บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG หุ้นน้องใหม่ที่ประเดิมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นตัวแรกของปี 2563 และได้รับการตอบรับที่ดี สะท้อนถึงทิศทางธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ที่ถูกผลักดันโดยคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง "ธนัช จุวิวัฒน์" ประธานกรรมการบริหารบริษัท
จากความหลงใหลในงานออกแบบ ดีไซน์ คอมพิวเตอร์ กราฟิก และวิชวลเอฟเฟกต์ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่การใช้คอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ด้วยพรสวรรค์และพรแสวง หลังจากจบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ธนัชได้เข้าไปฝึกฝน เรียนรู้ในสนามจริงกับโปรดักชั่นเฮ้าส์ชั้นนำอย่าง ดิจิตอล ฟิล์ม ของ ลำเนาว์ สุดโต มือหนึ่งด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกของเมืองไทย
ธนัชฝึกฝนฝีมือในฐานะมือปืนรับจ้างอยู่หลายปี รับตั้งแต่งานโฆษณา รายการโทรทัศน์ แอนิเมชั่น แม้กระทั่งการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบเพลงในผับ ด้วยความเชื่อที่ว่า “โลกของดิจิทัลคอนเทนต์ไปได้ทุกที่”
ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยสอนคอมพิวเตอร์กราฟิก และวิชวลเอฟเฟกต์ด้วย เพราะสมัยนั้นการเรียนการสอนด้านนี้ยังมีไม่มากนัก จนพบกับ ศรุต ทับลอย พันธมิตรและผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป ที่มีความเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันสร้างบริษัทให้บริการด้านเทคนิคภาพที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยทีมงานคนไทยที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“นับตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัท เป้าหมายของผมคืออยากทำงานใหญ่ในระดับโลก สิ่งที่เป็นแรงผลักดันคือ แม้เราจะไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศ แต่ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าฝีมือคนไทยเก่งไม่แพ้ใคร เราต้องการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้คนทั่วโลกได้ดู แม้จะเป็นบริษัทคนไทยก็สามารถรับงานเมืองนอกได้อย่างมีมาตรฐาน และสามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้” ธนัชย้อนอดีตถึงช่วงที่ยังเป็นสองหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง
มุ่งมั่นก้าวสู่องค์กรระดับโลก
ก่อนก่อตั้ง บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป ชื่อที่มีความหมายถึงต้นไม้ที่ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ธนัชและศรุตได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ หลายคน ซึ่งตอนนั้นถือเป็นแหล่งรวมของยอดฝีมือในแวดวงคอมพิวเตอร์กราฟิก และวิชวลเอฟเฟกต์ อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับงานด้านความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ความฝันของทั้งสองคนบรรลุเป้าหมายการเป็นบริษัทระดับโลกได้ ต้องมีส่วนผสมของความรู้ด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย
ธนัช กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรธุรกิจจะต้องมีและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์กรเติบโต คือ มุมมองและแผนดำเนินการด้านธุรกิจ และในเมื่อเป้าหมายคือการเป็นบริษัทระดับโลก จึงต้องเข้าไปเรียนรู้การทำงานขององค์กรใหญ่ จุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละองค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นการก้าวไปสู่อีกเส้นทางหนึ่งของตัวเอง
“ตอนนั้นเมื่อเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องเป็นองค์กรระดับโลก เราต้องเรียนรู้การบริหารงาน การพัฒนาองค์กรอย่างไรให้เติบโต ผมก็เข้าไปเรียนรู้ทุกอย่าง ทั้งเข้าคอร์สอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารต่างๆ การอ่านหนังสือต่างประเทศ และเรียนรู้ความสำเร็จขององค์กรขนาดใหญ่ เพื่อวางแผนการเติบโตสู่องค์กรระดับโลกในอนาคต” ธนัชกล่าวอย่างมุ่งมั่นถึงเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการก้าวสู่องค์กรระดับโลกจำเป็นต้องขยายกิจการให้มีจำนวนพนักงานอย่างน้อย 100 คน และการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงบุคลากรให้ได้มาตรฐาน ซึ่งหลังจากเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐที่สนับสนุนผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ทั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีป้า ธนัชพบว่า ตลาดคอนเทนต์ในระดับโลกมีการเติบโตสูงมาก และถือเป็นโอกาสอันมหาศาลของบริษัท
ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจเดินหน้าขยายงาน และขยายคน จาก 10 คนในช่วงเริ่มต้นเป็น 20 และ 120 คนในปัจจุบัน รวมทั้งยังขยายงานในส่วนของแอนิเมชั่นและเกม เพิ่มเติมจากงานโฆษณาและภาพยนตร์ โดยเริ่มมีลูกค้าจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และแคนาดาให้ความเชื่อมั่นมากขึ้น
“เราเลือกวิธีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ เพราะลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติ เราต้องการเติบโตในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมั่นคงและมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้รับความน่าเชื่อถือในฐานะทางการเงิน เราต้องการเป็นบริษัทด้านความคิดสร้างสรรค์แห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาด และเราต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจนี้” ธนัชระบุถึงการนำบริษัทระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต
ปักหมุดตลาดจีน-อเมริกาเหนือ
ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อิ๊กดราซิลสร้างชื่อเสียงด้านการสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียบร้อย แผนธุรกิจส่วนหนึ่งนอกจากการขยายสำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ แล้ว ธนัชสนใจการปักธงธุรกิจที่แคนาดา ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของธุรกิจคอนเทนต์ในระดับโลก ถือเป็นการสร้างรากฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน ตลาดแอนิเมชั่นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นธุรกิจอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve ที่ประเทศไทยกำลังให้การส่งเสริม เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ผนวกกับธุรกิจพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีแพลตฟอร์ม Netfix, Disney, Amazon รองรับ และมีความต้องการคอนเทนต์ที่ดีตลอดเวลา ขณะที่ตลาดเกมมีมูลค่าโดยรวมค่อนข้างใหญ่ ซึ่งในอนาคตจะได้รับปัจจัยหนุนจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายขึ้น” ธนัชกล่าว
ด้วยเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรม และความมุ่งมั่นในเป้าหมายที่จะเป็นครีเอทีฟดิจิทัลคอนเทนต์ฮับระดับโลก หรือเป็น “ดิสนีย์ เมืองไทย” ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีการให้บริการระบบ 5G จะเข้ามาเสริมให้การทำงานของอิ๊กดราซิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งมีโอกาสในการสร้างความสำเร็จให้กับลูกค้าและคู่ค้า ภายใต้เป้าหมายสูงสุด คือการสร้างงานที่เป็นสินทรัพย์ของตัวเอง เช่น งานภาพยนตร์แอนิเมชั่น และเกม ซึ่งในส่วนของเกม บริษัทได้ทดลองพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเองแล้ว ชื่อ Home Sweet Home ในเวอร์ชั่นที่ 2 ได้ร่วมพัฒนากับประเทศจีน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเวอร์ชั่นที่ 3
“ยุคนี้ต้องสร้างเครือข่าย เพราะเป้าหมายของเราคือการผลิตคอนเทนต์ให้โลกดู เราคิดสร้างสรรค์งานจากมันสมองของคนไทย และสามารถนำไปมิกซ์กับต่างประเทศได้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น” ธนัชเล่าถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ
ปัจจุบัน อิ๊กดราซิลกรุ๊ปมีรายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วน 70% รายได้จากในประเทศ 30% ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 147.68 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 41.31 ล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายผลการดำเนินงานเติบโตปีละ 15-20% โดยต้องการเป็นหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock ซึ่งมีการเติบโตสูงและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอให้กับผู้ลงทุน
ธนัชถือเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ด้วยวัยไม่ถึง 40 ปี แต่ถือว่ามีอายุมากที่สุดในองค์กร เพราะทีมงานส่วนใหญ่อยู่ในวัยเฉลี่ย 25-30 ปีเท่านั้น ซึ่งทำให้องค์กรได้แนวคิดและคอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเขาจะคอยแชร์ประสบการณ์และวิธีการทำงานเข้าไปเป็นส่วนผสม ทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
“เวลาว่างของผมคือการไปดูงาน เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ต้องตามให้ทัน และต้องนำเทคโนโลยีนั้นมาประยุกต์ใช้กับงานของเราให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, Big Data โดยเฉพาะเวลาได้ไปดูงานพวกนี้ในต่างประเทศ จะรู้สึกเพลิดเพลิน และได้พักผ่อนไปในตัว รวมถึงได้ไอเดียที่จะนำมาพัฒนางานของตัวเอง” ธนัชกล่าวทิ้งท้ายถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อ่านเพิ่มเติม ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง