ธิญาดา ควรสถาพร ผันผงธูปสู่เชื้อเพลิงชีวมวล - Forbes Thailand

ธิญาดา ควรสถาพร ผันผงธูปสู่เชื้อเพลิงชีวมวล

ทายาทรุ่น 3 แห่ง ABM ธิญาดา ควรสถาพร ผู้รับมอบภารกิจนำธุรกิจค้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่แปลงร่างจากกิจการค้าผงธูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เดินเกมผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนส่งถึงมือลูกค้าที่ปลายน้ำ ด้วยเป้าหมายทำรายได้แตะ 4 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

กว่า 60 ปี ที่ครอบครัวควรสถาพรในนามร้านก๊กฮวดเริ่มต้นจากธุรกิจการเป็นผู้ผลิตผงธูป วัตถุดิบยาจุดกันยุง และจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลจากแกลบเศษไม้ และเศษฟืน ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมกระทั่งจัดตั้งบริษัท อุตสาหกรรมผงธูปไทย จำกัด เมื่อปี 2527 โดย พนม ควรสถาพร เพื่อต่อยอดกิจการให้แข็งแกร่งขึ้น ตามมาด้วยบริษัท สถาพรธนาพัฒน์ จำกัด (STP) ในปี 2533 ครั้นเมื่อผู้ก่อตั้งเล็งเห็นว่าธุรกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลส่องประกายรุ่งเรืองจากความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงหันมาเน้นค้าเชื้อเพลิงชีวมวลแทนแล้วยกเลิกการดำเนินธุรกิจผลิตผงธูป และวัตถุดิบยาจุดกันยุง พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด เมื่อปี 2552 ซึ่งตั้งแต่เมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบันอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของ ธิญาดา ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่น 3 วัย 31 ปี ที่วางเป้าหมายทำรายได้ถึง 4 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ทำรายได้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท “ในยุคที่ผู้ประกอบการไทยเริ่มไม่นิยมผลิตธูป เพราะราคาสู้ธูปจากเมืองจีนที่ต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้ ขณะที่ความต้องการด้านพลังงานทดแทนกลับเพิ่มขึ้นทุกปี ทางครอบครัวจึงยกเลิกผลิตผงธูป แล้วมาเน้นเรื่องค้าเชื้อเพลิงแทน” เมื่อเลือกแล้วที่จะตั้งหลักในธุรกิจค้าเชื้อเพลิงชีวมวล จึงดำเนินกิจการสืบต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งแจ้งเกิดบริษัทย่อยอื่นๆ ตามมา ได้แก่ บริษัท ภาประภัส จากัด (PPP) เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล โดยจะจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ครั้นเมื่อตลาดในไทยแข็งแรงดีแล้ว ABM จึงเริ่มออกไปสร้างความท้าทายนอกบ้านตั้งแต่เมื่อปี 2556 โดยจัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ 3 บริษัทเพื่อดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และจำหน่ายแก่ ABM เพื่อให้ ABM ไปจัดจำหน่ายต่อ โดยมีทั้งการจัดส่งสินค้าตรงจาก 3 บริษัทย่อยดังกล่าวให้กับลูกค้าของ ABM ในต่างประเทศ และจัดส่งมายังคลังสินค้าของ ABM ในประเทศไทย “กะลาปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างยอดขายสูงสุด เพราะมีปริมาณสูงทั้งในแง่ demand และ supply ขณะที่ชีวมวลอัดแท่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากแรงกระตุ้นฝั่งประเทศเกาหลีเข้ามาค่อนข้างมาก” อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดเตรียมคลังสินค้า 8 แห่งทั้งในและต่างประเทศสำหรับเก็บสินค้าได้มากกว่า 240,000 ตัน เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ทั้งในแง่สำรองสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนของสินค้า ที่ในช่วงเวลาสินค้ามีราคาต่ำลง แล้วบริษัทสามารถสำรองสินค้าไว้ได้จำนวนมาก ในปัจจุบัน ทาง ABM จึงวางหมากด้านการจัดหาสินค้าในส่วนของตลาดไทยที่เน้นรวบรวมเชื้อเพลิงจากแหล่งผลิตโดยตรงพร้อมบริหารจัดการด้านขนส่งและจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ ขณะที่ในส่วนต่างประเทศใช้ยุทธวิธีตั้งบริษัทย่อยในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อเก็บรวบรวมกะลาปาล์มรวมถึงเช่าคลังสินค้าในต่างประเทศเพื่อบริหารต้นทุนวัตถุดิบ เพราะต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงคืออาวุธลับที่ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสร้างผลกำไรได้เหนือกว่ากัน “แต่ก่อนการแข่งขันช่วงชิงซื้อเชื้อเพลิงเช่น กะลาปาล์ม ไม่ได้สูงมาก แต่ปัจจุบันในเมืองไทยมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจคล้ายๆ กับเรา และนำเข้าเชื้อเพลิงเหล่านี้มาขายอยู่ 3-4 ราย” อย่างไรก็ตามเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและป้องกันความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแหล่งเชื้อเพลิง ทาง ABM จึงมีการลงทุนขยายธุรกิจต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยการขยายสู่ธุรกิจต้นน้ำ เพื่อช่วยบริหารต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ จึงรุกคืบสู่การดำเนินธุรกิจไปยังธุรกิจต้นน้ำของกลุ่มสินค้าที่ได้จากการแปรรูปไม้ต่างๆ เพื่อเป็นดั่งการประกันแหล่งผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานในอนาคตอย่างยั่งยืนโดย ABM จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.แฟนซีวู๊ด อินดัสตรีส (FANCY) ที่ถือหุ้นในอัตรา 49% และ 51% ตามลำดับ ในนาม บริษัท แฟนซี เอบีเอ็ม จำกัด ซึ่งทำโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยกำลังการผลิตระยะแรกที่ 5,000 ตัน/เดือนเนื่องจากทั้งสองบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานจึงเลือกทำธุรกิจด้วยกัน รับโจทย์สู่มหาชน นอกเหนือไปจากการตัดริบบิ้นเปิดตลาดส่งออกเชื้อเพลิงและตั้งธุรกิจในต่างประเทศที่เป็นผลงานเด่นของเธอในฐานทายาทแล้วหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ธิญาดามุ่งมั่นรับช่วงสานต่อจากบิดาของเธอ คือการเตรียมพร้อมให้ ABM เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนที่จะใช้ในการขยายพื้นที่เก็บรวบรวมกะลาปาล์มเพิ่มเติมในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งกับบริษัทร่วมทุนพื้นที่บริเวณภาคใต้ รวมถึงลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตไม้สับ และโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งใน จ.สุราษฎร์ธานี “เป็นความต้องการของคุณพ่ออยู่แล้วที่อยากให้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะนอกจากประโยชน์ในส่วนต้นทุนการเงินและภาพลักษณ์องค์กรที่ดูน่าเชื่อถือแล้วจุดสำคัญคือเมื่อเป็นมหาชนก็มีส่วนช่วยดึงคนเก่งให้มาเลือกทำงานกับเรามากขึ้น”   ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านฉบับเต็ม ธิญาดา ควรสถาพร ผันผงธูปสู่เชื้อเพลิงชีวมวล ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine