ยุคแห่งการเผชิญความท้าทาย จากการเปลี่ยนผ่านสู่การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกับดักรายได้ปานกลาง โครงสร้างประชากรสูงอายุ ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก รวมถึงการแข่งขันด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ
สำหรับเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจของประเทศนั้น หนึ่งในโครงการที่มีความโดดเด่นคือ “การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและเป็นเมืองที่น่าอยู่ อีกทั้งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดหรือ Gross Province Product (GPP) ของระยองที่มูลค่า 9.83 แสนล้านบาท ชลบุรี 4.92 แสนล้านบาท และฉะเชิงเทราที่ 3.99 แสนล้านบาท ทั้งยังเป็นแหล่งรวมนิคมอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันโรงผลิตไฟฟ้า และที่ตั้งท่าเรือขนส่งหลักของประเทศพร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมแบบครบวงจรตั้งแต่ทางอากาศ โดยเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา และต่อยอดการใช้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภาในเชิงพาณิชย์ และเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและศูนย์ฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรมการบิน ทางถนนมีการขยายมอเตอร์เวย์ทางเรือมีการขยายท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง และพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดเพื่อการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนี้ ทางรางมีการพัฒนารถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับ Southern Economic Corridor ไปยังกัมพูชาและเวียดนาม นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการขยายนิคมอุตสาหกรรม รวมเป็น 29 แห่งซึ่งเป็นฐานการผลิตของโรงงาน 3,786 โรงงาน จากศักยภาพดังกล่าว ภาครัฐจึงคาดหวังว่า EEC จะสามารถดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และการลงทุนด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยจะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 70,259 ไร่ภายในระยะเวลา 1-5 ปี ซึ่งการลงทุนมูลค่าสูงจะส่งผลให้ GDP ของประเทศเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี การจ้างงานไม่น้อยกว่า100,000 อัตราต่อปี จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี ลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ 4 แสนล้านบาทต่อปี รวมถึงโครงสร้างโลจิสติกส์ที่ประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้ จะทำให้มีการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท การลงทุนในด้านการพัฒนาเมืองใหม่ เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และที่อยู่อาศัยประมาณ 4 แสนล้านบาท รวมถึงการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพประมาณ 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ ชักชวนนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ให้มาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยพาณิชย์ภาค หรือ “Mini MOC” จะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเป็น “Business Solution Center” ให้นักลงทุน รวมถึงการให้คำปรึกษา แบบ one-stop service และการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ เช่น การขออนุญาตนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบ สิทธิพิเศษทางการค้า และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ยังมีบทบาทในการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจบริการที่เป็น service lead product เช่น โลจิสติกส์บริการด้านสุขภาพ และธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม S-Curve ที่จะลงทุนใน EEC โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์เพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของการขนส่งบริเวณภาคตะวันออก ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้นวัตกรรมและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุน นอกจากนี้ ในด้านอุตสาหกรรมเกษตร กระทรวงฯ ยังเป็นคนกลางในการรวบรวมข้อมูลดีมานด์และซัพพลายผลิตผลทางการเกษตร เพื่อรองรับการผลิตอาหารแปรรูปและพลังงานทดแทนใน EEC และการประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงฯ ที่ตั้งอยู่ตามประเทศต่างๆ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงจาก EECคลิกอ่าน บทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine