenn

    ส่วน Good Meat จะขายที่ร้าน China Chilcano ของเชฟ Jose Andres ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี.

    โดย Andres เป็นผู้ถือหุ้น ส่วน Crenn ก็เซ็นสัญญาหลายปี แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการให้ลูกค้าหัวระเบิดตอนมองไปยังฝั่งขวาของเมนูอาหารหรอกนะ ถ้าคิดจะขายด้วยราคาเท่าเนื้อสัตว์ปกติ ก็เตรียมขาดทุนได้เลย

    ​

    ห้องทดลองสังเคราะห์เนื้อสัตว์ของสตาร์ทอัพ Eat Just

    

เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองอาจทำเงินไม่ได้

    

    ระดับราคาของเนื้อสัตว์สังเคราะห์อาจฟังดูยุติธรรม เพราะการมอบความอร่อยให้ผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้นถือเป็นธุรกิจที่ดี แต่ท้ายสุดแล้วสามารถทำร้ายแบรนด์ได้

    โครงสร้างต้นทุนคาดว่าจะร่อแร่อยู่หลายปี อาจนานหลายสิบปี และหลายรายที่พยายามลงทุนกับเนื้อสัตว์สังเคราะห์เป็นครั้งแรกก็อาจไม่มีวันได้เห็นวันที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำกำไรได้
“ความสามารถในการทำกำไรคงอยู่ได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะความท้าทายครั้งใหญ่เบื้องหน้าพวกเขาคือเราจะสามารถผลิตให้ได้หลายล้านตันต่อปีและแข่งขันกับเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมได้สักนิดหรือเปล่า?” Feria กล่าว

    เธอสนับสนุน Upside Foods และบริษัทผลิตเนื้อสังเคราะห์รายอื่นๆ และคาดการณ์ว่าสตาร์ทอัพมากมายจะควบรวมกิจการกันหรือไม่ก็ถูกซื้อโดยบริษัทเนื้อรายใหญ่อย่าง Ty-son และ JBS ในท้ายที่สุด

    

การเพาะเลี้ยงไม่ได้มีราคาถูก

    

    ในการสังเคราะห์ชิ้นเนื้อในห้องทดลอง ผู้ผลิตใช้สิ่งที่เรียกว่าถังปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เดียวกับที่บริษัทยาใช้ในการผลิตวัคซีน มันมีราคาแพงและต้องรอคิวซื้อยาวนาน การสร้างโรงงานเพื่อหาที่วางถังปฏิกรณ์ชีวภาพก็มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน

    Josh Tetrick ซีอีโอแห่ง Good Meat กล่าวว่า โรงงานที่สามารถผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้ 30 ล้านปอนด์นั้นอาจมีค่าใช้จ่ายมากถึง 650 ล้านเหรียญ

    Feria เผยว่าหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เธอร่วมลงทุนไปนั้นได้ประเมินมูลค่าโรงงานได้อย่างน้อยๆ ก็ 450 ล้านเหรียญ บรรดานักลงทุนจะต้องขุดให้ลึกลงกว่านี้ต่อไป

    

รสชาติมันจะเหมือนไก่ไหม?

     

    Feria กล่าวว่าเธอให้คำแนะนำทุกคนที่พร้อมยอมรับฟังว่าอย่าเพิ่งรีบนำอาหารชนิดใหม่นี้เข้าสู่ท้องตลาด

    “มันจะส่งผลกระทบต่อหมวดหมู่สินค้าอย่างมาก ผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่คนเราต้องเอาใส่ปากเป็นอย่างแรก” เธอบอก “ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ฉันอยากให้ทุกคนต้องอ้าปากค้าง”

    ​

    ไก่สะเต๊ะทำจากเนื้อไก่สังเคราะห์โดย Good Meat

    

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงใช่ว่าจะมีความจำเป็นต่อสิ่งแวดล้อม

    

    จริงอยู่ที่วิธีการแบบเดิมในการนำเนื้อสัตว์เข้ามาขายในตลาดขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ ทว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองก็นำเสนอปัญหาที่ต่างออกไปเล็กน้อย นั่นคือมันผลาญพลังงานมหาศาล

    ยังไม่มีผลวิจัยเรื่องนี้ออกมามากนัก โดยเฉพาะผลวิจัยที่ไม่ได้สนับสนุนทุนโดยสตาร์ทอัพหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาสองสามชิ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ชี้ว่ามีเหตุควรแก่ความกังวล

    องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Good Food Institute แห่งวงการอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกเพิ่งออกมากล่าวอ้างเมื่อไม่นานมานี้ว่า ภายในสิบปี เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเนื้อวัวแบบเดิม หากนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้

    การศึกษาของพวกเขาประมาณการปล่อยคาร์บอนลดลงราว 80% ที่ดินที่ถูกใช้งานอย่างหนักก็จะลดลงด้วยเช่นกัน แต่หากการสังเคราะห์เนื้อใช้แหล่งพลังงานดั้งเดิมในปริมาณเท่ากัน การศึกษาในปี 2015 พบว่ามันจะส่งผลร้ายแรงต่อโลกมากกว่าการผลิตเนื้อแบบเดิมมหาศาล

    มีอีกรายงานที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 เพราะต้องรอการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ นักวิจัยพบว่าผลกระทบของเนื้อสัตว์สังเคราะห์อาจแย่กว่าการขายเนื้อวัวตามปกติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตคิดเป็น 4 ถึง 25 เท่า

    แน่นอน ทางอุตสาหกรรมควรจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ทว่าแผนการของโรงงานส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับพลังงานชาติ ซึ่งก็มีผู้ใช้งานมากจนล้นอยู่แล้ว ทั้งยังมีไว้เพื่อโครงสร้างสาธารณะต่างๆ เป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อธุรกิจที่จะไม่มีวันทำกำไร

    

เนื้อสัตว์สังเคราะห์ไม่ได้ดีต่อสุขภาพมากเสียจนต้องกิน

    

    บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าโปรตีนเพาะเลี้ยงเหล่านี้สามารถนิยามว่าเป็นอาหารแปรรูปสูง (Ultra-processed) ซึ่งนักวิจัยของทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) และสหประชาชาติ (UN) คอยเตือนกันมาหลายต่อหลายปี

    ผลการศึกษาหลายชิ้นยังแสดงความเชื่อมโยงกับมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่มากับอาหารแปรรูปสูงบางชนิด ณ ตอนนี้ยังคงเร็วไปที่จะมีผลวิจัยว่าด้วยผลกระทบระยะยาวจากการรับประทานโปรตีนชนิดใหม่ หรือผลจากสร้างสารอาหารในสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อให้มนุษย์บริโภค

    ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณเงินที่นักลงทุนอัดฉีดเข้าไปก็ไม่ได้ช่วยให้ใครอยากจะมาวิจัยเรื่องพวกนี้ ทุกอย่างจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ ด้วยความจงใจ

    Adrian Rodrigues วาณิชธนากรจากวอชิงตันผู้ก่อตั้ง Provenance Capital บอกกับ Forbes ว่า “นั่นสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อความปริมาณกังวลในการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสร้างความมั่นใจจะไม่ได้มีเพียงการทดสอบระยะสั้น แต่รวมถึงการทดสอบในระยะยาวหลายปีด้วย”

    ​

    เนื้อไก่สังเคราะห์โดย Upside Foods

    

สงครามสิทธิบัตรลุกลาม

    

    ผู้ริเริ่มโปรตีนจากพืช Impossible Foods และ Motif FoodWorks ต่างก็สู้รบอยู่ในสงครามอันยืดเยื้อ (แต่ไม่ดุเดือดเลือดพล่าน) เพื่อแย่งชิงสิทธิในการผลิตเบอร์เกอร์ปราศจากเนื้อสัตว์อย่างถูกต้อง

    สิ่งเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในวงการเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง แต่ละสตาร์ทอัพเป็นเจ้าของสูตรของตัวเอง บางรายก็มีสิทธิบัตรคอยสนับสนุน บางรายก็เป็นความลับทางการค้า

    Rodrigues เรียกสตาร์ทอัพเนื้อสัตว์สังเคราะห์ว่าเป็น “บริษัทลงทุนสูงเกินไปที่ดูเหมือนจะมุ่งเน้นการไขว่คว้าทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อที่จริงๆ เป็นการวางรากฐานสิ่งที่ได้จากการให้ความสำคัญทรัพย์สินทางปัญญา”

    

เนื้อสัตว์สังเคราะห์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกี่ยวกับอาหารเลย

    

    ชาวอเมริกันสี่สิบล้านคนไม่ได้รับประทานอาหารเพียงพอ และเนื้อสัตว์สังเคราะห์ก็ไม่อาจช่วยบรรเทาภาระเหล่านี้ลงได้แม้แต่นิดเดียว ด้วยค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงเกินไป และอาจไม่มีวันลดลงมามากพอ

    นั่นหมายความว่านักลงทุนต่างก็ตั้งเป้าไว้ที่เนื้อสังเคราะห์ระดับสูงยิ่งกว่าสูงกันเท่านั้น ไม่ว่าจะริบอาย สันใน และหางลอบสเตอร์ซึ่งขายได้ราคามากกว่าอาหารทั่วไปอย่างนักเก็ตไก่หรือเบอร์เกอร์
คนส่วนใหญ่แล้วไม่มีทางจ่ายเงิน 50 เหรียญให้กับเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์สังเคราะห์หรอก แต่บางคนอาจถูกดึงดูดให้เสียเงินกับริบอาย นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีนี้ได้รับทุนสนับสนุนและขยับขยายส่วนใหญ่ก็เพื่อการบริโภคของพวกคนมีเงิน ให้สี่สิบล้านคนที่หิวโหยนั้นกินเค้กสังเคราะห์เอาก็แล้วกัน

    

    แปลและเรียบเรียงจากทความ Everything You Need To Know About Lab-Grown Meat Now That It’s Here ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : 5G จ่อโตขึ้น 10 เท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี 2573

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine