วิกฤตพลังงานในยุโรปกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการเปลี่ยนผ่าน - Forbes Thailand

วิกฤตพลังงานในยุโรปกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Mar 2023 | 05:17 PM
READ 1086

สงครามในยูเครนผลักดันให้ความมั่นคงทางพลังงานกลายเป็นวาระสูงสุดของโลกตะวันตก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่โลกตะวันตกให้ความสำคัญกับการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มาเป็นลำดับต้นๆ ในรอบหลายสิบปี


    ถือเป็นข่าวดีในระยะยาว เนื่องจากมันจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นไม่ใช่การละทิ้งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมอย่างปุบปับแล้วหันไปใช้พลังงานทดแทน โดยที่ยังไม่ถึงเวลาอันเหมาะสม

    เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปซึ่งได้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดก้าวหน้ามากที่สุด เมืองหลวงอย่าง Brussels และเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วทวีป ยอมรับว่าปัญหาชวนวิตกกังวลสูงสุด ณ เวลานี้ คือ การหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางเลือกเพื่อมาแทนที่ท่อส่งก๊าซจากรัสเซีย

    นัยยะเหล่านี้ถือเป็นผลดีต่อบรรดาบริษัทน้ำมันนานาชาติทั้งหลายก่อนเกิดเหตุสงครามในยูเครน บริษัทน้ำมันต่างๆ ในยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากบรรดานักลงทุนที่ต้องการให้พวกเขาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่สามซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า “Scope 3” ที่นิยามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้บริโภคจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

    แนวคิดดังกล่าวเป็นการผลักภาระการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้บริโภคมาตกกับผู้ผลิตซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ชาญฉลาดเอาเสียเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วนั้น บริษัทน้ำมันและก๊าซแค่ตอบรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงของผู้บริโภคเท่านั้น หากสังคมต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นแบบคาร์บอนต่ำ หรือปราศจากคาร์บอน ก็ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการออกนโยบายและกฎหมาย ไม่ใช่การบังคับให้บริษัทเอกชนต้องแบกรับภาระนี้

    ถึงกระนั้น ตลอดหลายปีมานี้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันลำดับต้นๆ ของยุโรปอย่าง Shell, BP และ TotalEnergies ต่างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าผู้ถือหุ้นและสังคมในวงกว้างเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่สาม ซึ่งทางบริษัทต่างตอบรับโดยการตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขาลง

    ซึ่งมีความหมายในทางปฏิบัติว่าเหล่าผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของยุโรปต่างให้คำปฏิญาณที่จะระงับอัตราการเติบโตของตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงการลดการผลิตน้ำมันและก๊าซในปีต่อๆ ไป ว่ากันตามตรงคือ การลดการปล่อยก๊าซฯ ในเงื่อนไขที่สามกลายมาเป็นข้อผูกมัดในการลดกำลังการผลิตนั่นเอง

    สถานการณ์ในตอนนี้เห็นได้เด่นชัดสุดจาก BP บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและใหญ่ที่สุดในอังกฤษ เคยให้คำมั่นว่าจะลดการผลิตน้ำมันลงให้ได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในการแก้ปัญญาการปล่อยก๊าซฯ ในขอบเขตที่สาม แต่ไม่ต้องห่วงว่า BP จะบรรลุแผนการนี้ด้วยการขายสินทรัพย์ในการผลิตน้ำมันให้กับบริษัทอื่น (ที่อาจจะไม่ได้เผชิญความกดดันจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แล้วออกจากธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล

    การดำเนินการซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซฯ ในวงการผลิตน้ำมันโลกถือเป็นเรื่องตลกร้ายที่ยุโรปต้องควานหาทางออก ภายหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2022 ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานอย่างฉับพลัน

    ตลอดปีที่ผ่านมา ฝั่งนักลงทุนพยายามผ่อนคลายแรงกดดันเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อบริษัทน้ำมันต่างๆ ในขณะที่บางประเทศอย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงมุ่งหน้าเย้ยหยันความมั่นคงทางพลังงานผ่านนโยบาย ต่างๆ อาทิ การเก็บภาษีพิเศษ (windfall profit tax) จากการที่อุตสาหกรรมพลังงานทำกำไรได้สูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามในยูเครน

    แรงกดดันเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซฯ ในเงื่อนไขที่สามซึ่งบรรเทาลงในตลาดทางการเงิน เปิดโอกาสให้บริษัทน้ำมันในยุโรปต่างก็ขยับตัวได้ง่ายขึ้นในการรับมือกับสภาพความเป็นจริงทางการเมือง ณ ขณะนี้


    ตั้งแต่ BP ได้ปรับกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โลกหลังสงครามในยูเครนจบลง ทางบริษัทได้ยืดระยะเวลาของแผนการออกไปเพื่อจัดการกับสินทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ หลังจากปฏิญาณใหม่ว่าจะลดการผลิตลง 25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะลงทุนพิเศษ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีในส่วนต้นน้ำของการผลิตน้ำมันและก๊าซ

    ผลตอบรับจากนักลงทุนออกมาดีเกินคาด หุ้น BP พุ่งทะยาน 17 เปอร์เซ็นต์หลังมีประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Wael Sawan ซีอีโอของ Shell ถึงกำลังทบทวนแผนการของบริษัทในการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตลอดทศวรรษนี้และยิ่งไม่น่าแปลกใจเมื่อเร็วๆ นี้ Shell มีการชั่งน้ำหนักแผนการจะนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ของสหราชอาณาจักรและย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาแทน

    หุ้นบริษัทน้ำมันต่างๆ ในยุโรปถูกซื้อขายในมูลค่าต่ำยิ่งกว่าลดราคาเมื่อเทียบกับบริษัทในสหรัฐฯ ความเป็นจริงอันน่าผิดหวังนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้

    นักเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นยุโรปต่างก็ผลักดันให้บริษัทน้ำมันต่างๆ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างสุดโต่ง ทำให้บริษัทเหล่านั้นจำต้องลงทุนสูงในพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนแต่ผลตอบแทนต่ำ มูลค่าหุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ในยุโรปตกต่ำ

    แต่กับอีกฟากของโลกบริษัทรายใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น ExxonMobil, Chevron, ConocoPhillips และ Occidental ต่างยินดีกับการประเมินมูลค่าหุ้นของตนมากกว่าคู่แข่งในยุโรป เพราะพวกเขามีความต้านทานต่อแรงกดดันจากสังคมในการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสูงกว่า
นักลงทุนสหรัฐฯ คาดหวังให้บริษัทน้ำมันและก๊าซทำในสิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือการผลิตน้ำมันและก๊าซด้วยต้นทุนต่ำสุดและก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ให้น้อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

    บริษัทรายใหญ่อันมีฐานที่ตั้งในสหรัฐฯ ต่างก็มุ่งเน้นลดคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่หนึ่งและสองซึ่งพวกเขาสามารถควบคุมได้ เพราะเป็นการปล่อยก๊าซฯ จากการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ใช่การปล่อยก๊าซฯ ในขอบเขตที่สามซึ่งเกิดจากผู้บริโภคซึ่งอยู่เหนือการควบคุม

    บริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ เหล่านี้ยังลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานหลักในการผลิตน้ำมันและก๊าซ การกลั่น และงานด้านปิโตรเคมีอื่นๆ ทั้งหมดนี้ยังรวมถึงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS), เชื้อเพลิงชีวภาพ, ไฮโดรเจน และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ที่ช่วยยกระดับสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมของเชื้อเพลิงฟอสซิล

    ทิศทางที่กล่าวมาเหล่านี้ยังเป็นกลยุทธ์ของ ExxonMobil ตลอดมา ใครจะมาว่าพวกเขาที่ต้องการเป็นสุดยอดบริษัทน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกไม่ได้

    กลยุทธ์ดังกล่าวของค่ายผู้ผลิตน้ำมันลำดับต้นๆ ของโลก เป็นคำอธิบายที่ดีว่าเหตุใดจึงไม่ค่อยได้เห็นบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ ซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือกังหันลมผลิตไฟฟ้า คำตอบง่ายๆ คือมันไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญนั่นเอง

    ผู้เกี่ยวข้องในวงการตลาดทุนต่างๆ กำลังส่งสัญญาณถึงบรรดาบริษัทน้ำมันและผู้กำหนดนโยบายว่าโมเดลธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เป็นแบบอย่างกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่ดี ผม (ผู้เขียนบทความ) ขอเพิ่มเติมว่ามันมีความเป็นไปได้สูงสุดด้วย ผู้เกี่ยวข้องจากยุโรปคงเริ่มจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่พวกเขาได้บทเรียนราคาแพงนี้จากสงครามและวิกฤตพลังงาน

บทความโดย
Dan Eberhart
ซีอีโอ Canary, LLC.

แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Energy Crisis Raises Doubts About Energy Transition Strategies ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine