ถึงเวลา Glaxo เยียวยาธุรกิจ - Forbes Thailand

ถึงเวลา Glaxo เยียวยาธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2017 | 12:11 PM
READ 11773

Andrew Witty สืบทอดตำแหน่งผู้นำทัพบริษัทยาที่ถูกรุมเร้าไปด้วยคดีอื้อฉาว เขาใช้เวลา 8 ปีหลังจากนั้นทุ่มเทเพื่อเยียวยาธุรกิจ และตอนนี้อาจถึงเวลาที่ GlaxoSmithKline จะพลิกฟื้นกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

และนี่คือสิ่งที่ Sir Andrew Witty ผู้นั่งแท่นประธานบริหารของ GlaxoSmithKline บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษมาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีต้องการให้คนในประเทศแถบทวีปแอฟริกาใต้จดจำเขาก่อนที่จะถึงเวลาลงจากตำแหน่งในอีกไม่ช้า ในฐานะที่เป็น CEO ของบริษัทที่พัฒนาวัคซีนโรคมาลาเรียและทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลารายแรกของตลาด ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเปี่ยมจรรยาบรรณที่ได้ยุติการติดสินบนแพทย์ให้ส่งเสริมการใช้ยา และในฐานะผู้นำทัพธุรกิจยาที่ได้แสดงศักยภาพในการนำพาบริษัทยายักษ์ใหญ่ฝ่ามรสุมโดยปราศจากการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ซึ่งจะส่งผลเสียต่อองค์กร “พูดตามตรง ผมไม่รู้สึกเสียใจในสิ่งที่ตัดสินใจแม้แต่เรื่องเดียว” Witty วัย 52 ปีกล่าว “คนที่มีความสามารถมากกว่าอาจทำได้ดีกว่าผม แต่ผมคิดว่าเราเลือกเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง” ภาพของ Glaxo อาจเหมือนหนังคนละม้วนเทียบกับครั้งอดีตบริษัทมีอัตราเติบโตของรายได้เกือบจะคงที่นับตั้งแต่ Witty เข้ามารับตำแหน่งและราคาหุ้นให้ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่ง บริษัทถูกฟ้องร้องข้อหาการติดสินบนใน 6 ประเทศทั่วโลก ศาลพิพากษาว่าบริษัทมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาตามข้อกล่าวหาทำการตลาดผลิตภัณฑ์ยาด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2012 ซึ่งรวมถึงยาต่างๆ เช่น Paxil ยารักษาภาวะซึมเศร้าและAvandia ยาสำหรับโรคเบาหวาน บริษัทรับผิดยินยอมจ่ายค่าปรับ3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อยุติคดีมูลค่ามหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์วงการยา ภายหลังคดีอื้อฉาวสั่นสะเทือนวงการ Witty ดำเนินการในสิ่งที่ประธานบริหารบริษัทยาแทบไม่เคยทำมาก่อน ด้วยการยืดอกก้าวออกมากล่าวขอโทษ “ในฐานะตัวแทนจาก GSK ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและให้คำมั่นสัญญาว่าเราได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้” ปัญหาน่าขุ่นเคืองสำหรับ CEO คือ การที่เขาจะถูกติเตียนจากผลการตัดสินใจที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งเหตุการณ์อื้อฉาวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ Witty นั่งเก้าอี้บริหารเป็นผลจากเหตุการณ์ก่อนวาระบริหารของเขา แต่กระนั้นก็รวมถึงความสำเร็จเช่นกัน วัคซีนป้องกันมาลาเรียของ Glaxo ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนามานานกว่า 30 ปี ความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจในอดีตและอนาคตที่แทบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้สร้างความหนักใจให้กับ Witty อย่างมากเมื่อเขาต้องช่วยพิจารณาเลือกประธานบริหารคนใหม่มาสืบทอดตำแหน่ง “ในอุตสาหกรรมที่ผลิตภัณฑ์มีวัฏจักรชีวิตยาวนานเป็น 20 ปี หากประเมินสถานการณ์และวางแผนล่วงหน้าเพียง 1 ปี นั่นหมายถึงเส้นทางสู่หายนะ”Witty กล่าว “กลยุทธ์ของคุณจะต้องมีความสอดคล้องกันในเรื่องระยะเวลา และนั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำ” Witty ได้ลงมือดำเนินการครั้งสำคัญซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่า CEO คนใหม่ของ Glaxo จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในปี 2014 เขาบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจกับ Novartis โดยขายธุรกิจยารักษามะเร็งของ GlaxoSmithKline ออกไปแลกกับธุรกิจวัคซีนและธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพและเงินสด 1.6 หมื่นล้านเหรียญ บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่แห่งอื่นโดยส่วนใหญ่หวังพึ่งยารักษามะเร็งชนิดใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 100,000 เหรียญขึ้นไปต่อการรักษา Witty มองว่าอนาคตของยาชนิดนี้อยู่บนความเสี่ยงเนื่องจากคนจะไม่ควักเงินจ่ายไปโดยตลอดในระยะสั้น เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเขาเพราะบริษัทประกันในสหรัฐฯ ยังยินดีจ่ายเงินสำหรับเข้ารักษา นอกจากนี้เขายังมุ่งเป้าไปที่ประเทศแถบเอเชียและแอฟริกาซึ่งตลาดยารักษาโรคกำลังเข้าสู่ช่วงเติบโตดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาหุ้นยังไม่สะท้อนถึงการพลิกฟื้นของธุรกิจ แต่ตัวเลขกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นและในไตรมาส 2 ของปีนี้ยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่พุ่งขึ้น 2 เท่าเป็น 1.5 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 17% จากรายได้รวมของบริษัท Glaxo คาดการณ์ว่าผลกำไรของปีนี้จะขยายตัวอย่างน้อย 11% GlaxoSmithKline ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ London ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2001 จากการควบรวมกิจการมูลค่า 7.6 ล้านเหรียญระหว่าง Glaxo Wellcome ผู้ผลิตยา Wellbutrin (โรคซึมเศร้า) และยา Imitrex (โรคไมเกรน) และบริษัท SmithKline Beecham ผู้ผลิตยา Avandia (โรคเบาหวาน) และ Paxil (โรคซึมเศร้า) บริษัททั้งสองแห่งมีชื่อเสียงมานานในด้านการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมยาสำคัญๆ ซึ่งรวมถึงยาสำหรับโรค AIDS และยาปฏิชีวนะ ทว่า พวกเขาประสบปัญหาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับความนิยมป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง เพียงไม่นานหลังจากดีลควบรวมกิจการเสร็จสิ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เริ่มปะทุขึ้น ปี 2007 Avandia (ยาสำหรับโรคเบาหวาน) ถูก Steven Nissen ประธานกรรมการศูนย์โรคหัวใจของ ClevelandClinic เขียนบทความซึ่งตีพิมพ์ ใน New England Journal of Medicine โดยระบุว่า Avandia ของ GlaxoSmithKline ซึ่งเป็นยาสำหรับโรคเบาหวานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวาย ในที่สุดองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ออกมาตรการห้ามไม่ให้ใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งทำให้ยอดขายปีละ 3 พันล้านเหรียญหายวูบไปจากบริษัท การตอบโต้จาก J.P. Garnier ผู้บริหารคนก่อนหน้าWitty คือการนิ่งเงียบไม่ยอมรับ Witty ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานบริหารในเดือนพฤษภาคม 2008 เขาเป็นลูกหม้อของ Glaxo โดยทำงานกับบริษัทมานานกว่า 23 ปีและเป็นนักการตลาดที่เคยบริหารธุรกิจของ Glaxo ในแอฟริกาอยู่ช่วงหนึ่งก่อนรับหน้าที่ผู้บริหารประจำภูมิภาคยุโรป และดูเหมือนว่าเป้าหมายแรกของเขาคือการกอบกู้ภาพลักษณ์ของ Glaxo ทว่า Witty เผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการเสนอข่าวแง่บวกหรือสร้างทัศนคติที่ดี สิทธิบัตรยายอดนิยมของ GlaxoSmithKline ใกล้สิ้นสุดอายุลงซึ่งหมายความว่ากลุ่มยาสามัญตัวใหม่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ช่วงระหว่างปี 2006 ถึงปี 2009 ยาหลายชนิด หนทางเดียวของบริษัทที่จะทดแทนรายได้ส่วนที่ลดลงคือการพัฒนายาตัวใหม่ Glaxo ใช้จ่ายงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาปีละ 4.5 พันล้านเหรียญ Witty ทุ่มเดิมพันกับแผนกลยุทธ์ที่ประธานบริหารคนก่อนหน้าได้วางไว้โดยแบ่งพนักงานฝ่าย R&D ที่มีกว่า 10,000 คนออกเป็นหน่วยงานย่อยที่มีความอิสระหลายสิบทีม ซึ่งโดยหลักแล้วจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินการ และประสบความสำเร็จในการขออนุมัติจาก FDA เพื่อรับรองการใช้ยา 13 ตัว ในช่วงการบริหารของ Witty ซึ่งนับว่ามีจำนวนมากที่สุดหากไม่รวม Johnson & Johnson นักวิเคราะห์คาดว่า Benlysta ยารักษาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองที่ได้รับการอนุมัติในปี 2011 จะสร้างรายได้ราว 5 พันล้านหรียญในปี 2012 GlaxoSmithKline ควักกระเป๋า 3 พันล้านเหรียญเพื่อเข้าซื้อ Human Genome Sciences ผู้คิดค้นพัฒนายาตัวนี้ แต่ผิดคาด ปรากฏว่าไม่มีตลาดรองรับ ยอดขายในปี 2015 อยู่ที่เพียง 350 ล้านเหรียญแม้จะเติบโตถึง 33% จากปีก่อนหน้า ส่วนวัคซีน Cervarix สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 2 สายพันธุ์ ขณะที่ Gardasil วัคซีนจาก Merck บริษัทคู่แข่งสามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 4 สายพันธุ์ซึ่งรวมถึงไวรัส 2 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ รายได้จากการขายวัคซีน Cervarix อยู่ที่ 135 ล้านเหรียญเทียบกับ 1.9 พันล้านเหรียญ สำหรับ Gardasil ยาใหม่อื่นๆ อีก 5 ตัวของ Glaxo มีคุณสมบัติในการรักษาโรคมะเร็ง ในปี 2014 ยอดขายยาเกี่ยวกับโรคมะเร็งของบริษัทเติบโต 20% จนเกือบแตะ 2 พันล้านเหรียญ เมื่อปี 2014 Glaxo เริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนอีโบลาในมนุษย์ หนึ่งปีถัดมาองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปอนุมัติการใช้วัคซีนMosquirix ของบริษัทซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคมาลาเรียที่ได้พัฒนาโดยใช้เงินทุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation หลังจากนั้นวัคซีนป้องกันมาลาเรียดังกล่าวจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาขององค์การอนามัยโลก Witty ซึ่งใช้เวลาหลายปีในประเทศแถบแอฟริกาอันเป็นแหล่งระบาดของมาลาเรียกล่าวว่าหนึ่งในช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุดจากการประกอบอาชีพคือตอนที่เขาได้รับผลศึกษาขั้นต้นที่ระบุว่าวัคซีนนี้สามารถลดอัตราการติดเชื้อลงเกือบครึ่ง คงดีไม่น้อยหากความมุ่งมั่นของ Witty ในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นช่วยผลักดันให้ Glaxo เดินหน้าไปได้อย่างเต็มสูบ ทว่าเรื่องราวไม่ง่ายเช่นนั้น บริษัทต้องเผชิญกับประเด็นสำคัญจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อยาสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ทำเงินของบริษัท ทว่าภารกิจทั้งหมดนี้จะตกเป็นหน้าที่รับผิดชอบของประธานบริหารคนใหม่ซึ่งเข้ามาแทนตำแหน่ง Witty ผู้ท้าชิงเก้าอี้จากภายในองค์กรรวมถึง Emma Walmsley ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจดูแลสุขภาพและ Abbas Hussain ผู้บริหารธุรกิจยาทั่วโลกของ Glaxo แต่เป็นไปได้เช่นกันที่คณะกรรมการบริษัทอาจเลือกคนนอกองค์กร ไม่ว่าประธานบริหารคนใหม่จะเป็นใคร Witty ดูพร้อมเต็มที่สำหรับการส่งไม้ต่อ “มันไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด” เขากล่าว “เรามีข้อผิดพลาดและเกิดความล้มเหลว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หยุดความพยายามของเราและผมหวังว่าผู้นำทัพคนใหม่จะเดินหน้าพยายามอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังต้องพัฒนา”
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ถึงเวลา Glaxo เยียวยาธุรกิจ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559