คอมมิวนิตี้สร้างจาก 'การพิมพ์ 3 มิติ' ที่ใหญ่ที่สุดในโลก - Forbes Thailand

คอมมิวนิตี้สร้างจาก 'การพิมพ์ 3 มิติ' ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Nov 2021 | 06:00 PM
READ 3503

โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเมือง Austin รัฐ Texas มุ่งปักฐานสร้างคอมมิวนิตี้ที่อยู่อาศัยโดย การพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โปรเจ็กต์สร้างบ้านด้วย การพิมพ์ 3 มิติ นี้วางแผนว่าจะเริ่มลุยปีหน้า ประกอบไปด้วยบ้านชั้นเดียว 100 หลัง ที่ “ถูกพิมพ์” ขึ้นมา On-site โดยใช้หุ่นยนต์สร้างบ้านชั้นสูงและวัสดุที่ทำมาจากคอนกรีต กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเผยภาพจำลองดิจิทัลของย่านที่อยู่อาศัยนี้ โดยในภาพจำลองดังกล่าวมีอสังหาฯ เรียงรายกันเป็นแถว และหลังคาที่มุงด้วยแผงโซลาเซลล์ ทางบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนานี้กล่าวว่าบ้านแต่ละหลังจะใช้เวลาในการสร้างราวๆ หนึ่งอาทิตย์ โปรเจ็กต์นี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทสร้างบ้านอย่าง Lennar และ ICON บริษัทที่มีฐานอยู่ในรัฐ Texas ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างโครงสร้างโดยการพิมพ์แบบ 3 มิติ นอกเหนือจากนั้น ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้มี Bjarke Ingels Group บริษัทสถาปัตยกรรมสัญชาติเดนมาร์กร่วมดีไซน์อีกด้วย แม้ว่าทาง ICON จะไม่เปิดเผยราคาของของการสร้างโครงการนี้ ทางบริษัทก็ได้กล่าวว่าเทคโนโลยีของพวกเขานั้นเร็วกว่า และถูกกว่าการสร้างบ้านแบบดั้งเดิม ส่วนหนึ่งมากจากการที่ต้องใช้จำนวนแรงงานคนน้อยลงนั่นเอง และในการดำเนินการก่อสร้างนี้จะใช้หุ่นยนต์เครื่องพิมพ์กว้าง 46 ฟุตที่ชื่อว่า ‘Vulcan’ ถึง 5 ตัว โดยหุ่นยนต์เหล่านี้จะปล่อย Lavacrete ส่วนผสมคอนกรีตออกมาตามโปรแกรมดีไซน์บ้านที่วางไว้ ทางบริษัทกล่าว่าพวกเขาสามารถสร้างบ้านได้ขนาด 3,000 ตารางฟุต และยังได้พิมพ์ผนังบ้านขนาด 400 ถึง 500 ตารางฟุตได้ในเพียง 24 ชั่วโมงอีกด้วย (ค่อยๆ ทำไปในช่วง "หลายๆ วัน") หลังคา หน้าต่าง ประตู และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ Lennar จะนำมาเสริมทีหลัง จากข่าวประชาสัมพันธ์ ผJason Ballard ร่วมก่อตั้ง และ ซีอีโอ ICON อธิบายถึงคอมมิวนิตี้ใน Austin นี้ว่าเป็น "จุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระดับคอมมิวนิตี้" "การก่อสร้างด้วยการพิมพ์ 3 มิติไม่เพียงแค่ทำให้เราสามารถสร้างบ้านที่คุณภาพสูงกว่าได้เร็วขึ้นและประหยัดขึ้น แต่ฝูงเครื่องพิมพ์เหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนแนวทางทั้งหมดในการสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าอีกด้วย" เขาได้กล่าวไว้ Ballad ยังได้กล่าวอีกว่า "สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับการขาดแคลนบ้านใหม่ราวๆ 5 ล้านหลังดังนั้นมันมีความต้องการอย่างมากในการเพิ่มอุปทานอย่างรวดเร็วโดยยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ ความสวยงาม หรือแม้แต่ความยั่งยืน และนั่นคือจุดแข็งของเทคโนโลยีของเรา" ทาง Martin Voelkle พาร์ตเนอร์จากฝั่ง Bjarke Ingels Group ก็ได้อธิบายถึงอาคารที่พิมพ์แบบ 3 มิติและหลังคาแบบ Photovoltaic ว่าสิ่งเหล่านี้ "เป็นการก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญในการลดขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมถึงไปเป็นการก้าวสู่การสร้างบ้านที่ทดทาน ยั่งยืน และพึ่งพาพลังงานจากตัวเองได้มากขึ้น" ผู้สนับสนุนการสร้างบ้านโดยการพิมพ์ 3 มิตินี้เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถลดค่าแรงงานได้อย่างมาก และลดเวลาในการก่อสร้างแต่ละครั้งอีกด้วย อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่เสนอว่าการสร้างบ้านด้วยวิธีนี้จะสามารถลดจำนวนขยะและการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ความสามารถของเครื่องพิมพ์ 3 มิติในการสร้างอาคารโดยปราศจากแบบหล่อ (แม่พิมพ์คอนกรีตที่เทซีเมนต์ลงไป) สามารถช่วยลดการใช้วัสดุโดยรวมได้ ซึ่งเป็นตัวการของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ทั่วโลกราวร้อยละ 8 ต่อปี อีกทั้งงานวิจัยจากสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่าการสร้างห้องน้ำโดยใช้การพิมพ์ 3 มิติก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการก่อสร้างแบบเดิมถึงร้อยละ 86 อีกทั้งยังใช้ทุนน้อยกว่าถึงร้อยละ 25 อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เหล่านักวิจารณ์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าการพิมพ์คอนกรีตแบบ 3 มิติยังคงใช้วัสดุที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ อีกทั้งความปลอดภัยและความมั่นคงยังไม่ได้มีข้อกำหนดที่แน่ชัดในกฎหมายอาคารที่มีอยู่ตอนนี้

ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์

ในขณะที่โปรเจ็กต์ใน Austin ที่พึ่งเปิดตัวไปเป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ที่สุดของ ICON บริษัทนี้ก็ไม่ใช่น้องใหม่ในการสร้างบ้านโดยการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยทางบริษัทเคยใช้เทคโนโลยดังกล่าวในการสร้างบ้านสงเคราะห์ที่เม็กซิโกและรัฐ Texas ตั้งแต่ปี 2018 และเร็วๆ นี้ทางบริษัทยังได้เผยว่าพวกเขากำลังร่วมมือกับ NASA ในการสร้างวัสดุจากฝุ่นผงของดวงจันทร์ในการสร้างฐานประจำบนดวงจันทร์อีกด้วย เมื่อต้นปีนี้ ICON ได้เผยโครงการบ้าน 4 หลังแบบแยกกันที่จะพัฒนาขึ้นบริเวณ East Austin และในปี 2019 ทางบริษัทยังได้ประกาศว่าพวกเขาจะสร้างคอมมิวนิตี้ที่มีบ้าน 50 หลังสำหรับครอบครั่วที่มีรายได้ต่ำในเมือง Tabasco ที่เม็กซิโกอีกด้วย ทาง ICON ยังไม่ได้เปิดป้ายราคาของบ้านเหล่านี้ในโครงการที่เมือง Austin แต่ช่วงต้นปีนี้บ้านที่ใช้วิธีการพิมพ์หลังแรกก็ได้ออกมาตีตลาดสหรัฐ โดยเป็นบ้านขนาด 1,400 ตารางฟุต และเป็นบ้านชั้นเดียว ตั้งอยู่ในเมือง Riverhead รัฐ New York และมีราคาอยู่ที่ 299,000 เหรียญสหรัฐฯ อีกหนึ่งบริษัทด้านการพิมพ์ 3 มิติอย่าง Palari Group ก็ได้เผยแผนในการสร้างอสังหาริมทรัพย์จากการพิมพ์ 3 มิติ 15 หลังใกล้ๆ กับเมือง Palm Springs รัฐ California โดยราคาของบ้านสามห้องนอนอยู่ที่ 595,000 เหรียญฯ Ballard ได้กล่าวกับ CNN ในปี 2019 ว่าเทคโนโลยีของบริษัทเขานั้นสามารถ "มอบผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงกว่าให้กับตลาดบ้านในราคาและความรวดเร็ว" ที่ "ไม่ได้หาได้ง่ายๆ" สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ และทางบริษัทยังเชื่อด้วยว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาคนไร้บ้าน และอาจสามารถนำไปใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติได้ "การพิมพ์ 3 มิติ มันไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์" Ballard กล่าวไว้ ณ ตอนนั้น "เราก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างโลกนิยายวิทยาศาสตร์และโลกความเป็นจริง ในอนาคต เราวางพนันเลยว่า นี้จะเป็นความหวังที่เยี่ยมที่สุดสำหรับมนุษยชาติสำหรับคำตอบเรื่องบ้านที่ตรงต่อค่านิยมและอุดมคติสูงสุดของเรา" แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ World's largest 3D-printed neighborhood to break ground in Texas เผยแพร่บน ​CNN.com อ่านเพิ่มเติม: ‘Emily In Paris’ กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับ ‘คอนเทนต์ช็อปได้’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine