USAID ร่วมผู้นำภาคธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยี "พลังงานสะอาด" ให้กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง - Forbes Thailand

USAID ร่วมผู้นำภาคธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยี "พลังงานสะอาด" ให้กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ภาคพลังงานกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในระดับฐานราก เนื่องด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้แหล่งพลังงานทดแทน หรือ พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานลมในขณะที่ต้นทุนพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

นักวางแผนด้านพลังงานในปัจจุบันจึงแสวงหาการใช้ พลังงานสะอาด อื่นๆ เช่น พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน เพื่อสร้างความสมดุลและสนับสนุนการบูรณาการอย่างรวดเร็วของการใช้พลังงานทดแทนที่มีความผันแปร

องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (U.S. Agency for International Development : USAID) จึงร่วมมือกับผู้นำภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคพลังงานและแนวทางการการรับซื้อพลังงานอย่างชาญฉลาด เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด ในฐานะหนึ่งในสมาชิกหลักของข้อริเริ่ม Asia EDGE (Asia Enhancing Development and Growth through Energy) องค์กร USAID เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างความหลากหลายด้านพลังงานและการซื้อขายพลังงานตลอดจนการขยายการเข้าถึงพลังงานทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยข้อริเริ่ม Asia EDGE จะนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภาคเอกชน และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) มุ่งหวังที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในภูมิภาคที่จะดึงดูดการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2016 โครงการ USAID Clean Power Asia ทำงานร่วมกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และแก้ปัญหาทางนโยบายและความท้าทายด้านเทคนิคต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดต่อการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดไปใช้

หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือการที่ USAID เข้าไปช่วยสนับสนุนผู้มีอำนาจตัดสินใจของภาครัฐในการเพิ่มการเข้าถึงและการบูรณาการพลังงานทดแทนเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า โดยส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ของ USAID ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในการทบทวนนโยบายและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา อีกทั้งยังให้คำปรึกษากับรัฐบาลลาว ในการออกแบบกฎเกณฑ์นโยบายเพื่อใช้ในโครงการสาธิตการประมูลซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกใน สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในปี 2020 เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ USAID ยังได้ทำงานร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้เกิดการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงงานทดแทนรวมแล้วกว่า 287 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 346 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือห้างบิ๊กซีในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารห้างสรรพสินค้า โดย USAID ยังให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการกลุ่มบริษัท บี.กริม พาวเวอร์ ในเรื่องการวางแผนโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2019 (Best Solar Power Plant Project Developer) จากนิตยสาร International Finance

องค์กร USAID พร้อมให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สำหรับนักวางแผนนโยบาย ผู้พัฒนาโครงการ หรือผู้ลงทุนรายใดที่มีความประสงค์จะพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในภูมิภาคสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของ USAID ได้ที่อีเมล hello@usaidcleanpowerasia.org ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ USAID มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับผู้พัฒนาโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์การเงิน การประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนการวางแผนโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงการวางแผนการหาแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะพัฒนาโครงการด้านพลังงานให้ประสบความสำเร็จตามแผนที่ได้วางไว้

    โดย Scott Bartos ที่ปรึกษาด้านพลังงานอาวุโส องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID)
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา