ตอนที่ Mark Zuckerberg เข้าไปให้ถ้อยแถลงกับคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินของรัฐสภาสหรัฐฯ เขาถูกรุมอภิปรายอย่างหนักเรื่อง Libra (รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลและระบบชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ Facebook ต้องการจะนำมาใช้ บรรดานักการเมืองที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ต่างพากันรุมสกรัม Zuckerberg กันยกใหญ่
อันที่จริงมันก็พอจะมีประเด็นที่น่าพูดถึงอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น เรื่องความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องการฟอกเงิน แต่ว่า Facebook ก็กำลังร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อจัดการปัญหาพวกนี้อยู่แล้ว ถึงกระนั้น แรงกดดันทางด้านกฎเกณฑ์ของทางการก็บีบให้บริษัทหลายแห่งที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ Facebook ในโครงการนี้ตัดสินใจถอนตัวออกไป
เหตุผลที่แท้จริงที่คนพากันค้านเรื่องนี้ก็คือ แนวคิดของ Libra อาจจะก่อปัญหาให้กับทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เพราะ Libra อาจจะไปทำลายอำนาจผูกขาดของธนาคารกลาง ทำนองเดียวกับที่ Uber หรือ Lyft ทำลายการผูกขาดของสหกรณ์แท็กซี่
โดย Libra จะถูกหนุนหลังโดยตะกร้าเงินและเครื่องมือทางการเงินที่มีคุณภาพระดับสูงสุด ซึ่งจะเป็นการขจัดปัญหาเรื่องขาดเสถียรภาพอย่างที่เงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ประสบอยู่ แม้ว่าประวัติศาสตร์ 4,000 ปีจะได้พิสูจน์มาแล้วว่าทองคำเป็นสินทรัพย์อ้างอิงที่ดีที่สุด แต่ตะกร้าเงินของ Libra ก็ยังคงเหนือชั้นกว่าสินทรัพย์หรือเงินสกุลอื่นๆ อย่างมาก
เมื่อ Libra เปิดใช้งานจริงขึ้นมาเมื่อไหร่ ผู้ใช้ Facebook ก็สามารถที่จะสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Calibra ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถส่ง Libra ในจำนวนตามต้องการคล้ายๆ กับเงินไปให้กับผู้ที่ถือกระเป๋าเงิน Calibra ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมันเป็นเหมือนกับการปฏิวัติระบบการเงินโลกอย่างฉับพลันทันทีเลยทีเดียว เพราะภายใต้ระบบในปัจจุบันนี้ การจะโอนเงินข้ามประเทศมีต้นทุนที่แพงมาก และระยะเวลาที่ใช้ในการเคลียร์บัญชีที่นานเป็นชั่วโมง หรืออาจจะเป็นวันๆ ระบบใหม่นี้จะตัดพวกธนาคารออกไปจากกระบวนการโอนเงินในโลกนี้เลย!
Libra จะเป็นสิ่งที่ให้ทั้งความสะดวกสบาย และเสถียรภาพของค่าเงินไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ มันยังมีข้อดีข้อใหญ่อีก นั่นคือ การใช้งานระบบดิจิทัลและมือถือจะเปิดโอกาสให้คนเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก และอีก 14 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถเข้าถึงระบบการธนาคารได้
หนึ่งในเรื่องน่าประหลาดใจที่คนส่วนใหญ่ในโลกยังไม่รู้ก็คือ การทำธุรกรรมธนาคารผ่านระบบดิจิทัลนี้เป็นสิ่งที่นิยมกันมากในประเทศเคนยา เพราะประเทศนี้ไม่มีเครือข่ายสาขาธนาคารที่จะให้บริการด้านการธนาคารแบบดั้งเดิม ประชาชนจึงต้องทำธุรกรรมผ่านมือถือของตัวเองแทน และเมื่อพูดถึงเรื่องการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลแล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันเลยว่าจีนล้ำหน้าสหรัฐฯ ไปหลายปีแสงแล้ว
เมื่อถูกรุมค้านอย่างนี้ แล้ว Libra จะได้เกิดไหม Zuckerberg ได้ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า Facebook จะไม่เดินหน้าต่อจนกว่า Libra จะได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจุบัน Libra อยู่ภายใต้ Libra Association ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่โดยกลุ่มบริษัทเอกชน (แน่นอนว่ารวม Facebook ด้วย) และองค์กรไม่แสวงกำไร ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นอิสระจาก Facebook และ Libra ยังสามารถเดินหน้าเปิดตัวได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าปราศจาก Facebook เสียแล้ว Libraก็ไปไหนไม่รอด
การที่ Libra จะฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อเดินหน้าต่อได้ จะต้องอาศัยทักษะการเดินเกมทั้งทางการเมืองและการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอะไรแบบนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว และมันคงจะดีหากผู้เริ่มต้นเป็นบริษัทอเมริกัน อย่างที่ Zuckerberg พูดในถ้อยแถลงที่เตรียมไว้ล่วงหน้าว่า
“ขณะที่เรามัวแต่เถียงกันเรื่องพวกนี้ คนส่วนอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้มัวรอเราอยู่นะครับ จีนเขารีบขยับอย่างเร็วไปแล้วเพื่อที่จะเปิดตัวบริการที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันนี้ในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว Libra ...จะทำให้อเมริกายังคงเป็นผู้นำทางการเงินโลกได้ต่อไป ซึ่งรวมถึงคุณค่าของประชาธิปไตย และการสอดส่องดูแลโลกทั้งโลกด้วย หากอเมริกาไม่ได้สร้างนวัตกรรมนี้ ก็ย่อมไม่อาจรับรองความเป็นผู้นำทางการเงินของเราได้”
อ่านเพิ่มเติมนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2563 วางแผงแล้ววันนี้บนแผงหนังสือชั้นนำ