สร้างฟิโก้ กรุ๊ป สู่ Life Partner - Forbes Thailand

สร้างฟิโก้ กรุ๊ป สู่ Life Partner

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Feb 2016 | 03:26 PM
READ 23067

เขาไม่ขออิงความสำเร็จธุรกิจสิ่งทอยักษ์ใหญ่ของตระกูล แต่เลือกกระโจนเข้าหาความท้าทายใหม่ เริ่มต้นกิจการของตนเองในวัย 17 ปี ด้วยทุนตั้งต้น 20 ล้านบาทที่ปู่มอบให้ แต่ 20 ปีผ่านไป อาณาจักรฟิโก้ กรุ๊ป ที่ กฤษน์ ศรีชวาลา ปลุกปั้น สร้างรายได้รวมเฉียดหมื่นล้านบาท พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยทั้งในไทยและต่างประเทศ

“เราไม่ได้มีอสังหาริมทรัพย์มากขนาดนั้นหรอกครับ” กฤษน์ ศรีชวาลา วัย 39 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป และ บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เอ่ยกับ Forbes Thailand อย่างถ่อมตัว เมื่อเราไล่รายชื่ออาคารที่เขาครอบครองในย่านทำเลทองของกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหลายแห่ง ทั้งพร้อมพงษ์ อโศก เพลินจิต ฯลฯ เฉพาะอโศกเพียงจุดเดียว เขาเป็นเจ้าของ 3 อาคาร ได้แก่ Fico Place ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ติดกันคือโรงแรม Pullman Bangkok Grande Sukhumvit ปิดท้ายด้วย Interchange 21 อาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่หัวมุมของแยกอโศกมนตรีช่วงที่กฤษน์ เรียนมหาวิทยาลัย เป็นเวลาเดียวกับที่ครอบครัวกำลังสร้างธุรกิจสิ่งทอให้เติบใหญ่ แต่กฤษน์ กลับขอเดินออกจากธุรกิจกงสี พร้อมก้าวออกจากห้องเรียน และตั้ง ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น ขึ้นในปี 2536 เมื่ออายุราว 17 ปี ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรด้านสิ่งทอจากสวิตเซอร์แลนด์และจำหน่ายเส้นด้ายปู่มอบเงินให้เขา 20 ล้านบาทในการเริ่มต้นธุรกิจ เงิน 10 ล้านบาทแรกใช้ไปกับการซื้อที่เพื่อสร้างสำนักงานที่ อ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก ส่วนอีก 10 ล้านบาทเขานำไปซื้อเครื่องจักรตัวอย่าง ทว่าเงินลงทุนกลับไม่พอ กฤษน์ ต้องขอยืมปู่ 5 ล้านบาท “ท่านก็ให้ผมยืม แต่คิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษคือ 10% ต่อปี” เขาเล่ากลั้วหัวเราะธุรกิจแรกของกฤษน์ ไปได้สวย ผ่านไป 2-3 เดือนก็สามารถนำเงินไปคืนปู่ได้สำเร็จ และปิดรายได้รวมของปีแรกด้วยกำไรราว 8 ล้านบาท และภายหลังเขาก็ขยายธุรกิจไปยังสิ่งทอ โดย กฤษน์ มี บริษัท ฟีนาเท็กซ์ จำกัด ซึ่งมีรายได้รวมระหว่างปี 2555-2557 อยู่ที่ 2.368 พันล้านบาท 2.197 พันล้านบาท และ 2.353 พันล้านบาท ตามลำดับ)กฤษน์ ให้ความสำคัญกับย่านธุรกิจสำคัญเป็นหลัก เขาซื้อที่ดินในสุขุมวิท 11 ทำโรงแรม Le Fenix Sukhumvit และขยับไปซื้อที่ดินหัวมุมสุขุมวิท 31 เพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน Fenix Towerท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และพื้นที่สำนักงานแถบนั้นก็ยังว่างอยู่เป็นจำนวนมาก ทว่ากฤษน์ กลับมองเป็นโอกาสดี เนื่องจากค่าที่ดินและค่าก่อสร้างยังไม่แพง และหากคิดค่าเช่าเท่ากับตึกเก่า โอกาสที่บริษัทจะย้ายมาตึกใหม่ย่อมมีมากกว่าเขาคาดการณ์ไม่ผิด ทั้งยังไปได้ดีกว่าที่คิดไว้ เมื่อบริษัทเอกชนข้ามชาติติดต่อขอเช่าเซ้ง กฤษน์จึงขายให้ และบริษัทดังกล่าวได้ขายสิทธิ์ต่อให้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต กลายเป็น RSU Tower ในปัจจุบัน ซึ่งสิทธิ์จะกลับเป็นของกฤษน์อีกครั้งในอีก 19 ปีจากนั้น นักธุรกิจหนุ่มก็สร้างอาคารสำนักงานขึ้นอีก คือ Interchange 21 และลุยธุรกิจโรงแรมมากขึ้น ทั้ง Grande Millennium Sukhumvit (ปัจจุบันคือ Pullman Bangkok Grande Sukhumvit) Holiday Inn Bangkok Sukhumvit ปากซอยสุขุมวิท 22 Novotel Bangkok Ploenchit Sukhumvit ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต Novotel Bangkok Silom ในย่านสีลม รวมทั้งสร้างโรงแรมบูติคในแบบที่เขาชอบด้วยอีก 2 แห่ง คือ The Eugenia Bangkok สุขุมวิท 31 ออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล และ Hotel Muse ซึ่งเปรียบดัง “ลูกรัก” ของ กฤษน์ ตั้งอยู่ย่านหลังสวน ใช้งบลงทุนไปราว 1.5 พันล้านบาทความเป็นคนชอบความท้าทายและไม่เคยหยุดนิ่ง ผลักให้กฤษน์ แสวงหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ นอกจากอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม เขายังแตกหน่อไปสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และแฟชั่น ซึ่งกฤษน์กล่าวว่าเขาต้องการสร้างอาณาจักรฟิโก้เป็น “life partner” เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ภายใต้กลุ่มบริษัทให้เข้ากับวิถีชีวิตของทุกคน  ด้วยการซื้อหุ้น บริษัท เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “E” ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย (ตลาด mai) ร้อยละ 33.7 ส่งให้ “ศรีชวาลา” มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยมีกฤษน์นั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการและประธานกรรมการบริหาร (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2559 ) มีแบรนด์ในความดูแล เช่น The Coffee Bean & Tea Leaf, Domino’s Pizza, Kyochon, Mr.Jones’ Orphanage เป็นต้น

 เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น


คลิ๊กอ่าน "สร้างฟิโก้ กรุ๊ป สู่ Life Partner" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016ในรูปแบบ E-Magazine