ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนในทุกด้านของชีวิต โดยด้านตลาดทุนนั้น “เทคโนโลยีทางการเงิน” (Financial Technology หรือ ฟินเทค) มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลก และวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า ตลาดทุนนั้นเป็นตลาดที่ใช้เทคโนโลยีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ระบบการเก็บข้อมูลและใบหุ้น รวมถึงระบบข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนก็ยังเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี
ในช่วง 3 - 5 ปีนี้
ก.ล.ต. เล็งเห็นว่า ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจจะหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคือ
“Democratization of Financial Services” หรือการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและตลาดทุนได้ง่ายและหลากหลายยิ่งขึ้นโดยมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งสามารถ customize บริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสมกับโจทย์และความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งในอดีตนั้นการให้บริการในลักษณะดังกล่าวจะต้องทำผ่านบุคคลซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก จึงเป็นที่มาของเหตุที่ว่ากลุ่มนักลงทุนที่จะได้รับบริการเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่ม
“high net worth” เท่านั้น
ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นคือ ด้านกองทุนรวม ด้วยจำนวนกองทุนรวมในปัจจุบันที่มีอยู่กว่าพันกองทุนในตลาดนั้นทำให้เป็นการยากที่คนขายกองทุนจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมทุกกองทุนได้อย่างครบถ้วน หรือสามารถที่จะติดตามผลประกอบการของแต่ละกองทุนได้
ดังนั้น ประชาชนในฐานะผู้รับบริการทางการเงินจะพบว่า บ่อยครั้งผู้ขายหน่วยลงทุนจะรู้จัก หรือมีข้อมูลเฉพาะกองทุนที่เปิดการเสนอขายในช่วงเวลานั้นๆ เท่านั้น และไม่สามารถที่จะแนะนำกองทุนที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าได้ ในขณะเดียวกัน ลูกค้าก็มีความลำบากในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อค้นหากองทุนที่เหมาะสม อีกทั้งหากอยากทำธุรกรรมกับหลายๆ บลจ. ก็มีความยุ่งยากในการเปิดบัญชีและส่งเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ซ้ำกันหลายครั้งอีกด้วย
ด้วยการใช้
นวัตกรรมฟินเทค ลูกค้าจะสามารถกำหนดกรอบความต้องการในการลงทุนของตนเองได้อย่างไม่มีข้อจำกัด หลังจากนั้น ระบบก็สามารถที่จะสืบค้น ประมวล และส่งมอบข้อมูลให้กับลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว และปราศจากข้อผิดพลาดอีกด้วย และยังสามารถที่จะดำเนินการสั่งซื้อ-ขายกองทุนดังกล่าวได้ภายในเวลาอันรวดเร็วบนต้นทุนที่ต่ำลง จึงพูดได้ว่า ในอนาคตนั้น ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับความสะดวกสบายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก แม้ว่าลูกค้ารายนั้นจะไม่ใช่เป็นกลุ่ม high net worth ก็ตาม
นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว เทคโนโลยีอีกประเภทที่ ก.ล.ต. มองว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะพลิกโฉมตลาดทุนก็คือ
“Distributed Ledger Technology” (DLT) อย่าง “บล็อคเชน” ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานของ trading platform รวมทั้งการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และเวลาในการทำธุรกรรมจนเกือบเป็นเรียลไทม์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการ reconcile ข้อมูลระหว่างกัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างมหาศาล เรียกได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตจะต้องมีรูปแบบต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
จากแนวโน้มทั่วโลกที่ความก้าวหน้าทาง
เทคโนโลยีจะมาพลิกโฉม (disrupt) ทุกภาคส่วน ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่ง ก.ล.ต. เองได้ให้ความสำคัญและวางกลยุทธ์เพื่อรองรับและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น
การเปิดพื้นที่ผ่าน regulatory sandbox และ temporary regulation เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ นำนวัตกรรมมาพัฒนาการให้บริการทางการเงินโดยไม่ติดข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น การขอใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎเกณฑ์ปัจจุบัน ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องค่าใบอนุญาตและทุนจดทะเบียนที่สูงจนธุรกิจที่มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อาจไม่สามารถทดลองและเปิดให้บริการในไทยได้
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเน้นด้านการสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการนำฟินเทคมาใช้ในตลาดทุนไทย ทั้งในด้านการขจัดอุปสรรคในการเข้าถึง
ข้อมูลในรูปแบบที่เครื่องอ่านได้ (machine readable) เพื่อให้ง่ายต่อการนำข้อมูลไปใช้ต่อ การเพิ่มความยืดหยุ่นและความชัดเจนในด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจมีความมั่นใจในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการสร้าง infrastructure ที่จำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการใช้ฟินเทคในตลาดทุน ผ่านการผลักดันใน forums ต่างๆ เช่น คณะกรรมการด้านฟินเทคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น