ทำไม Patek Philippe จึงกลายเป็นนาฬิกาหรูขวัญใจคนรุ่นใหม่ - Forbes Thailand

ทำไม Patek Philippe จึงกลายเป็นนาฬิกาหรูขวัญใจคนรุ่นใหม่

ตั้งแต่ Joe DiMaggio จนไปถึง Albert Einstein, Princess Diana และ Victoria Beckham ผู้ผลิตนาฬิกา Patek Philippe เป็นขวัญใจเหล่าคนดังมายาวนาน แต่ชื่อเสียงของแบรนด์สัญชาติสวิสนี้ก็ต้องพบกับสิ่งแปลกใหม่ที่คาดใหม่ถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

การพูดถึงแบรนด์หรูๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในโลกฮิปฮอป แต่ในปี 2017 ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็เจอเนื้อเพลงที่กล่าวถึง Patek Philippe ข้อมูลจากเว็บไชต์เพลง Genius เผยว่า ในปีนั้น 1 ใน 3 ของเพลงทั้งหมดบนชาร์ต Billboard Hot 100 กล่าวถึงแบรนด์เรือนเวลานี้

Travis Scott แรปเกี่ยวกับ "Patek สองสี" ของเขา ส่วน Cardi B ก็ประดับเพชรบนเรือนเวลาของเธอจน "เอ่อล้น" และ Gucci Mane ก็บอกว่าเรือนเวลาของเขา "ทำให้ผู้พิพากษาที่คดโกงอยากจะปาหนังสือมาทางฉัน" Young Thug, Migos และ Future ล้วนก็เคยกล่าวถึงเรือนเวลา Patek Philippe ของพวกเขา ในขณะที่ Lil Uzi Vert รู้สึกผูกพันกับผู้ผลิตเรือนเวลารายนี้มากจนปล่อยเพลงถึง 2 เพลง "Patek" และ "New Patek" เพื่อเป็นเกียรติแก่แบรนด์หรูนี้

Cardi B กับเรือนเวลาที่เต็มไปด้วยเพชรของเธอ (Credit: Roy Rochlin/FilmMagic/Getty Images)

Nick Marino รองผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำนิตยสารนาฬิกาออนไลน์ Hodinkee เผยว่า ปรากฎการณ์นี้บังเอิญมาพร้อมๆ กับความสนใจในการสะสมนาฬิกาที่พุ่งกระฉูดพอดี 

"เนื่องจากปาเต็ก ฟิลิปป์เป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาที่เลอค่าที่สุด นั่นก็เป็นเหตุผลที่มันจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนพูดถึง" เขากล่าวระหว่างวิดีโอคอล "ฮิปฮอปมีประวัติยาวนานและอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการพูดถึงชื่อแบรนด์ต่างๆที่ศิลปินชื่นชอบ ตั้งแต่ ‘My Adidas’ ของ Run-DMC และนาฬิกาก็เผอิญไปติดไฟนั้นด้วย"

"แรปเปอร์น่ะ ฉลาดนะ" เขาเสริม "พวกเขารู้ว่าสถานะหมายความว่าอะไร และพวกเขารู้ว่าความเอ็กซ์คลูซีฟคืออะไร คุณอาจจะคาดว่าแรปเปอร์จะพูดถึง Richard Mille เพราะนั่นเป็นแบรนด์นาฬิกาวัยรุ่น, ฉูดฉาดและ ‘new money’ และเหล่าแรปเปอร์ก็รักสิ่งนั้นเช่นกัน แต่ผมชอบที่พวกเขารักแบรนด์นาฬิกาผู้ดีเก่าด้วย"

เขากล่าวต่อว่า "การวางตัวเองเป็นลูกค้าของปาเต็กนี้ ก็เหมือนกับเหล่าแรปเปอร์กำลังวางตัวเองเป็นพวกชนชั้นสูงที่มีเชื้อสายมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 นั่นน่ะ อำนาจเลยล่ะ"

จุดยืนของแบรนด์ในวัฒนธรรมร่วมสมัยห่างไกลจากโฆษณา "Generations" ที่มีพ่อแม่ลูกสร้างความผูกพันกันผ่านมรดกเรือนเวลาอันล้ำค่าที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่นในยุค 1990s ของพวกเขามากเลยทีเดียว แคมเปญอันตราตรึงใจช่วยทำให้สโลแกน "You never actually own a Patek Philippe. You merely look after it for the next generation." กลายเป็นสโลแกนติดหูใครหลายคน

แคมเปญ Generations

ในฐานะแบรนด์ที่โปรโมตประวัติศาสตร์และประเพณีตกทอดในฐานะสัญลักษณ์แห่งคุณภาพ การกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะสำหรับวัยรุ่น Instagram อาจเป็นบางอย่างที่บริษัทอายุ 182 ปีนี้รู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ Marino กล่าวว่าผู้ผลิตนาฬิการายนี้ไม่ได้เปลี่ยนจุดขายของแบรนด์อย่างออกหน้าออกตา และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะเป็นที่นิยมเกินไปด้วย "ในหลายๆ แง่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ฟังฮิปฮอปต่างหาก ที่มาเจอปาเต็กเข้า ไม่ใช่ในทางกลับกัน"

"แบรนด์นี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความลักชัวรีมาตั้งแต่ปี 1839 ดังนั้นผมไม่คิดว่าพวกเขาจะถูกมองว่าเป็นของแพงติดกระแสชั่วครู่" เขากล่าว และเสริมต่อว่า "ปี 2017 ก็เหมือนผ่านมาแล้วช่วงชีวิตหนึ่งในโลกฮิปฮอป และผู้คนก็ยังคงพูดถึงนาฬิกาเหล่านี้อยู่"

Sharon Chan ผู้อำนวยการฝ่ายนาฬิกาประจำสถานประมูล Bonhams ใน Hong Kong เผยว่าจุดยืนของ Patek ในจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยใหม่นี้ถือเป็น "สัญญาณที่ดีมาก" สำหรับอนาคตของแบรนด์

"5 ถึง 8 ปีที่แล้ว ผู้ซื้อนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ส่วนมากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างมีอายุ" เธอกล่าวในบทสนทนาทางโทรศัพท์ "แต่ช่วงที่ผ่านมา เป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย ห่างจากกลุ่มลูกค้านักสะสมกลุ่มแรกๆ ที่เรามีไปสองสามรุ่น"

"วิธีการสะสมและแบบ (นาฬิกาที่พวกเขาสนใจ) ค่อนข้างจะแตกต่างอยู่บ้าง โดยในอดีต นักสะสมมากประสบการณ์จะเสาะหาผลิตภัณฑ์รุ่นที่ซับซ้อนที่สุด ส่วนทุกวันนี้ พวกเขามักจะมองหาฟังก์ชั่นที่เรียบง่ายกว่า บางอย่างที่ดูเรียบๆ หรือทำมาจากวัสดุที่ต่างไปจากเดิม ขณะที่ร้อยละ 80 ของนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ที่เราเคยจำหน่ายไปทำมาจาก (วัสดุจำพวก) โลหะมีค่า ตอนนี้ ลูกค้าส่วนมากจะถามหานาฬิกาที่ทำมาจากสแตนเลส" เธอกล่าว

"นานๆ ที ที่ (นาฬิกา) จะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น" เธอกล่าว "แต่มันเป็นแบรนด์ที่เชื่อมโยงคนหลากหลายรุ่นเข้าด้วยกัน"

ยิ่งมีเงิน ยิ่งไม่มีปัญหา

ความหลงใหลใน Patek Philippe ของเหล่าคนดังอาจเป็นเพียงตัวสะท้อนสถานะของแบรนด์ในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาที่มีราคาแพงที่สุดในโลก หากคุณใช้ประวัติการประมูลเป็นตัววัดล่ะก็นะ แบรนด์นี้เป็นเจ้าของนาฬิกาที่ราคาแพงที่สุด 8 เรือนที่ถูกเคาะประมูลไปจาก 10 เรือนทั่วโลก ซึ่งในรายการเหล่านั้นรวมไปถึง นาฬิกาสแตนเลสรุ่น Reference 1518 ที่ถูกประมูลไปในราคา 11 ล้านฟรังก์สวิส (11.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และแบบสีชมพูทองที่ถูกขายไปในราคาเกือบ 9.6 ล้านเหรียญเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ในปี 2014 Patek Philippe รุ่น Henry Graves Supercomplication ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่มีระบบกลไกซับซ้อนที่สุดที่ถูกผลิตออกมา กลายเป็นเรือนเวลาที่แพงที่สุดในโลกเมื่อถูกขายไปในราคา 23.2 ล้านฟรังก์สวิส (24 ล้านเหรียญ) สถิตินั้นก็โดนทุบกระเจิง 5 ปีต่อมาเมื่อนาฬิกา Patek Philippe รุ่น Grandmaster Chime 6300A-010 ที่ไม่เคยถูกสวมใส่มาก่อน และรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการประมูลการกุศลในกรุงเจนีวาโดยเฉพาะคว้าเงินไปได้ถึง 31 ล้านฟรังก์สวิส (31.2 ล้านเหรียญ)

หลังจากก่อตั้งขึ้นในกรุงเจนีวาภายใต้ชื่อ Patek, Czapek & Cie (ชื่อปัจจุบันเริ่มใช้เมื่อผู้ร่วมก่อตั้งชาวโปแลนด์ Antoni Norbert Patek จับมือร่วมงานกับ Adrien Philippe ชาวฝรั่งเศส) ทางแบรนด์อ้างว่าได้ผลิตนาฬิกามาเรื่อยๆ โดย "ไร้สิ่งขัดขวาง" ตั้งแต่ปี 1839 พระราชินีวิกตอเรียเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้ารายแรกๆ ของผู้ผลิตเรือนเวลานี้ โดยเธอได้ซื้อหนึ่งในนาฬิกา "ไร้กุญแจ" ของพวกเขา ซึ่งเป็นเรือนแรกในโลกที่ไม่จำเป็นต้องไขลานในงาน London’s Great Exhibition ปี 1851

ช่างฝีมือในโรงงาน Patek Philippe ที่กรุงเจนีวา (Credit: Bettmann Archive/Getty Images)

เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้เรือนเวลาแบรน์นี้เป็นที่ต้องการในหมู่คนดัง คนรวยทั้งหลายในยุคนั้น โดยในปี 1868 ทางบริษัทได้ผลิตสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกให้กับ Countess Koscowicz ชาวฮังการี (ข้ออ้างที่ทาง Breguet แบรนด์คู่แข่งออกมาโต้แย้งอย่างดุเดือด โดยพวกเขากล่าวว่าเรือนเวลาที่พวกเขาผลิตขึ้นมาในปี 1810 ให้กับ Queen of Naples ต่างหากที่เป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก) Patek Philippe ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร มากกว่า 100 รายการ ตั้งแต่กลไกปฏิทินถาวรชิ้นแรกสำหรับนาฬิกาพก จนไปถึงนาฬิกา "time zone" ที่สามารถบอกเวลาได้สองประเทศสำหรับนักเดินทางท่องโลกทั้งหลาย

แต่คอลเล็กชั่นที่เอ็กซ์คลูซีฟที่สุดกลับเป็นคอลเล็กชั่นที่เรียบง่ายที่สุดของทางแบรนด์อย่าง Nautilus

นาฬิกาคอลเล็กชั่น Nautilus ที่ถูกออกแบบให้เปรียบเสมือนหน้าต่างท้องเรือ และราคาสูงถึง 30,000 เหรียญต่อเรือน โดยราคาในตลาดมือสองนั้นก็สูงยิ่งกว่าเสียอีก นาฬิกาคอลเล็กชั่นดังกล่าวเปิดตัวเมื่อปี 1976 หลังจากเปิดตัวคอลเล็กชั่นยอดนิยมอย่าง Calatrava ไปในปี 1932 และนาฬิกาคอลเล็กชั่น Nautilushas ก็ถูกสวมใส่โดยทั้งราชวงศ์และแรปเปอร์ รวมไปถึงบุคคลสำคัญในโลกธุรกิจ, นักกีฬา และดารา Hollywood 

เมื่อเร็วๆ นี้ Drake อวดนาฬิกา Patek Philippe Nautilus Reference 5726 เต็มไปด้วยมรกต ที่ Virgil Abloh แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้จากโลกนี้ไปได้ไม่นานเป็นผู้ออกแบบให้ ส่วน Kylie Jenner ก็มักจะไปไหนมาไหนโดยสวมใส่ Nautilus Reference 5719 ที่ห่อหุ้มไปด้วยไวท์โกลด์ของเธอ อีกทั้ง Nautilus ยังไปโผล่บนโลก Instagram อยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นแบบแอบๆ (เช่น John Mayer ที่สวมใส่ไว้ในรูปเซลฟี่หน้ากระจก) หรือแบบโจ่งแจ้ง (เช่น Scott Disick ดาราเรียลลิตี้ที่ไปยืนรอหน้าร้านของทางแบรนด์ที่ยังไม่เปิดให้บริการพร้อมกับแคปชั่นว่า "เปิดกี่โมงหรอ @patekphilippe?")

Kylie Jenner กับเรือนเวลาสุดหรูของเธอ (ซ้าย) และ Scott Disick หน้าร้าน Patek (ขวา)

แต่นาฬิกาสแตนเลสรุ่น Nautilus Reference 5711 ต่างหาก ที่ครองสถานะหนึ่งในใจคนดัง ในปี 2019 ทาง New York Times ได้รายงานว่ามีเพียง "ลูกค้าที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดี" เท่านั้นที่จะมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้รอซื้อ และหลังจากนั้น พวกเขาต้องรออย่างน้อยๆ 8 ปี ก่อนที่จะสามารถซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวได้

และเมื่อปีที่แล้ว ทางบริษัทก็ได้ตอบสนองความต้องการนั้นอย่างผิดคาด พวกเขาเลิกผลิต 5711

