จุฑาศรี คูวินิชกุล สตาร์ท GrabTaxi ให้วิ่งฉิว - Forbes Thailand

จุฑาศรี คูวินิชกุล สตาร์ท GrabTaxi ให้วิ่งฉิว

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Jul 2015 | 03:16 PM
READ 1759

จุฑาศรี คูวินิชกุล ทายาทธุรกิจอลูมิเนียมพันล้าน กรุยทางขับเคลื่อน GrabTaxi ในไทย ผนึกพลังเพื่อนร่วมชั้นเรียน Harvard Business School สร้างเครือข่ายเรียกแท็กซี่ผ่าน application คลุม 17 เมือง ใน 6 ประเทศอาเซียน ศักยภาพจูงใจดึงทุนจาก VC กว่า 340 ล้านเหรียญ

ออฟฟิศของ GrabTaxi ประเทศไทย ที่อาคารชัยสงวน ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ ในวันที่ Forbes Thailandไปเยือน (แน่นอนว่าเราเลือกเดินทางไปที่นั่น ด้วยการเรียกรถแท็กซี่ผ่าน app ดังกล่าว) มีผู้บริหารหนุ่มสาวไฟแรงจากมาเลเซียและสิงคโปร์หลายคนมาร่วมประชุม เสียงพูดคุยหยอกล้ออย่างสนุกสนานดังขึ้นเป็นระยะ ระหว่างที่เราขอถ่ายภาพ “เห็นสนุกอย่างนี้ ถึงเวลาประชุมพวกเราจริงจังกันมากนะคะ” จุฑาศรี คูวินิชกุล วัย 32 ปี Director ของ GrabTaxi ประเทศไทย เล่ายิ้มๆ ตั้งแต่เด็กแล้วที่จุฑาศรีสนใจการทำธุรกิจ ธเนศ - อัญชัญ พ่อและแม่ของเธอคือผู้ผลิตและประกอบอลูมิเนียมในชื่อ บริษัท อลูเม็ท จำกัด แม้ทั้งคู่ไม่เอ่ยปากโดยตรงให้ทายาทมารับช่วงธุรกิจครอบครัว แต่ลูกๆ ทั้งสาม ก็ตระหนักถึงความรับผิดชอบในอนาคตเป็นอย่างดี จุฑาศรีขอเวลา 5 ปี เพื่อหาประสบการณ์ในต่างประเทศ เธอเลือกทำงานด้าน trading ที่ Mitsubishi Corp. ประเทศญี่ปุ่น 3 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอปี 2552 เธอตัดสินใจใช้เวลาที่เหลืออีก 2 ปีที่ Harvard Business School สหรัฐอเมริกา ที่ขณะนั้นอวลด้วยกลิ่นอายของ start up และเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ก็กระตุกต่อมคิดให้นักศึกษาสร้างธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อสังคม Anthony Tan นักศึกษาชาวมาเลเซีย ร่วมกับ Hooi Ling Tan เพื่อนร่วมชั้นอีกคนหนึ่ง พัฒนา app บนสมาร์ทโฟน ให้จัดระบบการเรียกรถแท็กซี่ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หลังจบการศึกษาในปี 2554 จุฑาศรีกลับสู่บ้านเกิด ส่วน Anthony และ Hooi ต่อยอดโครงการด้วยการตั้ง My Teksi ขึ้นที่มาเลเซียในเดือนมิถุนายนปีนั้น ก่อนเปิดตัวทางการในเดือนกรกฎาคมปีถัดมา “ถ้ามองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากร 600 กว่าล้านคน แล้วเรามี classmate อยู่ตามที่ต่างๆ ถ้าเราเอาเข้าแต่ละประเทศแล้วเชื่อมโยงกันก็น่าจะดี โฟกัสของเราคืออยู่ในภูมิภาคนี้ เพราะอยากให้ที่นี่พัฒนาขึ้นในแง่การคมนาคม ถ้าเชื่อมโลกดิจิทัลกับโลกของโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน จะกลายเป็น platform ที่ใหญ่มาก” จุฑาศรี คูวินิชกุล และเสริมอีกว่า “เรานำ GrabTaxi เข้ามาเพื่อทำให้สังคมในภาพรวมดีขึ้น ไม่ได้เข้ามาแย่งใครหรือตัดใครออก จึงต้องทำระบบให้เอื้อกับทุกฝ่ายมากที่สุด ส่วนเรื่องกฎหมาย เราเป็นคนไทยก็ต้องทำให้ถูกทั้งหน้าบ้านหลังบ้าน มีการประสานกับกรมการขนส่งทางบกและดูเรื่องภาษีอย่างรอบคอบ” 3 เสาหลักของ GrabTaxi คือ รวดเร็ว ปลอดภัย และมั่นใจ ด้านผู้ขับแท็กซี่ นอกจากมีรายได้ตามมิเตอร์ ยังมาจากค่าเรียกแท็กซี่ผ่าน app ทีมงาน Forbes Thailand หลายคน ใช้บริการ GrabTaxi พร้อมถามถึงรายได้ ผู้ขับรายหนึ่งแสดงข้อความในสมาร์ทโฟนให้ดูอย่างภูมิใจว่า ใน 2 สัปดาห์ ระยะเวลาปีกว่าที่รับงาน GrabTaxi ทำให้กล้าพอจะผ่อนทาวน์เฮาส์เล็กๆ ราคา 800,000 กว่าบาทให้ครอบครัวได้อาศัย ส่วนผู้ขับอีกคนเล่าว่า สุขภาพจิตของเขาดีขึ้น ไม่ต้องวิ่งรถเปล่าหาผู้โดยสารอีกต่อไป ตลาดเมืองไทยเป็นสนามใหญ่ของธุรกิจขนส่งสาธารณะ ปลายปี 2556 กรุงเทพฯ ได้ต้อนรับ Easy Taxiด้าน Uber บริษัทเทคโนโลยีสายเลือดอเมริกัน ผู้ให้บริการคมนาคมทางเลือกผ่าน app เปิดตัวในไทยเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ล่าสุด กุมภาพันธ์ปีนี้ นครชัยแอร์ หนึ่งในเจ้าตลาดรถทัวร์ก็ขอเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ปั้น ออลไทยแท็กซี่ ที่ใช้รถ Toyota Prius มารับส่งผู้โดยสาร “จะไม่บอกว่าเทียบกับคู่แข่ง เพราะจะทำให้เราหยุดเดิน และทำได้แค่ประมาณเขา แต่จะมองว่าเป้าหมายของเราคืออะไร experience ที่ต้องการคืออะไร และวิ่งไปทางนั้น จะทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น”   เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย  ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น 
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "จุฑาศรี คูวินิชกุล สตาร์ท GrabTaxi ให้วิ่งฉิว" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2015