จากก้าวแรกที่ เอก สุวัฒนพิมพ์ เริ่มเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวในปี 2544 เมื่อบิดาขอให้มาช่วยดูแลโครงการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม ISO 9001 ให้กับบริษัทเมื่อได้รับใบรับรองแล้ว ขอให้ช่วยดูแลคุณภาพของบริษัทให้คงอยู่ตามมาตรฐาน ISO ต่อ และมีโครงการอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ จนขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ของ บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด เมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
ย้อนเวลากลับไปในยุค ณรงค์ สุวัฒนพิมพ์ ผู้เป็นพ่อที่ดำเนินธุรกิจผลิตกล่องกระดาษของครอบครัว เมื่อเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ ถึงความต้องการใช้กาวในปริมาณมาก ทั้งในส่วนของการผลิตรองเท้าและเฟอร์นิเจอร์ที่ในสมัยนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก ณรงค์ จึงตัดสินใจนำเงินเก็บจำนวน 300,000 บาท ริเริ่มกิจการ บริษัท ซีลิค ไทย จำกัด (ภายหลังควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นๆ ในเครือและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด) เพื่อนำเข้าและผลิตกาวกลุ่ม solvent based หรือ contact cement ซึ่งเป็นสูตรจากประเทศไต้หวัน ใช้สำหรับประกอบรองเท้า เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ ในชื่อ “กาวตราลูกโลก” หรือ WORLD ณ โรงงานผลิตกาวย่านคลองภาษีเจริญ “ช่วง 40 ปีก่อน ธุรกิจผลิตรองเท้าและเครื่องหนังของไทยกำลังบูม จับตรงไหนก็ยังง่ายอยู่” เอก เล่าถึงความรุ่งเรืองของธุรกิจและจุดเปลี่ยนอันสั่นสะเทือนกิจการของครอบครัวช่วงปี 2538-2539 เมื่อวิกฤตค่าแรงงานไทยดีดตัว ส่งผลให้เจ้าของแบรนด์รองเท้าจากต่างประเทศ ได้แก่ Nike, Reebok, Adidas ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทนทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย บังคลาเทศ “แม้จะยังเหลือโรงงานผลิตรองเท้าอยู่บ้างแต่ก็ถือว่าตลาดหดตัวลงมาก ทำให้การแข่งขันรุนแรง ตัดราคาเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด” จากอัตราการเติบโตของตลาดกาวในเมืองไทยที่เคยเป็นก็เริ่มชะลอลงจนเริ่มไม่เติบโต บริษัทจึงเริ่มขยายไปส่งออกต่างประเทศ เช่น เมียนมา ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้เป็นปริมาณที่มากนักและคู่แข่งคือบริษัทไทยด้วยกัน เมื่อไปไกลไม่พอ ปี 2550 Selic ตัดสินใจเดินสู่เส้นทางตลาดใหม่อย่างแอฟริกา ซึ่งน่าสนใจทั้งในแง่อัตราค่าแรงขั้นต่ำราคาถูกและเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าไปจำหน่ายยังยุโรปและตะวันออกกลางค่อนข้างมาก โดยมี นิดา เที่ยงธรรม น้องสาวเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญคือและปัจจุบันนั่งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย และผลจากการบุกเบิกตลาดแอฟริกาอยู่ 3-4 ปีทำให้ยอดขายจากตลาดแอฟริกาเติบโตขึ้นเป็น 3 ถึง 4 เท่าตัว หรือเติบโตจากที่มียอดขายเฉลี่ย 3.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 เป็น 9.07 ล้านเหรียญในปี 2555 หลังจากช่วงชิงตลาดแอฟริกามาได้ Selic ก็เริ่มรุกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ แต่ก็มีอุปสรรคล่าสุดที่ต้องเผชิญคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเมื่อช่วง 2 ปีก่อน พร้อมทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวถาโถมเข้ามาด้วยทำให้ความต้องการซื้อรองเท้าทั่วโลกลดลง จึงดึงให้ยอดขายกาวลดลงตาม ทางออกของปัญหาคือการติดนวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ เขาทุ่มทุนตั้งศูนย์ R&D เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมผู้ผลิตต่างประเทศทั้งในแง่คุณภาพและต้นทุนถือว่าใหญ่สุดในอาเซียน ด้วยทีมนักเคมีจำนวนถึง 20 คน ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ทัดเทียมผู้ผลิตต่างประเทศทั้งในแง่คุณภาพและต้นทุน พร้อมกับสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงจุดขึ้นและงานสำคัญจาก Sharp “ที่ทำโปรเจคให้ Sharp เป็นหนึ่งในผลงานที่เราภูมิใจมาก เมื่อ 2 ปีก่อนที่เข้าไปตอนแรกลูกค้าบอกว่าไม่มีใครทำได้นอกจากบริษัทเยอรมันที่เคยทำให้ แต่เราก็ขอโอกาสลองดู แล้วเราก็ทำได้และเคยได้รับรางวัล supplier ดีเด่นจาก Sharp ที่สามารถช่วยลดต้นทุนให้ได้พอสมควร” เอก กล่าว จากการสร้าง ศูนย์ R&D Selic ได้ผลงานเด่นๆ คือ การสามารถพัฒนากาวกลุ่ม PUR hot melt (polyurethane reactive hot melt adhesive) ได้ทีเดียวในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันผู้จำหน่ายกาวในไทยอื่นๆ ต้องนำเข้ามาเพราะผลิตเองไม่ได้ และแนวโน้มจะมีความต้องการใช้ในเมืองไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต นับแต่ที่เริ่มทำโครงการแรกที่พ่อมอบหมายจนมารับตำแหน่งผู้นำหมายเลขหนึ่งของ Selic ในปัจจุบัน เอกย้อนเวลาไปถึงยุคที่เข้ามาทำงานในบริษัทของครอบครัว “ผมมองว่าการปรับตัวในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ต้องอาศัยการพูดคุย การอธิบาย และการออกคำสั่ง บ้างผสมผสานกันไป ซึ่งการบริหารคนเป็นเรื่องยากและเป็นจุดอ่อนของผม เพราะมองว่าตัวเองไม่ถนัด แต่ผมก็ไม่เคยปรึกษาพ่อเรื่องนี้เพราะจะกลายเป็นทะเลาะกันแทน ผมจึงพยายามค่อยๆ ทำความเข้าใจและหยุดฟังเพื่อพิจารณาว่าถูกหรือผิด” เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: จันทร์กลาง กันทองคลิ๊กอ่าน "เอก สุวัฒนพิมพ์ ผนึก Selic ให้ติดเบอร์ 1 เอเชีย" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRURY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine