​William Li พา NIO เปลี่ยนเลน มุ่งสู่เวทีโลก - Forbes Thailand

​William Li พา NIO เปลี่ยนเลน มุ่งสู่เวทีโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jan 2022 | 07:19 AM
READ 3603

เศรษฐีพันล้านแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังไล่ล่าหาความเติบโตในต่างแดน ก้าวแรกของเขาคือ พา NIO เข้าสู่ตลาดยุโรปผ่านประเทศนอร์เวย์ 

 ในต้นเดือนพฤษภาคม William Li ก้าวเท้ายาวๆ ขึ้นบนเวทีที่ Shanghai ในชุดเสื้อยืดสีกรมท่าตกแต่งด้วย 2 คำคือ Norway 2021 ชายผู้ก่อตั้ง NIO คนนี้ กล่าวต้อนรับทีมงานใหม่ของเขาใน Oslo ระหว่างงานพบปะแบบเสมือนจริงก่อนจะเริ่มเข้าสู่รายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญชาติจีนในการบุกตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก  นอร์เวย์ได้รับเลือกเพราะเป็นประเทศแรกในโลกที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มียอดขายแซงหน้ายานพาหนะที่ขับเคลื่อนแบบดั้งเดิม คือเกือบร้อยละ 55 ของยอดขายรถยนต์ในปี 2020 จากข้อมูลของสหพันธ์ Road Federation ของนอร์เวย์ที่ได้ระบุไว้ นอกจากนี้ ที่นี่ยังจะเป็นการกรุยทางให้ NIO เข้าสู่ตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่แซงหน้าจีนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปีที่แล้วในการรั้งตำแหน่งตลาดรถอีวีใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากรัฐบาลของประเทศในยุโรปออกมาตรการเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการซื้อในช่วงเกิดโรคระบาด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป NIO จะรุกเข้าสู่อีก 5 ประเทศในยุโรป แต่ Li ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อประเทศ  แม้ว่าความสำเร็จในการเปิดตลาดใหม่ที่ไกลจากจีนยังยากที่จะให้คำมั่น แต่ Li มั่นใจในแผนการความเติบโตของบริษัท “ตอนนี้จีนเป็นตลาดรถอีวีที่มีการแข่งขันมากที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นักธุรกิจวัย 46 ปีกล่าวในการแถลงข่าวที่จัดขึ้นก่อนหน้าในวันนั้น “ถ้าผมทำได้ในจีน ก็ไม่มีเหตุผลที่ผมจะทำไม่ได้กับที่อื่น”  Li ผู้ถูกขนานนามว่า Elon Musk แห่งประเทศจีนถือว่าประสบความสำเร็จในบ้านเกิดแล้ว ในเวลา 7 ปีบริษัทของเขาเปลี่ยนสถานะจากสตาร์ทอัพเป็นบริษัทใหญ่อันดับ 7 ในอุตสาหกรรมรถอีวีของจีนเมื่อวัดจากการส่งมอบ เขาเป็นผู้ชุบชีวิตบริษัทจากที่เกือบล้มละลายในปลายปี 2019 เนื่องจากการลาออกของผู้บริหาร การเรียกคืนรถยนต์ และการที่รัฐบาลตัดลดเงินอุดหนุนได้ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนของบริษัท  บริษัทเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วจนมาถึงวันนี้ทางบริษัทได้ส่งมอบรถ 20,060 คันในไตรมาสแรกของปี พุ่งขึ้นถึง 5 เท่าจากปีที่แล้ว แม้อุปสงค์ลดลงจากสถานการณ์โรคระบาด โดยยอดขายได้เติบโตกว่าร้อยละ 490 ไปแตะที่ 7.4 พันล้านหยวนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และตัวเลขขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 451 ล้านหยวน  Edison Yu นักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank ที่ New York เปิดเผยว่า ยอดการส่งมอบรถทั้งปีคาดหมายอยู่ที่ 95,000 คัน หลังได้พิจารณาถึงผลกระทบจากการขาดแคลนชิปทั่วโลก ปัญหาดังกล่าวที่ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้สร้างความเสียหายแก่ผู้ผลิตทั่วทั้งอุตสาหกรรม แบรนด์รถยนต์ทั่วโลกต่างไม่มีทางเลือกนอกจากลดการผลิต ซึ่งก็รวมถึงบริษัทของ Li ด้วยที่จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตฟีเจอร์ต่างๆ ในรถ เช่น ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการทำงานและความบันเทิงภายในรถ  ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นของบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าเมื่อ NIO สามารถเพิ่มการส่งมอบในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อเร็วๆ นี้หุ้นของบริษัทก็ร่วงลง หลังจากมีการเทขายหุ้นในกลุ่มอีวีในวงกว้างอันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนชิป ถึงกระนั้นหุ้นร้อยละ 11 ในบริษัทของ Li ก็ทำให้เขาเป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลถึง 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

เปลี่ยนเลนสู่ระดับโลก

บริษัทวิจัยตลาด Canalys ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดยานยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 50 เป็น 1.9 ล้านคันในปีนี้ แต่ Li มองเป้าหมายไปในระดับโลก ในการให้สัมภาษณ์หลังงานมอเตอร์โชว์ที่ Shanghai เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาได้พูดถึงเป้าหมายในระดับโลกของเขาอย่างคร่าวๆ เป็นครั้งแรก  “ยานยนต์อีวียังมีส่วนแบ่งตลาดที่ต่ำมากในตลาดยานยนต์ทั้งหมด และยังมีช่องว่างสำหรับการเติบโตอีกมากทั่วโลก” เขากล่าว (ตัวเลขจาก International Energy Agency ระบุว่า รถยนต์อีวีคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของรถยนต์ทั้งหมดที่ขายได้เมื่อปีที่แล้ว) “ในระยะยาวแล้ว บางทีศตวรรษหน้าหรือมากกว่านั้น จำนวนส่งมอบรถมากกว่าครึ่งของนิโน่น่าจะมาจากตลาดต่างประเทศ”  เพื่อให้ก้าวทันกับนวัตกรรมรถใหม่ๆ Li ได้ใช้วิธีการใหม่ในการขายรถที่นอร์เวย์ เขาปฏิเสธใช้ผู้จัดจำหน่ายของท้องถิ่น และจัดการการขายด้วยตัวเอง NIO House คือ รูปแบบโชว์รูมของบริษัทที่ออกแบบโดยมีห้องสมุดและร้านกาแฟสำหรับลูกค้าที่มาชมรถ มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายนที่ Karl Johans Gate ตั้งบนถนนช็อปปิ้งหลักของ Oslo  โชว์รูมแห่งนี้จะแสดงเอสยูวี ES8 ซึ่งเป็นรถเรือธงของบริษัทรถอีวีสัญชาติจีนนี้ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 468,000 หยวน (73,000 เหรียญ) ในจีน แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยราคาขายปลีกที่นอร์เวย์ สำหรับรถซีดานรุ่น ET7 จะตามมาในปี 2022 เมื่อบริษัทจะเปิดโชว์รูมในเมืองต่างๆ ของนอร์เวย์เพิ่มอีก 4 แห่ง รวมทั้งจะขยายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่เพิ่มเป็น 12 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 4 แห่ง เป็นบริการพิเศษให้กับลูกค้าที่จะสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่พลังงานหมดแล้วมาเป็นแบตเตอรี่ลูกใหม่ที่พลังเต็มเข้าแทน  Li เผยว่า การเลือกทำเลทองใน Oslo นั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ NIO ฐานผู้ซื้อที่เป็นตัวขับเคลื่อนความเติบโตของแบรนด์ในจีนนั้นเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่ค่อนข้างมีฐานะและหลงใหลในเทคโนโลยี จีนเป็นประเทศที่ผู้คนยอมควักกระเป๋าซื้อรถของพวกเขามากกว่า Model 3 รุ่นที่ขายดีที่สุดของ Tesla (NIO อ้างว่า รถของบริษัทวิ่งได้ระยะทางไกลกว่าและเร่งได้เร็วกว่ารุ่นมาตรฐานราคา 250,900 หยวนของ Tesla)  Li เผชิญหน้ากับความท้าทายอีกหลายประการขณะพาบริษัทบุกตลาดต่างแดน แม้ว่ายอดขายรถอีวีในยุโรปจะพุ่งทะยานเมื่อปีที่แล้วท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด แต่ผู้บริโภคก็ยังคงนิยมแบรนด์ในท้องถิ่น ในไตรมาสแรก Volkswagen ของเยอรมนีเป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับรถอีวี คิดเป็นร้อยละ 21 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดสำคัญ 18 แห่งของยุโรป Tesla ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 ในปลายปี 2019 เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่นั้นมา Matthias Schmidt ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย Schmidt Automotive Research กล่าวว่า ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16 ของ Tesla ตามหลัง Stellantis กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติดัตช์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ร้อยละ 17  “แม้แต่เทสล่ายังไม่ประสบความสำเร็จอะไรมากมายในยุโรป John Zeng ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา LMC Automotive จาก Shanghai กล่าว และบอกเพิ่มอีกว่า “นิโน่อาจจะขายรถที่นั่นได้บ้าง แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเลยทีเดียว”  แต่ Li ก็ไม่หวั่น เขาชี้ให้เห็นถึงทีมงานของบริษัทที่ประกอบด้วยบุคลากรมากความสามารถจากทั่วโลก รวมถึงทีมออกแบบที่ Munich และทีมวิศวกรรมที่ Oxford ตลอดจนการลงทุนที่ “แน่วแน่” ในงานด้านวิจัยและพัฒนาของ NIO ที่ได้นำไปสู่การออกสิทธิบัตรถึงกว่า 2,500 ฉบับ ตัวอย่างเช่น รถรุ่น ES6 ได้รับรางวัล “Best of Best” ในด้านการออกแบบตัวถังด้านนอกที่มีความเป็นรถสปอร์ตและสวยสง่าที่งาน Automotive Brand Contest 2020 ที่เยอรมนี เขายังบอกอีกว่า อีกด้านที่โดดเด่นของพวกเขา คือ วัฒนธรรมชุมชน  นอกเหนือจากรถอีวีแล้ว บริษัทยังสร้างความภักดีในตราสินค้าด้วยแอปพลิเคชันด้านไลฟ์สไตล์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์ อาทิ คุกกี้ เครื่องปรุงรสหม้อไฟและเสื้อฮู้ด ซึ่งสามารถซื้อหาได้ด้วยเครดิตที่ได้จากการซื้อรถ NIO  ลูกค้าสามารถใช้แอปกับไลฟ์สไตล์ทุกประเภท ตั้งแต่การแบ่งปันประสบการณ์การขับรถ NIO ไปจนถึงการนัดหมายพบปะสังสรรค์กันนอกแอป โดยแอปในภาคภาษาอังกฤษซึ่งมีผู้ใช้ลงทะเบียนมากถึง 1.6 ล้านคนในจีนจะเปิดตัวในนอร์เวย์ภายในปีนี้ “ตั้งแต่วันแรกเราตั้งเป้าเป็นบริษัทที่สนุกกับการได้ใกล้ชิดกับผู้ใช้ Li บอก “เราต้องการสร้างชุมชนที่มีฐานอยู่บนรถยนต์ของเรา”  นักธุรกิจหนุ่มยังเล็งเป้านำผลิตภัณฑ์และบริการของเขาไปยังสหรัฐฯ ที่ซึ่งบริษัทมีพนักงานประจำอยู่แล้วประมาณ 200 คน พวกเขาทำงานจากสำนักงานทางตอนเหนือของรัฐ California โดยมากเน้นหนักที่งานด้านวิจัยและพัฒนา และบางส่วนดูแลการวางแผนเชิงกลยุทธ์ Li เผยว่า เป็นเวลา 4 ปีมาแล้วในทุกๆ ไตรมาส ผู้บริหารของบริษัทจะหารือกันในเรื่องกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวว่า เขากำลังใกล้จะจัดทำรายละเอียดต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว แต่เขาก็ไม่บอกว่า เมื่อไรที่เขาจะเข้าไปขายของในถิ่นของ Tesla  ในขณะที่ Li วางแผนการต่างๆ นั้น เขาก็ได้เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้สร้างความโปร่งใสและไม่ทำให้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ลุกลามมาจำกัดกิจกรรมทางธุรกิจ “เทสล่าได้ประโยชน์จากการที่จีนสนับสนุนรถอีวี” เขากล่าว “เป็นธรรมดาที่ประเทศต่างๆ จะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ผมหวังว่าทุกรัฐบาลจะสามารถมองการณ์ไกล พิจารณาบรรยากาศและสนับสนุนนวัตกรรมในสาขาของเรา” 

ล้มลุก คลุกคลาน

แม้จะเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานไปในระดับโลกแต่ Li ก็มาจากครอบครัวที่มีสถานภาพไม่ดีนัก เขาเกิดในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำในชนบทของมณฑล Anhui ทางตะวันออกของจีน Li อาศัยอยู่บนเทือกเขากับปู่ย่าและคอยไล่ต้อนวัวตอนยังเป็นเด็ก เขาขยันเรียน ทำคะแนนได้ดีเลิศในการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของจีนที่ถือว่าสุดโหด และสามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Peking University ได้ เขาทำงานพาร์ตไทม์หลายงานเพื่อจุนเจือตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ ขายอุปกรณ์สำนักงานให้กับ Apple หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา (เขาได้ลงเรียนวิชาคอมพิวเตอร์บ้างเหมือนกัน) Li พบว่าตัวเองอยากทำงานในด้านไอทีและได้เปิดบริษัทเล็กๆ หลายแห่ง  ความพยายามของเขาประสบความสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในปี 2000 เมื่อเขาเปิดตัวเว็บไซต์ Bitauto ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์แก่ผู้บริโภคชาวจีน อีก 1 ทศวรรษต่อมาเขานำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เพื่อระดมทุนจำนวน 108 ล้านเหรียญ (ในปี 2020 Bitauto ตกลงที่จะออกจากการเป็นบริษัทมหาชนในข้อตกลงมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญที่มี Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเว็บไซต์ของจีนเป็นผู้หนุนหลัง ปัจจุบัน Li ไม่มีบทบาทใดๆ ที่นั่นแล้ว) ขณะที่ Li มองเห็นเค้าลางของโอกาสในภาคยานยนต์อีวี เขาค่อยๆ หันเหความสนใจไปทางนั้นและได้ก่อตั้ง NIO ซึ่งในเวลานั้นใช้ชื่อว่า NextEV ขึ้นในปี 2014  เขาบอกว่า เขาต้องการสร้างสตาร์ทอัพระดับโลกตั้งแต่เริ่มต้น และภายใน 1 ปีก็ได้จ้างนักออกแบบและวิศวกรใน London และ California  Tencent ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 10 ใน NIO และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Li เป็นนักลงทุนรายสำคัญที่ได้สะสมหุ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของบริษัท (ธุรกิจเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่รายนี้ใช้เงิน 1.8 พันล้านเหรียญซื้อหุ้นร้อยละ 5 ของ Tesla ในปี 2017 แต่ 1 ปีต่อมาได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง) นอกเหนือจาก Tencent แล้ว Li ยังระดมทุนได้อีกหลายพันล้านเหรียญจาก Baillie Gifford, BlackRock, Sequoia China และ Temasek  NIO เริ่มได้รับคำสั่งซื้อเพื่อผลิตเป็นจำนวนมากสำหรับรถรุ่น ES8 ในปี 2017 และเริ่มส่งมอบรถยนต์แก่ลูกค้าภายใน 1 ปี Li พาบริษัทผลิตรถยนต์ที่ประสบภาวะขาดทุนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NSYE ในปี 2018 ระดมทุนได้ 1 พันล้านเหรียญ แต่แล้วแผนการนั้นก็บิดเบี้ยวไม่เป็นดั่งที่คิด  CHINA NIO ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนักในปี 2019 เหลือเพียงหุ้นละไม่ถึง 2 เหรียญจากราคา IPO สูงสุดที่ 6.26 เหรียญ อีกทั้ง NIO ยังสูญเสียผู้บริหารระดับสูง 2 คนที่บริษัทแจ้งว่าลาออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัว และต้องเรียกคืนรถยนต์ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ขายไปเพราะแบตเตอรี่มีปัญหา ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ประกาศแผนที่จะจำกัดเงินอุดหนุนที่มอบแก่อุตสาหกรรมรถอีวีภายในปี 2020 ด้วยเหตุผลว่า ต้องการส่งเสริมสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าเป็น “นวัตกรรมที่แท้จริง”  เมื่อตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นและเงินสดร่อยหรอลง Li บอกว่า เขาตกอยู่ภายใต้ “แรงกดดันมหาศาล ในเวลานั้นเขามองหาเงินลงทุนเพิ่มเติมแต่ส่วนใหญ่ปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ในที่สุดสายป่านทอดยาวมาถึงเขาในปี 2020 เมื่อนักลงทุนหลายรายรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นของ Hefei เมืองหลวงของมณฑล Anhui ตกลงที่จะลงทุนเป็นเงิน 7 พันล้านหยวน ต่อมาเขาย้ายสำนักงานใหญ่จาก Shanghai ไปยัง Hefei ที่ที่ NIO มีโรงงานร่วมทุนกับ JAC Motors ผู้ผลิตรถยนต์ที่เป็นบริษัทของรัฐ การก่อสร้าง NeoPark นิคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทและรัฐบาลเมือง Hefei เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นิคมแห่งนี้จะสามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 1 ล้านคัน 

เส้นทางที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง

Teng Yong หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษา Oliver Wyman จาก Shanghai บอกว่า การลงทุนที่ต่อเนื่องในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาดน่าจะหมายถึงว่าบริษัทของ Li จะยังขาดทุนต่อไปอีก 3 ปี นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมมีรายงานว่า NIO พร้อมด้วยผู้ผลิตรถอีวีรายอื่นๆ ของจีน ได้แก่ Xpeng และ Li Auto กำลังพิจารณานำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเป็นตลาดแห่งที่ 2 แต่ Li ไม่มองข้ามในสิ่งนี้ แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงรายละเอียด “พวกเราผ่านวิกฤตมาด้วยความมั่นใจที่มากขึ้น เขากล่าวถึงการดิ้นรนต่อสู้ของเขาในปี 2019 “และพวกเราก็แน่วแน่ที่จะเดินตามเส้นทางของพวกเรา”  อย่างไรก็ตามบริษัทไม่น่าจะรักษายอดการผลิตรายเดือนที่ 7,500 คันไว้ได้เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นในอีก 2-3 เดือน Li กล่าวว่า เขาได้ก่อตั้งทีมขึ้นในบริษัทเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยทีมนี้ติดต่อกับโรงงานทั่วโลกในแต่ละวัน  การแข่งขันรุนแรงที่บ้านเกิดอาจเป็นการต้อนบริษัทให้จนมุม อีกทั้ง Tesla ก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว Yale Zhang กรรมการผู้จัดการของ Automotive Foresight บริษัทที่ปรึกษาจาก Shanghai เผยว่า ภายในสิ้นปีคาดว่าผู้ผลิตรถจากสหรัฐฯ รายนี้จะส่งมอบยานยนต์ 500,000 คันในจีน ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์โดยสารของจีนระบุว่าปีที่แล้ว Tesla ส่งมอบรถอีวี 138,505 คันในจีน เป็นรองเพียง SGMW ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีสำนักงานใหญ่ใน Shanghai ซึ่งมียอดการส่งมอบ 163,594 ส่วน NIO ส่งมอบรถอีวีอย่างน้อย 43,369 คัน  ยิ่งไปกว่านั้นทั้งผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมและบริษัทเทคโนโลยีต่างก็พยายามเข้ามาเดิมพันในตลาดนี้ เมื่อเดือนมีนาคมบริษัทรถยนต์ Geely ของ Li Shufu เศรษฐีพันล้านชาวจีนได้เปิดตัวรถอีวีแบรนด์ Zeekr ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ซื้อที่มีอันจะกินกลุ่มเดียวกันที่อาจจะพิจารณาซื้อ NIO  ด้าน Lei Jun แห่ง Xiaomi ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือก็ประกาศในเดือนเดียวกัน เกี่ยวกับแผนการที่จะทุ่มทุน 1 หมื่นล้านเหรียญเพื่อผลิตรถอีวีของตัวเองในทศวรรษหน้า ตามติดด้วย Ren Zhengfei เศรษฐีพันล้านแห่ง Huawei ผู้ที่ออกมากล่าวในเดือนเมษายนว่า บริษัทของเขาจะลงทุน 1 พันล้านเหรียญเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับและรถยนต์ไฟฟ้า  ที่สหรัฐฯ มีรายงานกันในวงกว้างว่า Apple จะผลิตรถอีวีของตัวเอง ขณะที่ Alphabet ก็อาจมาร่วมวงด้วยเช่นกัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Hon Hai ที่มีฐานอยู่ในไต้หวันได้จับมือกับ Fisker ของสหรัฐฯ เพื่อเริ่มผลิตยานยนต์อีวีในปีหน้า โดยมีแผนจะนำรถออกขายทั่วโลกรวมทั้งที่จีน Li รับรู้ถึงเส้นทางหฤโหดข้างหน้า “แผนในต่างประเทศของเราจะไม่กระทบกับการลงทุนและทรัพยากรของเราสำหรับจีน” เขากล่าว “เรามองกันไกลๆ นานกว่าสิบปี และโลกาภิวัตน์ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่จะทำแบบขอไปที”  เขาเสริมด้วยว่า นอกจากนี้ NIO ก็ยังเป็นบริษัทเล็กๆ “การส่งมอบรถรายเดือนของเราเป็นจำนวนเดียวกับที่ Audi และ BMW ส่งมอบในจีนในเวลา 2 วัน หนทางของเรายังอีกยาวไกล”    เรื่อง: Yue Wang เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ภาพ: Courtesy of NIO อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine