ที่สุดแห่ง 'ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี' ปี 2021 - Forbes Thailand

ที่สุดแห่ง 'ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี' ปี 2021

'ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี' เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีเกิดขึ้นกันบ้าง แต่ในปีนี้ โลกเทคโนโลยีกลับวุ่นวายแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่รั่วไหล จนไปถึง Tesla ขับเคลื่อนเองที่เกือบพาคุณไปชนรถกระบะเข้าให้ โดย 7 เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นความเปราะบางของเทคโนโลยีมากที่สุด

สำหรับใครหลายคน ปี 2021 เป็นปีที่มีทั้งความหวังและความท้าทาย เพราะถึงแม้ว่าการเข้าถึงวัคซีนโควิดจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ก็กลับมีระลอกใหม่ๆ มาไม่หยุดหย่อน และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะให้ความบันเทิงและช่วยให้เรายังติดต่อกับคนอื่นๆ ได้ แต่มันก็กลับทำให้ชีวิตเรายากขึ้นเช่นกัน ในปีนี้ เราได้เห็นเทคโนโลยีพลาดพลั้ง หรือไม่บางทีก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุอินเทอร์เน็ตล่มครั้งใหญ่, Ransomware ที่โจมตีเราไม่ยั้ง และเรื่องปวดหัวมากมายสำหรับ Meta บริษัทที่รู้จักกันในชื่อ Facebook มาก่อน (มีเรื่องปวดหัวเยอะเลยล่ะ จนติดลิสต์ 'ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี' ตั้ง 2 รอบ) และนี่คือที่สุดแห่ง 'ความล้มเหลวด้านเทคโนโลยี' ประจำปี 2021 ที่มี CNN Business เป็นผู้รวบรวม

Facebook และ LinkedIn ข้อมูลรั่วจำนวนมาก

เมื่อเดือนเมษายน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์เผยว่า ข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ วันเกิด รวมไปถึงอีเมลของผู้ใช้งาน Facebook กว่า 500 ล้านรายถูกนำไปโพสต์บนเว็บไซต์ของเหล่าแฮกเกอร์ ณ ตอนนั้น Facebook กล่าวว่า ดาต้าที่รั่วไหลนั้นเป็นดาต้าที่รั่วไหลมาก่อนในปี 2019 โดยมี "ผู้ไม่หวังดี" ปล่อยข้อมูล เหตุการณ์นี้แสดงให้เราเห็นอีกครั้งว่าบริษัทที่เปราะบางเหล่านี้ที่เป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนตัวจำนวนมหาศาลนั่นแหละ อาจจะเป็นผู้ไม่หวังดีอีกรายหนึ่งก็ได้ อีกเหตุการณ์ในเดือนเมษายน ทาง LinkedIn ยืนยันว่าข้อมูลสาธารณะของผู้ใช้งานราวๆ 500 ล้านรายถูกนำไปขายบนเว็บไซต์ของแฮกเกอร์ โดยตอนนั้น ทาง LinkedIn กล่าวว่าฐานข้อมูลที่ถูกนำไปขายนั้น ​"เป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากหลายๆ เว็บไซต์และหลายบริษัท" ทางบริษัทยังได้กล่าวอีกว่า นี่ "ไม่ใช่การละเมิดข้อมูล LinkedIn"

Citizen ระบุตัวนักวางเพลิงพลาด

เมื่อเดือนพฤษภาคม Citizen บริษัทสตาร์ทอัพที่แจ้งเตือนอาชญากรรมแบบ real-time ได้เสนอเงินรางวัล 30,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับใครก็ตามที่สามารถระบุตัวผู้ที่ก่อเหตุไฟป่าใน Los Angeles ได้ ข้อมูล รวมถึงรูปภาพของชายคนหนึ่งถูกเผยแพร่ลงบน Signal ทำให้ตำรวจเข้าควบคุมชายผู้ต้องหาในเวลาต่อมา แต่มันก็มีปัญหา (ใหญ่มากๆ) อยู่ปัญหาหนึ่ง เพราะชายคนนั้นไม่ใช่บุคคลที่พวกเขากำลังตามหาอยู่ ทางบริษัทได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่บนแอปของพวกเขาที่ชื่อว่า ​OnAir ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย แต่ดันไม่ได้ทำตามระเบียบการยืนยันตัวตนก่อนที่จะปล่อยให้ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลสาธารณะ

Ransomware เป็นปัญหาใหญ่

ในปีนี้ จำนวนการโจมตีจาก Ransomware ซึ่งเกิดจากการที่แฮกเกอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และนำข้อมูลของทางบริษัทเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเหยื่อหลักคือกลุ่มธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หนึ่งในการโจมตีครั้งใหญ่เมื่อเดือนพพฤษภาคมแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ เปราะบางต่ออาชญากรรมเหล่านี้ขนาดไหน โดยเหยื่อในครั้งนั้นก็คือ Colonial Pipeline Colonial Pipeline หนึ่งในท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ถูกบังคับให้ต้องหยุดการดำเนินงานต่างๆ เมื่อระบบของทางบริษัทถูกโจมตี โดยเหล่าแฮกเกอร์เข้าระบบได้เพราะพาสเวิร์ดของทางบริษัทไม่แข็งแกร่งพอ ในภายหลัง ซีอีโอของ Colonial Pipeline ออกมายอมรับว่าได้จ่ายเงินไป 4.4 ล้านเหรียญเพื่อไถ่ระบบของบริษัทคืน เมื่อเดือนมิถุนายน หน่วยงานสอบสวนจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขาได้เอาเงินจำนวน 2.3 ล้านในสกุลเงินคริปโตคืนมาจากกำมือของกลุ่มแฮกเกอร์ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตี Colonial Pipeline ได้สำเร็จแล้ว

สองเหตุการณ์ล่มอินเทอร์เน็ต (ชั่วครู่)

เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ โลกอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเมื่อบริษัทเทคโนโลยีที่คนส่วนมากไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อมาก่อนพากันล่ม ถึงแม้ปัญหาเหล่านั้นจะถูกตรวจพบได้อย่างรวดเร็ว และล่มอยู่เพียงชั่วครู่ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็แสดงให้เราเห็นว่าพวกเราพึ่งพาอินเทอร์เน็ตขนาดไหน และมันไม่มั่นคงขนาดไหน เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน โดยเว็บไซต์นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Reddit, CNN, Amazon และอีกมากมายพากันล่มเมื่อระบบของ Fastly ผู้ให้บริการกระจายคอนเทนต์ใช้งานไม่ได้ และต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน ก็เกิดเหตุคล้ายกันที่บริษัท Akamai Technologies ทำให้เว็บไซต์จำนวนมากพัง โดยเหยื่อในครั้งนั้นได้แก่ Southwest Airlines, United Airlines, Commonwealth Bank of Australia และ Hong Kong Stock Exchange การล่มของ Fastly ถูกตรวจพบภายใน 1 นาที และทำให้เว็บไซต์ที่ใช้งานล่มอยู่ไม่ถึงชั่วโมง ในขณะที่ทาง Akamai ได้แจ้งปัญหากับลูกค้าภายในไม่กี่วินาทีที่เกิดขึ้น และสามารถซ่อมแซมได้ภายใน 4 ชั่วโมง (และทางบริษัทยังกล่าวด้วยว่าลูกค้าที่ได้ผลกระทบส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้เพียงไม่กี่นาที) สองเหตุการณ์ไม่ใช่เหตุการณ์เน็ตล่มครั้งใหญ่ทั้งหมดที่เราเผชิญในปีนี้ โดยเมื่อเดือนธันวาคมบริการประมวลผลคลาวด์ของ Amazon ล่มถึง 3 ครั้ง ทำให้ ​Disney+, Slack, Netflix, Hulu และอีกมากมายเกิดปัญหาท่วมท้น นอกจากนี้ยังทำให้ระบบโลจิสติกส์ของ Amazon เกิดปัญหาในช่วงวันหยุดที่สำคัญมากๆ สำหรับทางบริษัทอีกด้วย

วันที่ทั้งแย่ ทั้งห่วย และเลวร้ายมากๆ ของ Facebook

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม บริษัทที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น Meta นี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาล้นมือ ในคืนก่อนหน้าวันนั้น Frances Haugen ผู้ประท้วง Facebook ได้เปิดเผยตัวตนของเธอในรายการ '60 Minutes'โดยอ้างว่าทางบริษัทรู้ดีว่าโซเซียลเน็ตเวิร์คของพวกเขาถูกใช้ในการกระจายข้อมูลเท็จ, วาจาสร้างความเกลียดชัง และความรุนแรง (ก่อนหน้านี้ Haugen เป็นแหล่งข่าวนิรนามที่คอยปล่อยเอกสารภายในนับพันกว่าหน้าให้กับ ​The Wall Street Journal ส่งผลให้มีข่าวเสียหายเรื่องแล้วเรื่องเล่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Facebook Files ซึ่งทุกอย่างเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน) หลังจากนั้น เมื่อวันจันทร์มาถึง Facebook ก็เกิดการล่มครั้งใหญ่ ทำให้ทั้ง Facebook, WhatApp และ Instagram ใช้งานไม่ได้ไปหลายชั่วโมง โดยทางบริษัทโทษว่าเกิดจาก "การเปลี่ยนแปลงด้านโครงร่าง" ทำให้หุ้นของบริษัทร่วงเมื่อต้องต่อสู้กับทั้งปัญหาเรื่องระบบล่มและการที่ Haugen ไปออกทีวี อีกทั้ง ทางบริษัทก็ต้องเตรียมตัวโดนตรวจสอบมากขึ้น เมื่อ Haugen มีกำหนดให้การต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาในวัดต่อมา อ๋อ แล้วก็อีกอย่าง ทางบริษัทยังได้ขอให้ยกคำฟ้อง Antitrust ที่ทาง Federal Tade Commission เป็นผู้ยื่นฟ้องอีกด้วย วันนั้นเหมือนเป็นรางบอกเหตุว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเดือนนั้น และช่วงปลายเดือนตุลาคม สมาคมองค์กรข่าวในสหรัฐ 17 สื่อได้เริ่มเผยแพร่เรื่องราวจากเอกสารที่รวมอยู่ในรายงานที่ถูกนำส่งให้กับ Securities and Exchange Commission และถูกนำส่งให้กับรัฐสภาโดยที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ Haugen ทางสมาคม ซึ่งมี CNN อยู่ด้วย ได้ทำการพิจารณาเอกสารที่ทางรัฐสภาได้รับ โดยเรื่องราวเหล่านี้มีทั้งรายละเอียดจากเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลใช้ Facebook ในการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง (เช่น เหตุจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม) และรายละเอียดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ใช้โซเซียลเน็ตเวิร์คเอาเปรียบเหยื่ออีกด้วย (Facebook พยายามออกมาทำให้ Haugen ไม่น่าเชื่อถืออยู่หลายครั้ง และกล่าวว่าคำให้การและรายงานจากเอกสารของเธอแสดงให้เห็นถึงความพยายามและการกระทำได้ไม่ถูกต้อง) Zillow กับบทเรียนครั้งใหญ่ในการใช้ AI ตีราคาบ้าน เมื่อเดือนพฤศจิกายน Zillow ประกาศว่าจะปิดกิจการ Zillow Offers ซึ่งเป็นธุรกิจ Home-flipping โดยกล่าวว่า ​"ความคาดเดาไม่ได้ในการคาดการณ์ราคาบ้าน" ซึ่งเกินจากที่ทางบริษัทคาดการณ์ไว้ "อย่างมาก" ข่าวนี้เปรียบเหมือนการยกธงขาวของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง Zillow ที่รายได้หายไปถึง 304 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ 3, หุ้นตก และยังมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลงถึง 2,000 คนอีกด้วย นับเป็น 1 ใน 4 ของพนักงานเลยทีเดียว อีกทั้ง นี้เป็นการกลับหลังหันแบบ 180 องศาของทางบริษัทที่เมื่อต้นปีมีความมั่นใจอย่างล้นหลามในความสามารถของ AI ในการประเมินราคาบ้านที่เรียกว่า 'Zestimate' ซึ่งทางบริษัทใช้เป็นตัวประเมินในการวางมัดจำเงินสดก่อนจะซื้อบ้านสักหลัง แค่ซื้อ-ขายบ้านเพื่อทำกำไรก็ว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการใช้ AI ในการช่ยตัดสินใจปัญหาในโลกความเป็นจริงแบบนี้

ระบบ 'Full Self-driving' ของ Tesla พาคนขับแตกตื่น

Elon Musk ซีอีโอแห่ง Tesla โปรโมตรถไฟฟ้าของทางบริษัทมาเป็นเวลานาน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปลายปี 2021 รถเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่กลับมีฟีเจอร์ช่วยให้คนขับที่ผู้ใช้งานต้องตกลงว่าพวกเขาจะตื่นตัวและดูพวงมาลัยไว้เสมอเพื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็ตาม มีผู้ขับ Tesla จำนวนน้อยที่ได้ลองใช้ระบบนี้ โดยในกลุ่มดังกล่าวก็รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่จ่าย 10,000 เหรียญเพื่อใช้ฟีเจอร์ที่ยังถือเป็น 'beta' นี้ แม้ว่าฟีเจอร์ดังกล่าวจะฟังดูดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน เหล่าผู้ใช้งานก็ได้บอกกับทาง CNN Business ว่านอกเหนือจาก wow factor แล้วพวกเขารู้สึกไม่มั่นใจเลยว่ารถของพวกเขาจะทำอะไรต่อไป ถือเป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆ เมื่อคุณอยู่บนรถที่หนักหลายพันปอนด์แบบนี้ ทาง CNN Business เองก็ได้ทดลองใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวใน Tesla Model 3 บนท้องถนนกรุงนิวยอร์คเมื่อเดือนพฤศจิกายน และผลลพธ์ก็คือ มันก็น่ากลัวอยู่บ้าง ซอฟต์แวร์นั้นพยายามจะขับนี้คนปั่นจักรยานโดยขับพ่งใส่รถกระบะของ UPS, ขับผิดเลน, เกือบขับชนรั้ว และอีกมากมาย แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ The biggest tech fails of 2021 เผยแพร่บน CNN.com อ่านเพิ่มเติม: Dior ยกทัพ 12 ศิลปินร่วมโปรเจ็กต์ Dior Lady Art ครั้งที่ 6
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine