ระยะนี้ หลายคนคงได้ยินคำว่า search for yield กันมาบ้าง และอาจคิดว่าเป็นเรื่องวิชาการและไกลตัว แต่สำหรับผู้กำกับดูแลด้านตลาดทุนแล้ว เรื่องนี้สามารถแตกประเด็นและมีเรื่องต้องศึกษาให้ขบคิดได้หลายด้านมาก
search for yield เป็นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน ที่จะเกิดเมื่อมีภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและยาวนาน คำนี้เริ่มพูดกันอย่างกว้างขวางในตลาดทุนโลกมาตั้งแต่ปี 2548 และโดยนัยแล้ว เมื่อเกิดพฤติกรรม search for yield เป็นหลักธรรมชาติว่าสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย จนอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงินได้ ช่วงหลายปีมานี้ แทบทุกประเทศเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของประเทศสำคัญ ที่ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้เกิดอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก กลายเป็นแรงกดดันให้ผู้ลงทุนต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ปัจจุบันผู้ต้องการระดมทุนมีการออกตราสารลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนเลือกลงทุนได้หลายทาง โดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนหรือออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องพอดีกับการหาทางเลือกที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะ win - win กันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักลืมหลักธรรมชาติข้างต้น จะเกิดอะไรขึ้นกับผลของการลงทุนในอนาคต หากผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในวันนี้กำลัง search for yield โดยไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ และไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่แวดล้อม ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้ลงทุนที่เป็นปัจเจกบุคคล แต่ยังรวมถึงผู้ที่ตัดสินใจลงทุนระยะยาวแทนคนหมู่มาก เช่น การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผลกระทบที่เกิดตามมาอาจมีมากและเป็นวงกว้าง เพราะผู้รอคอยเงินลงทุนอาจไม่ได้เตรียมรับการขาดทุนในส่วนของเงินต้นไว้ ด้วยเหตุนี้ หลายมาตรการถูกพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขกับข้อกังวลข้างต้น มาตรการสำคัญหลักของ ก.ล.ต. คือ การสร้าง “วัฒนธรรมการลงทุน” หรือ investment culture เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการลงทุนจนสามารถลงทุน ดูแล และปกป้องความมั่งคั่งของตัวเองได้ และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆ ไป สอดรับกับภาพใหญ่ที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการออมและลงทุนในระยะยาว เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงหลังเกษียณอายุด้วย หากความเข้าใจเรื่องการลงทุนยังไม่ถูกต้อง ไม่สนใจ หรือไม่ใส่ใจ รากฐานนี้คงง่อนแง่น และเกิดผลร้ายสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ มาตรการสำคัญรวมถึงการให้บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และธนาคารพาณิชย์พัฒนาระบบและกระบวนการขายสินค้าในตลาดทุนที่เอื้อและรัดกุมในการถ่ายทอดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ยกระดับความรู้ความสามารถของผู้ที่ติดต่อกับผู้ลงทุนเพื่อให้ข้อมูลด้านตราสารและวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับฐานะ เป้าหมาย และยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้ ให้มีจำนวนและช่องทางมากพอในวงกว้าง ก.ล.ต. ยังปรับข้อกำหนดกับผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้การสื่อสารข้อมูลมีประสิทธิภาพ ทันกับสภาพปัจจุบัน ทั้งเรื่องเอกสารการเปิดเผยข้อมูล การแยกประเภทของสินค้าให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม เพิ่มข้อมูลหรือเน้นคำเตือนสำคัญ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สำหรับมิติที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องตัดสินใจลงทุนระยะยาวแทนผู้อื่นสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ พร้อมกับแก้ปัญหาความแตกต่างของช่วงอายุของกลุ่มบุคคล และการยอมรับความเสี่ยงในระดับที่ต่างกันได้ คือ การเลือกนโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (life path) ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะลงทุนในตราสารต่างๆ ให้เหมาะสมกับช่วงอายุ ระยะเวลาการลงทุน และปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยอัตโนมัติตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งนโยบายนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องใช้เวลาเพื่อสื่อสารให้เกิดความนิยมกับผู้ลงทุนในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นทางเลือกที่จะช่วยในมิติของการสร้างวินัยการลงทุนในระยะกลางและระยะยาวด้วย ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ท้าทายหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจากภาวะ search for yield ที่คงจะอยู่กับพวกเราไปอีกพักใหญ่ และขอย้ำว่าไม่มีตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยไม่มีความเสี่ยง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดผู้ลงทุน ในขณะที่ผู้ลงทุนเองจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนด้วยความเข้าใจ ทั้งผลิตภัณฑ์และตนเองก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016