"เศรษฐกิจของชาติ" วิถีทางในอดีตหาใช่เส้นทางสู่อนาคต - Forbes Thailand

"เศรษฐกิจของชาติ" วิถีทางในอดีตหาใช่เส้นทางสู่อนาคต

เวลาหลายทศวรรษแล้วที่อัตราเติบโตทาง เศรษฐกิจของชาติ ยุโรปตามหลังสหรัฐฯ

เวลาหลายทศวรรษแล้วที่อัตราเติบโตทาง เศรษฐกิจของชาติ ยุโรปตามหลังสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น นับแต่วิกฤตปี 2008 อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเกือบร้อยละ 2 ของสหรัฐฯ โดยร้อยละ 2 ก็ยังถือว่าต่ำกว่าตัวเลขปกติ เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในอียู (ผนวกกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับผู้อพยพที่ควบคุมไม่อยู่) นำไปสู่กระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ “ประชานิยม” รูปแบบใหม่ แล้วพรรคการเมืองที่มีอยู่ตอบสนองอย่างไร พวกเขาตอบสนองด้วยการส่งเสริมนโยบายที่รับรองว่าเศรษฐกิจจะฝืดเคืองยิ่งกว่าเดิม นั่นคือ การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและ “ผู้มีอันจะกิน” มากขึ้น ใช้จ่ายด้านโครงการสวัสดิการสังคมและเบี้ยบำนาญมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มกฎเกณฑ์การดำเนินธุรกิจ ดังที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal พาดหัวข่าวว่า “พรรคการเมืองยุโรปขายนโยบายยุค 70s เพิ่มมาตรการควบคุม หวังกำราบประชานิยม” จริงอยู่ เพื่อนๆ บนภาคพื้นทวีปยุโรปของเราไม่ได้ ทำผิดไปเสียหมด และนั่นเป็นเพราะความสำเร็จของ Ronald Reagan และ Margaret Thatcher โดยหลักๆ พวกเขาขายธุรกิจที่เป็นของรัฐบาลและปรับลดภาษีนิติบุคคลที่สูงเสียดฟ้าลงมาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของสหรัฐฯ แล้ว ภาระด้านภาษีและกฎระเบียบของอียูยังถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการ ประเทศเหล่านี้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตราที่น่าตกใจ เดนมาร์กเก็บ VAT ที่ร้อยละ 25 กรีซเก็บที่ร้อยละ 24 สหราชอาณาจักรที่ร้อยละ 20 และเยอรมนีที่ร้อยละ 19 สหรัฐฯ ไม่มี VAT รัฐส่วนใหญ่เก็บภาษีอีกประเภท แต่ไม่มีรัฐไหนเก็บเกินร้อยละ 10 ที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ ภาษีเงินเดือนของยุโรป ในอเมริกา (เรียกว่าภาษี FICA) จัดเก็บที่ร้อยละ 15.3 ของรายได้ 132,900 เหรียญสหรัฐฯ แรก และร้อยละ 2.9 สำหรับรายได้ที่เกินกว่านั้น ในทางตรงกันข้าม ยุโรปจัดสูงกว่าอัตราของสหรัฐฯ 2-3 เท่า สำหรับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 นั้น เก็บภาษีเงินเดือนสูงถึงร้อยละ 65 โดยที่นายจ้างเป็นผู้ชำระร้อยละ 45 และร้อยละ 20 ชำระโดยลูกจ้าง ขณะที่กฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานก็มีความเข้มงวดมากกว่าสหรัฐฯ มาก โดยมีการกล่าวติดตลกกันว่า ในประเทศยุโรปส่วนใหญ่นั้น การหย่าขาดจากคู่ครองยังง่ายกว่าไล่คนงานออกสักคน กฎระเบียบเหล่านี้ได้รับการผ่อนคลายลงเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเงินบำนาญสำหรับข้าราชการหรือโครงสร้างกฎหมายแรงงานมักถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสทุกคนยืนยันความจริงข้อนี้ได้ เยอรมนีประสบความสำเร็จในการปฏิรูปบางส่วนในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษและนำไปสู่อัตราเติบโตที่ดีขึ้น แต่ก็ถึงกับทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสูญเสียตำแหน่ง และการปฏิรูปดังกล่าวก็ยังถูกบั่นทอนอย่างช้าๆ ตั้งแต่นั้นมาประเทศที่สามารถทำเกมได้ดีขึ้นกับเศรษฐกิจของพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา เช่น สวีเดน เดนมาร์ก และฮังการี ไม่ได้เลือกเดินทางตรงกันข้ามกับ Reagan และ Thatcher เสียทีเดียว สิ่งที่เราเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นในยุโรปเป็นความวิกลจริตรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ การทู่ซี้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ผลและเมื่อเห็นว่ามันล้มเหลว ก็ยังทำต่อไปอีก นี่ยิ่งเป็นเหตุผลให้ต้องกำจัดความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับการค้าและพิกัดอัตราภาษีที่เป็นตัวขวางกั้นการลงทุนภาคเอกชน นักธุรกิจจำเป็นต้องรู้รายละเอียดของกฎเกณฑ์ก่อนที่พวกเขาจะผูกมัดตัวเอง เมื่อมีสิ่งเหล่านี้พร้อมสรรพ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเฟื่องฟู และความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นจะมอบช่วงเวลาแห่งบทเรียนแก่เพื่อนต่างแดนที่กำลังยากลำบากของเรา
คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกันยายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine