ในยุคที่กลยุทธ์การลงทุนเน้นคุณค่าที่เคยได้รับความไว้วางใจมายาวนานต้องหลีกทางให้กับบรรดาผู้จัดการการลงทุนเชิงปริมาณที่เน้นการเติบโตแบบหวือหวา วิธีการของ John W. Rogers Jr. ที่ไม่เหมือนใครและต้องอาศัยความอดทนเป็นสำคัญนั้นแสดงให้เห็นแล้วว่า มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น ท่ามกลางแรงกระเพื่อมจากพายุที่โถมเข้าใส่ตลาดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
กองทุนหลักของเขาคือ Ariel Fund มูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1986 และกลายเป็นกองทุนที่มีการบริหารงานยาวนานที่สุดในกลุ่มมูลค่าทุนขนาดกลางจากการจัดอันดับของ Morningstar นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง Ariel Fund ทำผลตอบแทนประจำปีเฉลี่ย 10.5% สูงกว่าดัชนี Russell 2500 Value Index และ S&P 500 เล็กน้อย แต่ยังนับว่าไม่ยุติธรรมเลยสำหรับบริษัทที่มุ่งมั่นสร้างผลงานระดับดาวเด่น ขณะที่หุ้นกำลังฟื้นตัวจากตลาดหมีอันย่ำแย่เหมือนกับที่นักลงทุนต้องเผชิญในปี 2022 บททดสอบแรกของ Ariel Fund เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ปี 1987
ในเหตุการณ์ตลาดล่มที่รู้จักกันในชื่อ “Black Monday” เวลานั้น Rogers อายุเพียง 29 ปี เขากระหน่ำโทรศัพท์หาลูกค้าและโบรกเกอร์ทั้งที่อยู่ระหว่างหารือกับนักจัดงานแต่งงาน เพื่อแจ้งข่าวว่า จู่ๆ หุ้นก็ราคาถูกลง นักลงทุนควรซื้อเก็บเพิ่มเติม Ariel สร้างผลงานดีกว่าใครด้วยผลตอบแทนเป็นเลข 2 หลักในปี 1987
หลังสิ้นสุดภาวะฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000 Ariel Fund สร้างผลงานอลังการอีกครั้งด้วยผลตอบแทน 29% ในปีนั้น และ 14% ในปี 2001 ช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 Rogers ยังคงเดิมพันในหุ้นเช่นเดียวกับบริษัทลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่าง CBRE Group และค่ายหนังสือพิมพ์ Gannett จนขาดทุน 48% ก่อนจะกลับมาทำกำไร 63% ในปี 2009 ปีที่แล้ว Ariel Fund ต้องเผชิญสถานการณ์อันแสนสาหัสอีกครั้งด้วยผลตอบแทนที่ลดลง 19% เปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิงอย่าง Russell 2500 Value Index ที่ปรับตัวลดลง 13% โดยมากเป็นเพราะ Ariel Fund ถือหุ้นกลุ่มพลังงาน (แชมป์ประจำปี 2022) เพียงไม่กี่ตัว และยังทุ่มน้ำหนักให้กับหุ้นกลุ่มมีเดียและความบันเทิงที่สร้างผลตอบแทนต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ Ariel Fund ลงทุน 39% ในกิจการที่ Rogers เป็นผู้ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรก ซึ่งสไตล์การลงทุนที่เต็มไปด้วยความมั่นใจและกระจุกตัวเฉพาะกิจการเพียงไม่กี่กลุ่มกลับกลายเป็นความเสี่ยงมหันต์
“นับเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และ 2009 เป็นต้นมา หุ้นหลายตัวราคาลดลงอย่างเหลือเชื่อ” Rogers กล่าว เขาหลงใหลการลงทุนมาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี เมื่อพ่อของเขาเริ่มยกหุ้นให้เป็นของขวัญวันเกิดและของขวัญวันคริสต์มาส Rogers ตกหลุมรักหุ้นที่ไม่มีใครต้องการ อันเป็นแนวคิดที่ได้รับการส่งเสริมที่ Princeton ซึ่งเขามีนักเศรษฐศาสตร์ Burton Malkiel เจ้าของหนังสือการลงทุนในตำนาน A Random Walk Down Wall Street เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
เวลานี้หุ้นตัวโปรดของ Rogers คือหุ้นที่ Ariel ถืออยู่มากที่สุด นั่นคือ Madison Square Garden Entertainment ซึ่งมีสัดส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีเพียง 0.89 เท่า (P/B) เขาเชื่อมั่นในพลังของสถานที่ที่มีชื่อเสียงทั้ง Madison Square Garden เอง และ Radio City Music Hall และยังรู้สึกตื่นเต้นเสมอเวลาพูดถึง MSG Sphere สถานบันเทิงมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญที่มีกำหนดเปิดตัวที่ Las Vegas ปลายปีนี้
นอกจากนี้ เขายังมองว่า Wall Street ประเมินมูลค่า MSG Network (เครือข่ายเคเบิลประจำภูมิภาคที่ได้สิทธิถ่ายทอดการแข่งขันของทีม New York Knicks และ New York Rangers) ต่ำเกินไป “สักวัน Knicks จะกลับมาเป็นแชมป์อีกสมัย” อดีตกัปตันทีมบาสเกตบอลของ Princeton กล่าว โดยครั้งหนึ่งเขาเคยเอาชนะ Michael Jordan ในการแข่งขันแบบตัวต่อตัวมาแล้ว
Rogers ยังมีหุ้นใน Paramount Global บริษัทแม่ของ CBS ที่ยังคงต้อนรับผู้ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาและรายการ 60 Minutes อย่างล้นหลาม นอกจากนี้ ยังมีบริการ Paramount Plus ที่เผยแพร่ภาพยนตร์ดังอย่าง Top Gun: Maverick รวมถึง Mission: Impossible ที่เตรียมเข้าฉายในปีนี้ “Sumner Redstone พูดอยู่เสมอว่า "คอนเทนต์คือราชา"
ขณะที่ Shari ลูกสาวของเขาก็เชื่อมั่นอย่างเดียวกัน” Rogers กล่าว เขาเสริมด้วยว่า ในขณะที่นักลงทุนห่วงแต่จะทำสงครามสตรีมมิ่ง พวกเขากลับประมาท Paramount ที่เข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก และประเมินมูลค่าแบรนด์ต่างๆ ของ Paramount ต่ำเกินไป ไม่ว่าจะเป็น BET Networks หรือ Showtime “พวกเขาจะหาวิธีทำเงินจากสุดยอดคอนเทนต์เหล่านี้”
นอกจากกลุ่มมีเดียและความบันเทิงแล้ว Rogers ยังปันใจให้กับหุ้นในกลุ่มบริการทางการเงิน เช่น วาณิชธนกิจอย่าง Lazard ซึ่ง Ariel เข้าไปเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2009 และบริษัทลงทุนในหุ้นเอกชนนอกตลาดอย่าง The Carlyle Group เขาชอบที่หุ้นเอกชนนอกตลาดสามารถสร้างผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมได้อย่างคงเส้นคงวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง KKR หุ้นโปรดของ Ariel ก่อนที่ KKR จะเติบโตเกินไปสำหรับกองทุนกลุ่มมูลค่าทุนขนาดกลางและเล็ก ทำให้เขาตัดสินใจขายออกไปในเวลาต่อมาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยเป็นกิจการอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะขัดใจคนอื่นๆ
แต่ Rogers เดิมพันว่าจะเติบโตอย่างน่าประหลาดใจในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า Ariel มีตำแหน่งอยู่ในบริษัทผลิตแผ่นปูพื้นอย่าง Mohawk Industries และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งเข้าซื้อหุ้นของ Generac ผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกครั้ง แม้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 Generac ยังคงมีผลการดำเนินงานอย่างโดดเด่น ส่งผลให้ Ariel ทำกำไรจากหุ้นดังกล่าวได้ถึง 4 เท่าตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ถึงเดือนธันวาคม ปี 2020
เวลานี้ Generac มีราคาหุ้นลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ถึง 80% แต่ Rogers ยังคงมองว่าเป็นช่วงเวลาสุกงอมพอดีที่จะดีดตัวกลับมา ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไฟฟ้าดับจากพายุเฮอร์ริเคนและไฟป่า ยิ่งทำให้ลูกค้าเร่งซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า -- H.T. และ M.A.
อ่านเพิ่มเติม : ความหวังใหม่ของธุรกิจคนผิวสี