ททท. ผนึก ‘ขายหัวเราะ’ จ่อฟื้นฟูท่องเที่ยวมิติใหม่โดยใช้การ์ตูน บูรณาการแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อรับกระแส Next Normal ผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด เกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ททท. และ ขายหัวเราะ
อิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด กล่าวถึงที่มาของการร่วมมือกันกับ ขายหัวเราะ ในครั้งนี้ว่า เกิดจากความเข้ากันพอดีของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราด กับภาพจำของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ที่แฟนการ์ตูน และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตราดได้พบกับเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก เชื่อมมาจากเกาะนกใน และเกาะกระดาด เกาะนี้จะมีจังหวะที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงน้ำลด ซึ่งทำให้เห็นพื้นที่เกาะเล็กน้อยและมีต้นตะบันขึ้นอยู่เพียงโดดๆ เพียงต้นเดียว ทำให้มีลักษณะเหมือนแก๊กติดเกาะของการ์ตูนขายหัวเราะ ทำให้นักท่องเที่ยวพากันเรียกเกาะนี้ว่า ‘เกาะขายหัวเราะ’ จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดตราดในที่สุด ทาง ททท.สำนักงานตราด จึงเชิญขายหัวเราะมาร่วมส่งเสริมโปรโมตเกาะแห่งนี้ในนาม ‘เกาะขายหัวเราะ’ อย่างเป็นทางการโดยมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันตั้งรับ ฟื้นฟู และส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลาย ซึ่งหลายภาคส่วนทั้งการท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับท้องถิ่นต้องการการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมาก โดยสถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ที่รับผิดชอบในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ในไตรมาส 4 คือช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง (ตุลาคม-ธันวาคม 2564)ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะหดตัว ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ยังคงมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เห็นอยู่บ้าง ขณะที่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป สถานการณ์อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างต่อเนื่อง อีกทั้งพบการติดเชื้อจากกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ และยังพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีกหลายสายพันธุ์ ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวทุกจังหวัดตกอยู่ในภาวะทรุดตัว และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งการระบาดระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมากทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวครึ่งปีแรก 2564 ติดลบทั้งจำนวน และรายได้ทางการท่องเที่ยว ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานตราดกล่าวต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าจะไตรมาส 4 ของปี 2564 อนาคตของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในระยะการปรับตัวเข้าสู่ยุควิถีปกติใหม่ นักท่องเที่ยวจะนิยมการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและประสบการณ์แสวงหากิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยวและผลลัพธ์ในระยะยาวที่ยั่งยืน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น นักท่องเที่ยวจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น และเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัยคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเที่ยวยุคใหม่ การทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยกลายเป็นสิ่งสำคัญ “จากวิกฤตโรคระบาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ บางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางรายต้องเลิกกิจการไป และอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมฯ ซึ่ง ททท. ต้องเร่งฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิถีปกติใหม่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมบนพื้นฐานของปลอดภัยและความยั่งยืน”ความร่วมมือครั้งใหม่โดยใช้การ์ตูนสื่อสาร
อิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานตราดกล่าวต่อว่า การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวร่วมกับหนังสือการตูนขายหัวเราะที่มีผู้อ่านทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มอาชีพ ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่นำภาพของการ์ตูนมาคู่กับแหล่งท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งช่วยสร้างบุคลิก และบรรยากาศให้การท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความสนุกสนาน อารมณ์ดี และมีความสุขเมื่อได้มาเยือน รวมถึงเป็นการตอกย้ำว่าเกาะขายหัวเราะนั้นมีอยู่จริงที่จังหวัดตราด ถือเป็นการเชื่อมโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกของการ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยกันมายาวนาน ซึ่งนอกจากเกาะขายหัวเราะแล้ว เชื่อว่ายังสามารถช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปตามเกาะอื่นๆ อาทิ เกาะหมาก เกาะกระดาด เชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางสร้างรายได้ลงสู่พื้นที่นั้นอย่างทั่วถึง ด้าน พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ปบอกว่า การ์ตูนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งในโลกจริง และโลกเสมือน การผูกเรื่องราวและภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์กับการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ สามารถทำได้อย่างไม่จำกัดไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม การมุ่งสร้างองค์ความรู้เพื่อนักท่องเที่ยวทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม การเล่าด้วยการ์ตูนก็ทำได้อย่างไม่ยัดเยียด ประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับคาแรกเตอร์ เรื่องเล่าวัยเยาว์ ล้วนทำให้เกิดมิตรภาพและความประทับใจ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วจากแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลกว่า การ์ตูนและคาแรกเตอร์ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีและเข้าถึงกับผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย “ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบแห่งการใช้การ์ตูนและคาแรกเตอร์มาโปรโมตสารพัดสิ่ง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่น ก็ยังมีการต่อยอดรูปแบบใหม่ๆ ออกไปอยู่เรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในการใช้พลังการ์ตูนและ soft power มาสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เรียกได้ว่าแคมเปญเกาะขายหัวเราะ เป็นก้าวแรกที่สำคัญทั้งกับขายหัวเราะและโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคต อาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์ใหม่ๆ รูปแบบ storytelling ที่ต่างไปจากเดิม หรือการทำแคมเปญ ที่ไม่จำกัดรูปแบบ ซึ่งน่าจะเหมาะกับเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต ที่นักท่องเที่ยวต้องการมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบและเชิงลึกมากขึ้นด้วย” พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขายหัวเราะในฐานะ ‘สำนักการ์ตูนไทย’ นั้นมี DNA จุดเด่นเฉพาะตัว คือ ความถนัดในการใช้สื่อการ์ตูนเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง และความเข้าใจ insight รสนิยมความบันเทิงสนุกสนานและ culture แบบไทยๆ อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อีกหลากหลายแนวทาง ซึ่งขายหัวเราะต้องการใช้ความถนัดของเราในด้านการ์ตูน คาแรกเตอร์ อารมณ์ขัน และ storytelling มาเป็นสื่อและสร้างกิมมิกในการพัฒนา Content และออกแบบ Content Marketing รูปแบบแคมเปญที่สนับสนุนต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ ว่าเกาะขายหัวเราะที่ทุกคนคุ้นเคยจากแก๊กการ์ตูนและปกขายหัวเราะนั้นมีอยู่จริงๆ เป็นการเชื่อมโยงจินตนาการและความสนุกด้วยประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร “ตลอดเวลาที่โลกและประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด ขายหัวเราะ ในฐานะ องค์กรวิชาชีพการ์ตูน ได้พยายามใช้การ์ตูนและการเล่าเรื่องสื่อสารกับสังคมโดยร่วมมือกับ WHO หรือ หน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีเมื่อเรากำลังมุ่งหน้าสู่ระยะต่อไปเพื่อการฟื้นฟูประเทศ ขายหัวเราะก็ยินดีและมีความสุขที่จะมีส่วนร่วมในการนำตัวละครในการ์ตูนมาสนับสนุนภาคเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ การ์ตูนไทยถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกได้ เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนสามารถผลักดันขับเคลื่อนให้ขยายตัวเป็นสินค้าและบริการเชิงพาณิชยกรรมได้ สามารถยกระดับเป็นเครื่องมือสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนวัฒนธรรม ยังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายในหลากหลายท้องที่ ซึ่งรอให้นักท่องเที่ยวได้มาค้นพบ มิติใหม่ของการเล่าเรื่องด้วยพลังการ์ตูนของ ททท. น่าจะจุดประกายเชื้อเชิญให้นักเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่จริงไม่ว่าจะเป็นเกาะขายหัวเราะ มุมตึกคึกคัก หรือทะเลทรายสบายใจ รวมทั้งกองทัพตัวการ์ตูนมากมายที่พร้อมใจรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนทุกๆ คน” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ปกล่าวทิ้งท้าย โดยสามารถติดตามความร่วมมือระหว่างท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด และ ขายหัวเราะได้ทาง www.facebook.com/kaihuaror อ่านเพิ่มเติม: ซีพี เผย 4 กลยุทธ์สำคัญ ชู “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” รวมพลังผู้ประกอบการไทยไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine