แม้จะมีการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่ Jim Thompson แห่ง Crown Worldwide ก็สามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจจัดเก็บเอกสาร
เกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่วลี “สังคมไร้กระดาษ” ได้ถือกำเนิดขึ้น แต่ปัจจุบันโลกกลับผลิตกระดาษมากขึ้นกว่าเดิม และนั่นก็ยิ่งเอื้อประโยชน์ให้เศรษฐีพันล้านจากฮ่องกงอย่าง Jim Thompson ปัจจุบัน Thompson ในวัย 83 ปี ได้สร้างความหลากหลายให้เครือธุรกิจของเขาที่ชื่อ Crown Worldwide นอกเหนือจากการขนย้ายซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และเขายังได้พบตลาดเฉพาะทางที่คาดไม่ถึงและทำกำไรงาม นั่นคือการให้บริการที่มีมานานอย่างการจัดเก็บเอกสาร
ธุรกิจขนย้ายยังคงเป็นช่องทางที่สร้างรายได้มากที่สุด คิดเป็น 45% ของรายได้รวม 824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว แต่ธุรกิจที่ทำกำไรมากที่สุดคือการจัดเก็บบันทึก ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บกระดาษกองเท่าภูเขาให้ลูกค้า ซึ่งคิดเป็น 29% ของกำไรสุทธิในปีที่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจขนย้ายทำกำไรเพียง 16% (เนื่องจากเป็นบริษัทนอกตลาด Crown จึงไม่ได้เปิดเผยตัวเลขกำไร)
แม้จะมีการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลมากขึ้นและมีการลงทุนหลายพันล้านเพื่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลใหม่ (data centers) ทั่วโลก แต่ที่ย้อนแย้งคือบันทึกที่เป็นกระดาษกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย “ธุรกิจการจัดเก็บเอกสารของเราก็เติบโตเช่นกัน” Thompson ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญ และอยู่ในทำเนียบ World,s Billionaires ของ Forbes ปีนี้กล่าว ความร่ำรวยของเขามาจากการเป็นเจ้าของ Crown แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นปี 1965 ด้วยเงินลงทุนไม่ถึง 1,000 เหรียญ
ประธานกรรมการบริหารของ Crown ผู้นี้มองว่าบริการจัดเก็บเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถชดเชยรายได้จากธุรกิจขนย้ายซึ่งมีงานเป็นช่วงฤดูกาล และส่วนใหญ่จะเป็นช่วงฤดูร้อน เป็นเวลาหลายปีที่โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักแต่ธุรกิจขนย้ายไม่ได้รับผลกระทบเลย อันที่จริงมันกลับตรงกันข้าม Crown บอกว่า มีการย้ายที่อยู่ข้ามประเทศถึง 45,000 ครั้งในปีที่แล้วซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ธุรกิจจัดเก็บกระดาษอยู่ภายใต้หน่วยงาน Crown Records Management ที่ดำเนินงาน 365 วันต่อปี ซึ่งตรงข้ามกับธุรกิจการเคลื่อนย้ายผู้คนและของใช้ส่วนตัว เพราะมันคือการเก็บสินค้าให้อยู่กับที่และปลอดภัย “กล่องพวกนี้สร้างรายได้และรายรับอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ถ้ามองแง่นั้นก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ดีเพราะมีรายได้ที่มั่นคงมาก” Thompson บอกตอนให้สัมภาษณ์ในโกดังแห่งแรกที่เขาตั้งในเขต Sha Tin ตรงดินแดนใหม่ของฮ่องกง “และนี่มันเกี่ยวกับด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย”
Thompson เป็นเจ้าของโกดังอุตสาหกรรมติดแอร์ 74 แห่งใน 48 ประเทศ และมีให้เช่าอีก 105 แห่ง ธุรกิจของ Crown ไม่ได้จัดเก็บแค่กระดาษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องสำอาง น้ำหอม เสื้อผ้าระดับกูตูร์และงานศิลปะ นอกจากนี้ ยังมีชั้นเก็บไวน์ 1.1 ล้านขวดอีกด้วย ในตู้และห้องนิรภัยควบคุมอุณหภูมิมีซีดีรอมและเทปแม่เหล็กรวม 1.4 ล้านชิ้น
สำหรับเอกสารที่เป็นกระดาษ Thompson เริ่มธุรกิจนี้ในปี 1984 โดยมีกล่องสำหรับจัดเก็บ 25,000 กล่อง แต่ละกล่องมีความจุ 1.1 ลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมีประมาณ 50 ล้านกล่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าจะถึง 52 ล้านกล่องภายในปี 2025
บริษัทต่างๆ เก็บหลักฐานเป็นเอกสารด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายภายใน ข้อกำหนดของรัฐบาล หรือการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้น กระดาษยังเป็นวิธีบันทึกข้อมูลที่ถาวรและปลอดภัยกว่า ต่างจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกดัดแปลงได้ง่าย
Thompson กล่าวเพิ่มว่า ในฮ่องกงสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องกันจะต้องถูกเก็บไว้ 7 ปี และไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทต่างๆ จะเลือกเก็บไว้ 12 ปี ธนาคารบางแห่งมีกฎภายในให้เก็บระเบียนในรูปกระดาษนานถึง 15 ปี
เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้อาจไม่มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บกระดาษทั้งหมด พวกเขาจึงจ้าง Crown เพื่อจัดเก็บให้ “มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการมีอินเทอร์เน็ต และส่วนมากอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่ก็มาลงเอยบนกระดาษและเอกสารที่เป็นกระดาษเหล่านั้นก็ถูกเก็บไว้” Thompson กล่าว “ดังนั้นจึงเติบโตทั้งคู่”
ทั้งนี้เพื่อรับมือกับธุรกิจจัดเก็บที่กำลังขยายตัว Thompson ได้ไล่ซื้อบรรดาอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากราคาอสังหาฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหลายๆ ที่อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ตอนที่เขาสร้างโกดัง 4 ชั้นที่ Sha Tin บนที่ดินที่ซื้อในปี 1985 มันเคยเป็นหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดในละแวกนั้น แต่ปัจจุบันถูกบดบังด้วยตึกสูงสำหรับการพาณิชย์และที่อยู่อาศัย
Thompson บอกว่า ธุรกิจด้านอสังหาฯ นั้นคิดเป็น 15% ของกำไรสุทธิของ Crown Worldwide ในปีที่แล้ว โดยหน่วยงานอสังหาฯ ของ Crown มีการปล่อยเช่าพื้นที่โกดังให้กับบริษัทจัดเก็บบันทึกในเครือ และด้วยพอร์ตอสังหาฯ มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ บรรดานายธนาคารได้เสนอให้ Thompson จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แต่เขาปฏิเสธไป เพราะต้องการเป็นบริษัทนอกตลาดแบบเต็มตัว “ผมเป็นนักสะสมอสังหาฯ ไม่ใช่นักเทรดเดอร์” เขากล่าว
Henry Chin หัวหน้าฝ่ายความเป็นผู้นำด้านความคิดให้นักลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE กล่าวว่า ในอดีตความต้องการเช่าพื้นที่เก็บของนั้นมีไม่มาก เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากใช้ห้องใต้ดินหรือพื้นที่อื่นๆ ที่พวกเขาเป็นเจ้าของ แต่ในทศวรรษที่ผ่านมานั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ความต้องการโกดังอัจฉริยะที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เครื่องปรับอากาศ และแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในเอเชียแปซิฟิกธุรกิจการจัดเก็บโดยรวมยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า Thompson ยังมีเส้นทางอีกมากสำหรับเติบโต CBRE ระบุความจุของโกดังอุตสาหกรรมทั้งหมดในสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2022 ที่ 588 ล้านตารางฟุต หรือเพิ่มขึ้น 17% จากปี 2021 ส่วนยุโรปมี 260 ล้านตารางฟุต (เพิ่มขึ้น 13%) ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีเพียง 51 ล้านตารางฟุต (เพิ่มขึ้น 8%)
คู่แข่งรายหนึ่งของ Crown ในเอเชียคือ Iron Mountain บริษัทจัดเก็บที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York และดำเนินงานใน 60 ประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจจัดเก็บบันทึก มีพื้นที่ภายใต้การบริหารรวม 97 ล้านตารางฟุต รวมถึงส่วนที่เป็นเจ้าของเอง 23 ล้านตารางฟุต ในขณะที่ Crown มีพื้นที่ 45 ล้านตารางฟุต ส่วนมูลค่าตามราคาตลาดของ Iron Mountain ณ วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.53 หมื่นล้านเหรียญ
Thompson ไม่ใช่คนแรกในครอบครัวที่มาเกี่ยวข้องกับธุรกิจการขนย้าย พ่อของเขาเคยทำงานให้กับบริษัทขนย้ายใน California ซึ่งมีการดำเนินงานในญี่ปุ่น ตอนที่เรียนวิศวกรรมการบินที่ San Jose State College (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น San Jose State University) เขาได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นและชอบมาก หลังจากเรียนจบเขาได้งานทำในบริษัทเดียวกับพ่อของเขา ซึ่งยอมให้เขากลับมาทำงานในสาขา Yokohama ก่อนจะลาออกเนื่องจากมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ผู้เป็นพ่อจึงชักชวนให้ลูกชายวัย 25 ปี เริ่มต้นธุรกิจขนย้ายในญี่ปุ่น
Thompson มีลูกจ้างท้องถิ่น 1 คนและรถบรรทุกที่เช่ามา 1 คัน แต่เขายังมีพ่อเป็นที่ปรึกษาที่มีคุณูปการอย่างยิ่งเพราะเคยอาศัยในญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง งานแรกที่เขาได้คือ การย้ายข้าวของของครอบครัวหนึ่งจากญี่ปุ่นไปยังรัฐ California งานที่ 2 คือ การจัดส่งขาเข้าขนาดใหญ่สำหรับผู้บริหารใน Tokyo โดย Thompson เข้าไปช่วยเรื่องการบรรจุและโหลดตู้คอนเทนเนอร์ “เรามีรายได้แบบเดือนชนเดือนในปีแรก” เขานึกย้อนไป
3 ปีต่อมาเขาซื้อรถบรรทุกคันแรกของตัวเอง และในปี 1970 Thompson เริ่มมีหุ้นส่วนทางธุรกิจซึ่งพวกเขาก่อตั้งบริษัทในฮ่องกงด้วยกัน ต่อมาในปี 1978 เขาซื้อหุ้นของหุ้นส่วนและย้ายที่ตั้งของบริษัทตัวเองจากญี่ปุ่นไปยังฮ่องกง
การขนย้ายจะต้องมีเรื่องพื้นที่จัดเก็บเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอเพราะผู้คนต้องหาที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ชั่วคราว ในโกดังขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในช่วงกลางทศวรรษ 1970 Thompson สังเกตเห็นบางอย่างที่ไม่เคยเห็นในเอเชีย นั่นคือชั้นวางกล่องเอกสารอยู่ข้างๆ ของใช้ในบ้าน เขาเริ่มให้บริการจัดเก็บบันทึกแก่ลูกค้าในฮ่องกงโดยเช่าพื้นที่เพื่อการนี้ นับว่าเป็นจังหวะที่ดีเพราะจีนกำลังเปิดประเทศและค่าเช่าสำนักงานในฮ่องกงก็พุ่งทะลุหลังคา “เราต้องเสนอความคิดเรื่องการจ้างคนนอกจัดเก็บของแก่บริษัทต่างๆ พยายามโน้มน้าวให้พวกเขาเอาข้าวของออกจากสำนักงาน” เขาเล่า
เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น Crown จึงเข้าซื้อกิจการต่างๆ มาตลอด 2 ทศวรรษจนถึงปี 2000 เพื่อขยายธุรกิจออกไปนอกเอเชีย ช่วงที่ยุ่งเป็นพิเศษคือ ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่มีการซื้อกิจการในอเมริกาเหนือและใต้ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ “เราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วง 1980” เขากล่าว “ไม่เคยหยุดนิ่งเลย”
ในปี 2006 Crown จ่ายเงินประมาณ 87 ล้านเหรียญเพื่อตั้งแผนกให้การบริการกับธุรกิจต่าง ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้บริษัท Sirva ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ New York ทำให้ธุรกิจการจัดเก็บของ Crown มีกล่องถึง 14 ล้านกล่องสำหรับลูกค้า 10,000 รายใน 46 ประเทศ
ระหว่างปี 2015 - 2020 อาณาเขตของ Crown ก็ขยายอีกครั้งจากการไปซื้อกิจการในมาเลเซียและออสเตรเลีย และ Thompson ก็มีเป้าหมายที่จะขยายตัว “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ดังนั้น เขาจึงคอยมองหาบริษัทจัดเก็บบันทึกที่อาจจะมีการขาย เมื่อถามว่า ทำเลไหนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เขาตอบว่า เมือง Adelaide และเมือง Tianjin รวมทั้งอินเดียและเวียดนามด้วย
Thompson บอกว่า ตลาดชั้นนำสำหรับการจัดเก็บบันทึกในปี 2022 ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบกระดาษและดิจิทัล บริการสแกนและกู้ข้อมูลดิจิทัล ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย และฮ่องกง ตามลำดับ แต่ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดก็เป็นตลาดที่แข็งแกร่งเช่นกัน”
ในแง่ของสัดส่วน ประเทศที่มีรายได้จากธุรกิจการจัดเก็บเติบโตเร็วที่สุดในปีที่แล้วคือ อินเดีย โดยเพิ่มขึ้น 12% ในขณะที่ตลาดที่อยู่ตัวแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรปเติบโตจาก 4% เป็น 6% ส่วนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า Thompson คาดว่า รายได้ทั่วโลกต่อปีจะโตอย่างน้อย 6% และเสริมว่านี่เป็นตัวเลขขั้นต่ำเท่านั้น
ตลอดเส้นทางสู่ความสำเร็จของ Crown ก็เจออุปสรรคอยู่เหมือนกัน ในประวัติบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 50 ปีเมื่อปี 2015 Thompson พูดถึงการปลดพวกผู้จัดการที่ทุจริตและรับมือกับการแปรพักตร์ครั้งใหญ่ ต่อมาในปี 2019 เขาสละตำแหน่งซีอีโอให้กับ Ken Madrid ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินในขณะนั้น
ผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาคือ Jennifer Harvey ลูกคนโตในบรรดาลูก 2 คนของเขา Harvey วัย 54 ปี ทำงานกับบริษัทมาตั้งแต่ปี 1993 และปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในสหรัฐฯ อยู่ที่ New York ส่วนลูกชาย Jim Thompson Jr. ซึ่งพูดจีนกลางได้คล่องเป็นคนบริหารบริษัทการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Throne อยู่ใน Beijing
Harvey ซึ่งเป็นนักวิ่งมาราธอนด้วยบอกในอีเมลว่า บางทีสิ่งสำคัญที่สุดจากหลายๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพ่อคือ การเชื่อมต่อกับผู้คน “พ่ออาจจะเจอบางคนแค่ครั้งเดียว แล้วอีก 10 ปีต่อมาค่อยมาเจอกันอีก แต่พ่อยังจดจำรายละเอียดเฉพาะตัวเกี่ยวกับพวกเขาได้” เธอเล่า
ปกติ Thompson จะฉลองวันเกิดตัวเองด้วยการวิดพื้นเท่ากับอายุในปีนั้นจนกระทั่งปีที่แล้ว อาการบาดเจ็บที่ไหล่ทำให้เขาต้องหยุดประเพณีนี้หลังจากอายุได้ 82 ปี แต่เขาจะไม่วางมือจากธุรกิจในเร็วๆ นี้แน่นอน “ผมชอบตึก ผมชอบรถบรรทุก แล้วก็มีคนเก่งๆ ทำงานให้ นั่นแหละวิธีที่ผมสร้างบริษัท”
อ่านเพิ่มเติม : ไทยพาณิชย์ ส่งแคมเปญ “แก้ เกม กล โกง” สร้างความตระหนักให้ประชาชนรู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงมิจฉาชีพยุคใหม่