"สังคมสูงวัย" กับการเลือกตั้งที่จะมาถึง - Forbes Thailand

"สังคมสูงวัย" กับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะเป็นปีที่เราจะเริ่มเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" อย่างรวดเร็วและรุนแรง

ไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น อีกไม่นานจะถึง 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ และคนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดคือคนอายุ 40-50 ปีในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เด็กเกิดใหม่จะน้อยลง น่าเสียดาย “คนพร้อม ไม่ท้อง” แต่ “คนท้องไม่พร้อม” เด็กที่เกิดจะมีคุณภาพเป็นอย่างไร และจะกลายเป็นคนวัยทำงานในอนาคตที่มีความสามารถหรือไม่ สัดส่วนคนวัยทำงานจะน้อยลงและคุณภาพอาจจะมีปัญหา ใครจะเป็นผู้จ่ายภาษีอากรให้ประเทศ ขณะที่เราต้องการงบประมาณด้านสวัสดิการมากขึ้นในยุคสังคมสูงวัย การพึ่งพาแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจะมีปัญหาเพราะประเทศเพื่อนบ้านก็กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน การเลือกตั้งในปี 2562 ที่จะได้ผู้บริหารประเทศยุคใหม่ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องมีนโยบายและระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ดังต่อไปนี้
  1. จะขยายอายุการทำงานของคนไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยไม่กระทบประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งหมายถึงการขยายอายุเกษียณของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลน จะต้องฝึกทักษะให้กับคนที่ใช้แรงงาน และกำลังกายในการทำงานให้สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพในขณะที่มีอายุมากขึ้นได้อย่างไร
  2. ระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำารองเลี้ยงชีพ เบี้ยยังชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติต้องปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเพราะปัจจุบันไม่เพียงพอ ไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืน
  3. เมื่อคนสูงอายุหวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐได้ไม่มากนัก จะหวังพึ่งลูกหลานได้น้อยลง รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมการออมของคนหนุ่มสาวเพราะอายุมากก็สายเสียแล้ว
นับเป็นเรื่องยากเพราะคนไทยนิยมบริโภคเกินกว่ารายได้ จึงกลายเป็นหนี้สินหรือการออมติดลบ รัฐอาจต้องสร้างระบบบังคับการออม (Forced Saving) โดยอาจเก็บภาษี VAT เพื่อการออมเพิ่มอีก 3% โดยใส่เลขประจำตัวประชาชนผู้ซื้อและสะสมไว้เป็นรายบุคคล และจะเฉลี่ยคืนให้เมื่อหยุดทำงาน การส่งเสริมการออมด้วยต้นไม้ก็เป็นวิธีที่สอดคล้องกับวิถีไทยเพราะไม้ยืนต้นอายุ 30 ปี จะมีมูลค่าต้นละเป็นหมื่นบาทเป็นบำนาญให้ชีวิตเกษตรกรได้อย่างดี
  1. จะหยุดยั้ง “คนท้อง ที่ไม่พร้อม” ท้องก่อนวัยอันควรอย่างไร แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือจะทำให้ “คนพร้อม ตั้งท้อง” ได้อย่างไร ซึ่งเป็นการยากมาก ผู้หญิงเป็นคนสำคัญที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะผู้หญิงเป็นผู้ต้องรับภาระการตั้งท้องและเลี้ยงดูเด็ก
ปัญหาที่พบคือผู้หญิงไทยปัจจุบันแต่งงานช้าลง เนื่องจากมีการศึกษาและทำงานมากขึ้น ช่วงเวลาของการเจริญพันธุ์จึงน้อยลง เมื่อผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงมองว่าการมีลูกเป็นภาระ และห่วงอนาคตของลูกที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและสังคมที่เปลี่ยนไป หญิงบางคนก็อยากมีลูกแต่ไม่อยากมี “ผัว” เพราะคิดว่าการมีสามีเป็นต้นทุนและภาระของชีวิตการสร้างระบบเพื่อให้แรงจูงใจ และลดภาระให้กับหญิงที่จะมีลูกเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่ง
  1. การปรับสภาพแวดล้อม ทั้งบ้าน ถนนหนทางและอาคารสาธารณะ จำเป็นต้องดำเนินการ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุการรักษาพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก และควรจะปรับสภาพให้ใช้ได้กับคนพิการและคนทุกวัย
  2. โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพหลังภาวะเฉียบพลัน คนดูแลผู้สูงอายุ (นักบริบาล) จำเป็นต้องสร้างและอบรมฝึกฝนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถกระจายตัวอยู่ในชุมชนได้โดยไม่เดือดร้อน จึงจำเป็นต้องมีระบบที่มีนักบริบาลเคลื่อนตัวเยี่ยมเยียนและทำงานในชุมชนต่างๆ
  3. ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน (ซึ่งต่อไปจะมีนักเรียนน้อยลง) โรงพยาบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องจับมือกันสร้างระบบในท้องถิ่นของตนเอง เพราะปัญหาและศักยภาพในแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกัน
ทั้งหมดนี้ กลุ่มบุคคลเป้าหมายที่จะประสบปัญหาอย่างหนักไม่ใช่ผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่เป็นคนอายุ 40-50 ปี ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งโชคร้ายสูงอายุในยามที่มีผู้สูงอายุมากมาย คนวัยทำงานและเด็กน้อยลง ปัญหาการออม สวัสดิการที่ไม่ยั่งยืน สภาพแวดล้อมและระบบรองรับด้านสุขภาพ รวมทั้งชุมชนจะต้องสร้างระบบรองรับในอนาคต เลือกตั้งปี 2562 เราจะได้ผู้บริหารประเทศที่ตระหนักและเข้าใจปัญหา “สังคมสูงวัย” ของประเทศไทยอย่างไร พรรคการเมืองและผู้อาสาทางการเมืองช่วยบอกด้วย โดย รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ติดตามอ่านบทความทางด้านเศรษฐกิจ เพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561 สังคมสูงวัย