ปราสาท วิทยาภัทร์ การรอคอยที่คุ้มค่า...นาฬิกาแห่งความสุข - Forbes Thailand

ปราสาท วิทยาภัทร์ การรอคอยที่คุ้มค่า...นาฬิกาแห่งความสุข

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 1293

ช่วงเวลาแห่งความสุขตลอดเส้นทางของนักสะสมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกของการค้นหาข้อมูล การออกเสาะแสวงหา เจรจาซื้อขายเพื่อให้ได้มา จนถึงวันที่ได้ครอบครอง ด้วยคุณค่าเหนือกาลเวลาที่ไม่อาจประเมินค่าได้

    

    เส้นทางการสะสมนาฬิกากว่า 4 ทศวรรษ กับนาฬิกานับพันเรือน และของสะสมโบราณในพิพิธภัณฑ์จำนวนมากกว่า 3,000 ชิ้น เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความทรงจำและความสุขของ ปราสาท วิทยาภัทร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลเลคท์ จำกัด ผู้นำด้านสื่อการเรียนการสอนของเมืองไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยอมรับให้เป็นเบอร์ต้นๆ ของแวดวงสะสมนาฬิกาวินเทจ 

    นอกจากชีวิตครอบครัว อีกหนึ่งความสุขในชีวิตปราสาทยกให้การสะสมนาฬิกามาเป็นที่หนึ่ง ย้อนไป 40 ปีที่แล้ว ในวัยเริ่มต้นทำงาน ซึ่งทุกวันหยุดจะใช้เวลาไปกับการเดินตามตลาดนัด โดยในยุคนั้นคลองถมและเยาวราชเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของคนที่สะสมของวินเทจ เป็นแหล่งที่มีทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่นาฬิกา ส่วนปัจจุบันแหล่งรวมของเก่าของสะสมจะอยู่ที่ชั้น 5 เซ็นทรัลเวิลด์

    “รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ไปเดินตลาด ไม่เคยน่าเบื่อเลย โดยเฉพาะวันไหนได้เจอนาฬิกาที่อยากได้จะเจรจาต่อรองกันจนได้เรือนที่ชอบกลับบ้าน ชีวิตช่วงนั้นจะเป็นอย่างนี้ ราคาที่ได้มาก็ไม่แพง อยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพัน ซึ่งก็เป็นไปตามกำลังที่จะจ่ายได้ในตอนนั้น ค่อยเป็นค่อยไป และสะสมตามกำลัง ผมค่อยๆ เก็บทีละเรือน ใช้เวลา 40 ปี ถึงตอนนี้มีแล้วกว่า 1,000 เรือน และไม่ได้มีเฉพาะนาฬิกาวินเทจเท่านั้น ในคลังจะมีของสะสมโบราณอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สร้อยข้อมือ รวมแล้วของสะสมที่แสดงในพิพิธภัณฑ์มีมากกว่า 3,000 ชิ้น”

     

การเดินทางของความสุข

    

    จากวันแรกที่เริ่มสะสมถึงปัจจุบันในวัย 73 ปี ประสบการณ์ที่ผ่านมามากพอที่จะเสาะหาและตรวจสอบว่านาฬิกาเรือนนั้นควรค่าแก่การสะสมหรือไม่ แต่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ มีนาฬิกาทั้งของแท้และไม่แท้ผ่านมือมาแล้วนับไม่ถ้วน

    “ผมว่าไม่มีใครที่พูดว่าตัวเองเก่งตั้งแต่วันแรก ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากผิดๆ ถูกๆ มาก่อน อย่างผมเองบางครั้งก็ต้องพึ่งพ่อค้าและถามคนที่เก่งกว่า ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป ข้อดีคือนาฬิกาไม่ซับซ้อนเหมือนการดูพระ เพราะมีที่มาที่ไป มีตำราเป็นสากลให้ศึกษา รวมทั้งคนไทยยังไม่เก่งถึงขั้นที่จะปลอมนาฬิกาซึ่งมีชิ้นส่วนมากมายขนาดนั้นได้ ทำให้ใช้เวลาไม่นานที่จะเข้าใจนาฬิกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นชอบและต้องการสะสม”

    เมื่อได้ศึกษามากขึ้น และรู้จักกับคนที่รักนาฬิกาวินเทจเหมือนกัน รวมทั้งทำงานมาได้สักระยะ การสะสมอย่างบ้าเลือดก็ตามมา 

    “ช่วงที่เก็บสะสมนาฬิกาได้มากที่สุดน่าจะเป็นช่วงทำงานแล้วสักพัก เก็บจนทำมิวเซียมได้ ปกตินักสะสมจะมี 2 แบบ แบบที่ลงทุน เก็บไว้เพื่อเก็งราคา แต่ผมเก็บเพื่อความชอบ มีความสุขในการเก็บ ไม่สนว่าจะขายทำกำไรได้เท่าไร และผมจะซื้อเฉพาะเรือนที่ชอบและอยากใส่เท่านั้น”   

    ปราสาทเล่าถึงเส้นทางการสะสมนาฬิกาที่ยาวนานจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ กับความสุขที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาเพราะได้ทำในสิ่งที่รักและชอบ แต่ถ้ายกให้เป็นที่สุดก็ต้องเป็นช่วงเวลาของการรอคอยกว่าจะได้นาฬิกาเรือนนั้นมาครอบครอง ซึ่งหลายครั้งที่ยอมสละนาฬิกาที่ชอบเนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาได้ เพราะคุณค่าของการสะสมไม่จำเป็นต้องได้ครอบครองเสมอไป เพียงได้ชื่นชมเหมือนการชมงานศิลปะหรือนิทรรศการที่ไม่ต้องนำผลงานกลับบ้านก็มีความสุขได้

    “ทั้งตื่นเต้นและมีความสุข ระหว่างรอผมก็ศึกษาข้อมูลของนาฬิกา ข้อมูลแวดล้อมต่างๆ คอยตามข่าว เกาะติดเส้นทางว่าถึงตอนนี้เรือนนั้นใครเป็นเจ้าของอยู่ บางเรือนใช้เวลานานหลายปีรอคอยว่าเจ้าของนาฬิกาเรือนนั้นจะขายให้หรือไม่ บางเรือนรุ่นพ่อแม่ไม่ขายแต่มาขายในรุ่นลูกก็มี เหมือนวัดใจว่าเขากับเราใครจะอดทนได้นานกว่ากัน เป็นการลุ้นที่มีความสุขมาก หลายครั้งเป็นอย่างนี้ แต่พอได้มาแล้วความตื่นเต้นก็หายไป ยกตัวอย่าง Ulysse Nardin หน้าปัดพระเจ้าตากสิน ใช้เวลาหากว่า 10 ปี พอได้มาแล้วก็ทำให้รู้สึกถึงการมีอยู่เท่านั้น ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอีกต่อไป” 

     

เสน่ห์เรือนเวลาวินเทจ 

    

    มากกว่าการสะสมนาฬิกาคือปราสาทให้ความสนใจเฉพาะนาฬิกาหายากที่มีเรื่องราวและเคยเป็นของบุคคลสำคัญ โดยมองเสน่ห์ของนาฬิกาวินเทจอยู่ที่เรื่องราวและแหล่งที่มาของเรือนเวลา เช่น Corum นาฬิกาหนึ่งเดียวในโลกที่ผลิตออกมาในปี 1982 จากการสั่งทำพิเศษเพื่อซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีประเทศอิรักโดยเฉพาะ ซึ่งตัวเรือนผลิตจากเหรียญกษาปณ์ทองคำของประเทศอิรัก หน้าปัดเป็นรูปใบหน้าของซัดดัม ฮุสเซน ตัวเรือนและหัวเข็มขัดสายเป็นทองคำ 18K ส่วนเครื่องทำงานด้วยระบบสวิสควอตซ์ 

    “ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ามีเรือนเดียวในโลก จนวันหนึ่งบางกอกโพสต์มาเห็นแล้วถามไปที่ผู้ผลิตนาฬิกา Corum สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับข้อมูลว่าเคยมีการสั่งทำนาฬิกาเรือนนี้จากอิรัก หน้าปัดเป็นรูปซัดดัม ซึ่งผมได้มาจากการติดต่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่น คาดว่าน่าจะรับซื้อมาจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ช่วงที่ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง” 

    ขณะที่ในคลังสะสมยังมีนาฬิกาบุคคลสำคัญจำนวนมาก เช่น นาฬิกาหน้าปัดกษัตริย์องค์แรกของซาอุดีอาระเบีย นาฬิการัชกาลที่ 9 ยุคกาญจนาภิเษก และนาฬิกาหน้าปัดพระนเรศวร รวมถึงนาฬิกาวินเทจที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก เช่น OMEGA คอลเล็กชัน Olympic London 2012 นาฬิกาทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หรืออีกเรือน Rolex Oyster นาฬิกาที่มีคุณสมบัติกันน้ำและกันฝุ่นได้รุ่นแรกของโลก และ OMEGA รุ่น Speedmaster Professional “Apollo XI 1969-1994” ที่มีเพียงเรือนเดียวในเมืองไทย ผลิตขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองที่นีล อาร์มสตรอง ขึ้นเหยียบดวงจันทร์ครบ 25 ปี 

    นอกจากความพิเศษของการผลิตในวาระสำคัญและเรื่องเล่าจากบุคคลสำคัญระดับโลกแล้ว สิ่งที่ทำให้ปราสาทหลงใหลในนาฬิกาวินเทจยังมาจากกระบวนการผลิตอันน่าทึ่ง ซึ่งการสะสมนาฬิกาวินเทจที่มีอายุยาวนานอาจจะไม่ได้ราคาเสมอไป โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและแบรนด์ด้วย 

    ยกตัวอย่าง 40 ปีก่อนซื้อ Rolex ราคา 2,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไปราคาอาจเปลี่ยนแปลงเป็น 600,000-700,000 บาท ส่วนนาฬิกา IWC อาจจะซื้อในช่วงราคา 400,000-500,000 บาท ต่อมาราคาอาจขยับเป็นล้านบาท ที่สำคัญต้องเริ่มจากความชอบก่อน และมีความสุข จึงเก็บสะสม แต่ถ้าสนใจราคาในอนาคตเป็นอันดับแรกจะถือเป็นนักเก็งกำไร ไม่ใช่นักสะสม

    “ผมชื่นชอบงานศิลปะอยู่แล้ว แต่สำหรับนาฬิกานับเป็นสิ่งประดิษฐ์เดียวในโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุด ด้วยการผลิตที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ด้านประติมากรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบที่สวยงาม และความรู้เชิงวิศวกรรมที่ทำให้ชิ้นส่วนจำนวนมากประกอบกันเป็นนาฬิกาหนึ่งเรือนได้ แล้วไม่ใช่แค่นั้น ระบบการทำงานที่น่าทึ่งนี้ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น บางเรือนผ่านมาแล้วเป็นร้อยปีถึงวันนี้ก็ยังใช้งานและบอกเวลาได้อยู่ บางเรือนบอกมากกว่าเวลา เช่น บอก พ.ศ. บอกวันเดือนปี นี่คือความมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งนี้ที่ทำให้ผมหลงรัก”

    ปราสาทกล่าวถึงความสุขที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในแต่ละวันด้วยการนั่งทำงานและมองสิ่งที่หลงใหลในทุกวัน เท่านี้ก็สุขเกินจะบรรยายในมุมมองของนักสะสม

    “นาฬิกาที่สะสมนำมาจัดแสดงอยู่ภายในห้องทำงาน และเป็นพิพิธภัณฑ์นาฬิกาวินเทจที่เปิดให้คนที่ชื่นชอบนาฬิกาแวะเวียนมาเยี่ยมชม ผมโชคดีที่ได้นั่งมองสิ่งของที่รักในทุกวัน บางคนมีเงินสด เครื่องเพชรมากมาย แต่ต้องเอาไปเก็บไว้ที่ธนาคาร แค่รู้ว่ามีอยู่เท่านั้น แต่สำหรับผมการได้นั่งทำงานแวดล้อมไปด้วยของที่ผมรักมันสร้างความสุขได้มากกว่า” 

    ตลอดช่วงเวลาการลงทุนในความสุขที่สะสมมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ปราสาทย้ำว่าทุกอย่างล้วนเกิดจากความรักและความชอบอย่างแท้จริง 

    “ความสุขของคนมีเงินร้อยล้านพันล้านอาจมากกว่าผมนิดหน่อย แต่การที่ได้นั่งมองนาฬิกาและแบ่งปันให้เพื่อนรวมถึงคนที่รักนาฬิกาได้ชื่นชม มันเป็นการเติมเต็มความสุขในชีวิตแล้ว”

     

    อ่านเพิ่มเติม : Temu เปิดกลยุทธ์แอปจีนเผาเงินสร้างฐานลูกค้าสหรัฐฯ

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine