WEF ประกาศ “ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยว” สูงที่สุดในโลก “ไทย” ครองอันดับ 31 - Forbes Thailand

WEF ประกาศ “ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยว” สูงที่สุดในโลก “ไทย” ครองอันดับ 31

World Economic Forum เปิดรายงานประจำปี 2019 ศึกษา ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยว สูงที่สุดในโลกสเปนครองแชมป์ ขณะที่ญี่ปุ่นแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จากการจัดอันดับทั้งหมด 140 ประเทศ

รายงานจาก World Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปีนี้ วัดผลเรื่องศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวของแต่ละประเทศจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาวะที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ นโยบายด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและบริการ ไปจนถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม

สำหรับปี 2019 ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับรวม 140 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสเปน โดยทำคะแนน 5.4 เต็ม 7 คะแนน ตามมาด้วยฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ทั้ง 4 ประเทศนับว่าหายใจรดต้นคอกันบนหัวตารางด้วยความต่างของคะแนนเพียงจุดทศนิยมหลักที่สองเท่านั้น

“10 อันดับแรก ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยว สูงที่สุดในโลก ปี 2019”

1.สเปน (5.4) 2. ฝรั่งเศส (5.4) 3. เยอรมนี (5.4) 4. ญี่ปุ่น (5.4) 5. สหรัฐอเมริกา (5.3) 6. สหราชอาณาจักร (5.2) 7. ออสเตรเลีย (5.1) 8. อิตาลี (5.1) 9. แคนาดา (5.1) 10. สวิตเซอร์แลนด์ (5.0)

แน่นอนว่า ญี่ปุ่น ย่อมเป็นประเทศอันดับ 1 ในเอเชียจากการรายงานครั้งนี้ ในขณะที่ประเทศจีนและเกาหลีใต้นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในรอบ 4 ปีที่มีการเก็บสถิติ

ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจการท่องเที่ยว

“10 อันดับแรก ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 2019”

4. ญี่ปุ่น (5.4) 7. ออสเตรเลีย (5.1) 13. จีน (4.9) 14. ฮ่องกง (4.8) 16. เกาหลีใต้ (4.8) 17. สิงคโปร์ (4.8) 18. นิวซีแลนด์ (4.7) 29. มาเลเซีย (4.5) 31. ไทย (4.5) 34. อินเดีย (4.4)

 

ธรรมชาติของ "ไทย" ยังสวย แต่เสี่ยงกับการจัดการสิ่งแวดล้อม

เมื่อเจาะลึกศักยภาพการแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย พบว่ามีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคะแนนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.3 คะแนน อันดับที่ 35 เมื่อปี 2015 เป็น 4.5 คะแนน อันดับที่ 31 ในปีนี้

ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจการท่องเที่ยว
คะแนนของประเทศไทยในด้านต่างๆ จากการจัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยวสูงที่สุดในโลก ปี 2019

หัวข้อที่ประเทศไทยได้คะแนนสูงจากรายงานฉบับนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ (อันดับที่ 10 ของโลก) ด้านโครงสร้างพื้นฐานการบริการท่องเที่ยว (อันดับที่ 14) ด้านการคมนาคมทางอากาศ (อันดับที่ 22) ขณะที่สิ่งที่ไทยทำได้ไม่ดีนัก เช่น ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (อันดับที่ 130) ด้านความปลอดภัย (อันดับที่ 111) และด้านความสะอาด (อันดับที่ 88)

ทั้งนี้ World Economic Forum รายงานว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศปีละ 35.5 ล้านคน โดยมีการใช้จ่ายให้กับการท่องเที่ยว 1,620 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน คิดเป็นมูลค่าธุรกิจการท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละ 5.75 หมื่นล้านเหรียญ เท่ากับ 9.6% ของจีดีพีประเทศไทย และช่วยสร้างงานให้กับประชากร 2.44 ล้านคน

 

สายการบิน "โลว์คอสต์" ช่วยธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู

รายงานฉบับนี้ยังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวในระดับโลกด้วยว่า แม้จะมีสงครามการค้าและแนวคิดเรื่องชาตินิยมกระพือเต็มหน้าข่าว แต่การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้าเพื่อต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลก โดยมี 101 ประเทศในรอบนี้ที่ทำคะแนนดีขึ้นจากรอบปี 2017

World Economic Forum มองว่า การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ สูงขึ้นจาก 3 หัวข้อเหล่านี้เป็นหลัก ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางอากาศ เส้นทางบินที่เพิ่มขึ้นและราคาตั๋วที่ถูกลงเพราะต้นทุนทั้งค่าเชื้อเพลิง ภาษี และค่าธรรมเนียมสนามบินที่ต่างพากันลดลง ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินเข้าถึงง่ายขึ้นมาก

2. ความพร้อมของเครือข่ายไอซีที นักท่องเที่ยวลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นมาก และเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นภาคธุรกิจที่มีอิทธิพลกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

3. การเปิดรับชาวต่างชาติในระดับสากล การพัฒนาในหัวข้อนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศที่มิใช่ประเทศรายได้สูง และวัดได้ชัดเจนจากการเปิดให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้มากขึ้น กลุ่มประเทศที่หันมาเปิดรับนักท่องเที่ยวมากกว่าในอดีตคือประเทศในแถบตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮาร่า และกลุ่มยูเรเซีย

 

ปัญหาทวีปเอเชีย: แลนดิ้งแล้วไปต่อไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้พบว่า บางหัวข้อที่มีผลต่อศักยภาพธุรกิจท่องเที่ยวยังมีการพัฒนาช้ากว่าที่ควร เช่น โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางบกและทางน้ำ ซึ่งประสิทธิภาพแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจาก 2 ปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้เกิดคอขวดของการเดินทางเชื่อมต่อทางอากาศสู่ทางบกในอนาคต เป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น

ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันด้านธุรกิจท่องเที่ยว-2019-คมนาคม-รถไฟ
(PHOTO CREDIT: Pornprom Satrabhaya / Bangkok Post)

อีกหัวข้อหนึ่งที่พัฒนาได้ช้าคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าการยื่นขอขึ้นทะเบียนสถานที่ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นมรดกโลกกับ UNESCO จะเติบโตขึ้นทุกปี แต่ในภาพรวมแล้ว กฎระเบียบเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมกลับพัฒนาขึ้นเพียง 0.4% ทำให้การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ และมลพิษทางอากาศยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรจะมีบทบาทและลงมือป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนที่พวกเขาจะสูญเสียการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติไปหมดในอนาคตอันใกล้