หลังเก็บเกี่ยวกำไรจากการขาย Ensogo สามพี่น้องตระกูลศรีวรกุลจับมือพันธมิตรตั้งกองทุนร่วมทุน หรือ venture capital ที่มุ่งปั้นธุรกิจ e-commerce หน้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งคว้าโอกาสจากตลาดดิจิทัลที่กำลังรุ่งด้วยกำลังซื้อมหาศาล
ด้วยความสำเร็จจาก Ensogo เว็บไซต์ธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซในรูปแบบคูปองออนไลน์รายแรกในเมืองไทย ที่แจ้งเกิดเมื่อปี 2553 ด้วยเงินทุน 2 แสนเหรียญ ได้เข้าตา Living Social จากสหรัฐฯ จนตัดสินใจซื้อกิจการ Ensogo ในไทย ในราคา 68 ล้านเหรียญ เมื่อมิถุนายน 2554 ดีลดังกล่าวทำให้ 3 พี่น้องลูกครึ่งไทย-ฟิลิปปินส์ ทอม, จอห์น และพอล ศรีวรกุล (ขณะนั้นอายุ 36, 34 และ 33 ปี) ผู้ก่อตั้ง เป็นที่จับตามอง หลังอยู่ใต้ร่มเงา Living Social ได้ราว 1 ปี พอล ศรีวรกุลพร้อมด้วยพี่ชายทั้งสองและ Piers Bennett ซึ่งเคยร่วมงานกันตั้งแต่ Ensogo ตัดสินใจเริ่มธุรกิจ venture capital หรือ VC กับ Adrian Vanzyl เมื่อปี 2555 ปัจจุบันทั้งเขาและ Adrian ต่างเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท อาร์เดนท์ แคปปิตอล จำกัด (Ardent Capital) ที่เน้นการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจ e-commerce แก่ผู้เริ่มต้นธุรกิจหรือ startups ในอาเซียนเป็นหลัก นอกจากนี้ พอลยังรับหน้าที่ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอคอมเมิร์ซ จำกัด (aCommerce) ซึ่งเป็นธุรกิจผู้ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาและให้บริการดูแลร้านค้าออนไลน์แก่แบรนด์ต่างๆ อย่างครบวงจร ในเครือบริษัท Ardent อีกด้วย โดยในปี 2556 Ardent ได้รับพันธมิตรจากต่างแดนมาร่วมลงทุน อีก 3 ราย คือ Siemer Ventures จากสหรัฐและ Recruit Strategic Partners และ GMO Venture จากญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน Ardent ลงทุนรวมแล้วกว่า 20 ล้านเหรียญ (ุ660 ล้านบาท)3 C ปั้นเว็บไซต์ให้เลอค่า
- Content: พัฒนาเนื้อหาในหัวข้อที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและดึงดูดให้เข้ามาดูข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
- Community: ด้วยจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่หนาแน่นและมีกลุ่มก้อนชัดเจน จนทำให้เว็บไซต์เป็นดังชุมชมหรือศูนย์กลางของผู้ที่มีความสนใจร่วมกันมาแลกเปลี่ยนและสื่อสารกัน
- Commerce: เมื่อจุดยืนของเว็บแข็งแรงและเรียกแขกได้ต่อเนื่อง จะนำไปสู่การเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะมาซื้อพื้นที่โฆษณา และยังต่อยอดสู่การเป็น marketplace สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
จนถึงปัจจุบัน Ardent ลงทุนรวมแล้วกว่า 200 ล้านเหรียญ โดยในปี 2558 ตั้งเป้าจะลงทุนอีก 12.5 ล้านเหรียญ แต่สามารถขยายเพิ่มได้อีก 25 ล้านเหรียญ หากมีโอกาสที่น่าสนใจเข้ามา โดยมุ่งการลงทุนในอาเซียนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใสด้วยจำนวนผู้บริโภคออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ ก็เคยผ่านประสบการณ์ startup ที่ล้มเหลวมาก่อน หนึ่งในนั้นคือ Yello เว็บไซต์จัดหางานออนไลน์และพัฒนาโปรแกรมให้คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มธุรกิจใหม่ ที่ก่อตั้งด้วยทุนกว่า 4 ล้านเหรียญเมื่อปี 2549 แต่ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2553 เช่นเดียวกับ Earthhop ที่เขาหวังปั้นให้เป็น Expedia แห่งอาเซียน แต่ต้องหยุดโครงการหลังทำได้เพียง 2 ปีเท่านั้น “คนจะรอดต้องไม่ยอมแพ้ และถ้ามีเงินมากพอก็ลองผิดลองถูกได้มากกว่า”
อ่าน "พอล ศรีวรกุล ปั้น Startups อาเซียนด้วย Venture Capital" ฉบับเต็มใน Forbes Thailandฉบับ JANUARY 2015 - CORRECTION: เนื่องจากความผิดพลาดในคอลัมน์ THRIVING 30s ฉบับเดือนมกราคม 2015 ทางกองบรรณาธิการ Forbes Thailand ขอแก้ไขตัวเลขมูลค่าการลงทุนของ Ardent จาก 200 ล้านเหรียญ เป็น 20 ล้านเหรียญ ผ่านทางเว็บไซต์ -