ในบทความ Times ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้า Thierry Stern ประธานบริษัทและหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ดูแลบริษัทผลิตเรือนเวลามาตั้งแต่ปี 1932 บอกเป็นนัยว่า ผู้ผลิตเรือนเวลาสุดหรูนี้ไม่อยากถูกมองว่าเป็นแบรนด์นาฬิการุ่นใดรุ่นหนึ่ง "ที่ปาเต็ก ฟิลิปป์เราผลิตนาฬิการาว 140 รุ่นที่ต่างกันไป และ Ref. 5711 รุ่นพื้นฐานนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลขนั้น" เขากล่าว "เรามีนาฬิการุ่นอื่นๆ ที่ซับซ้อนยิ่งกว่า และสละสลวยกว่าเป็นไหนๆ"

อย่างไรก็ตาม นาฬิกา 5711 ก็ได้กลับมาปรากฎตัวชั่วครู่ในช่วงปลายปี 2021 ด้วยการวางจำหน่ายนาฬิการุ่นดังกล่าวสีเขียวมะกอกลิมิเต็ดอิดิชั่น และรุ่นที่รวมมือกับ Tiffany & Co. สีฟ้าเอกลักษณ์ประจำผู้ผลิตอัญมณีอเมริกัน แต่สำหรับตอนนี้ นาฬิการุ่นดังกล่าวได้หายไปจากหน้าเว็บไซต์ของทางแบรนด์ ที่รุ่น 5711 ที่หลายคนต้องการหายไปจากแถวของนาฬิกาคอลเล็กชั่น Nautilus อีก 25 รุ่นอย่างเห็นได้ชัด

ออร่าแห่งความเอ็กซ์คลูซีฟ

รายชื่อผู้รอคอย และราคาขายต่อที่พุ่งเฉียดฟ้าเป็นตัวแสดงให้เห็นว่าออร่าแห่งความเอ็กซ์คลูซีฟของแบรนด์นั้น เปล่งประกายขนาดไหน แต่ความหายากนี้อาจเป็นปัญหาเรื่องอุปสงค์และอุปทานจริงๆ ก็ได้ ซึ่งในขณะที่มีการคาดว่า Rolex ผลิตเรือนเวลาหลักล้านเรือนต่อปี Patek Philippe กลับผลิตเพียงราว 50,000 เรือนต่อปีเท่านั้น Chan กล่าว

"ทุกคนคิดว่า (รายชื่อผู้รอซื้อ) เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่เพราะอุปสงค์มันเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น พวกเขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้จริงๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แวดวงนาฬิกาของฉันโดนถามหาคอลเล็กชั่น Nautilus หรือไม่ก็ Aquanaut มากกว่าปกติถึง 10 เท่าตัว" เธอกล่าวพร้อมกล่าวถึงอีกหนึ่งคอลเล็กชั่นยอดนิยมที่เปิดตัวเมื่อปี 1997

"นั่นแค่แวดวงเล็กๆ ของฉัน ดังนั้น คุณนึกภาพออกหรือไม่ ทั่วโลกนี้จะมีผู้คนมากมายขนาดไหนที่กำลังพยายามครอบครองสักเรือนสองเรือน หรือไม่ก็สามเรือน" เธอกล่าวต่อ

หากผู้ผลิตนาฬิกาคนนี้เร่งการผลิต นั่นก็อาจจะทำให้พวกเขาเสียคุณภาพไปได้ และอาจเป็นสิ่งที่สุดท้ายแล้วเป็นอันตรายกับทางแบรนด์ Marino จาก Hodinkee เสริม

"สิ่งที่ผู้ผลิตนาฬิกาชั้นสูงจะบอกกับคุณคือ พวกเขาผลิตในจำนวนมากที่สุดที่พวกเขาสามารถเพื่อที่จะคงคุณภาพตามที่ลูกค้าคาดหวังไว้ให้ได้" เขากล่าว "แล้วปาเต็กสามารถผลิตนาฬิกาเพิ่มอีกจำนวนมากและแปะชื่อของพวกเขาลงไปได้หรือไม่ พวกเขาทำได้อยู่แล้ว แต่มันก็จะไม่ใช่ปาเต็กอีกต่อไป ความลิมิเต็ดและงานฝีมือคือสิ่งที่คุณควักเงินจ่ายตั้งแต่แรกแล้ว"

แปลและเรียบเรียงจากบทความ From Queen Victoria to Cardi B, how this legacy watchmaker found itself in the zeitgeist เผยแพร่บน CNN.com

อ่านเพิ่มเติม: G Train รถไฟส่วนตัวสุดหรูขบวนแรกของโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine