เก็บภาษีคนรวย: สิ่งที่เดโมแครตไม่เข้าใจ
การตีพิมพ์ “ทำเนียบมหาเศรษฐี” ของเราคงทำให้นักการเมืองบางกลุ่มตีปีกกันพึ่บพั่บ โดยเฉพาะพวกผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อร่วมชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี ซึ่งจ้องจะ “เก็บภาษีคนรวย” เพราะมันช่วยให้ระบุเป้าหมายที่จะไปขูดภาษีจากเหล่ามหาเศรษฐีมาสานฝันแบบสังคมนิยมของพวกเขาได้ง่ายขึ้นแต่ว่ามันเป็นความหลงผิดโดยแท้
หากได้ฟังคารมของพวกที่อยากเข้าไปนั่งในทำเนียบขาวกลุ่มนี้เข้าคุณอาจหลงคิดไปว่า มหาเศรษฐี 400 คนที่ติดอันดับในทำเนียบของเราเป็นเหมือนกับ Scrooge McDuck ตัวละครในหนังของ Disney ที่นั่งอยู่บนถังที่กองเต็มไปด้วยเงินเหรียญ ทองคำ เพชรพลอย และธนบัตร ถ้าหากว่ารัฐสามารถเก็บภาษีจากคนพวกนี้ได้ก็จะมีเงินไปทำาโครงการในฝันอย่างที่อยากทำได้ง่ายๆ
แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ถ้าเราเข้าไปดูรายการทรัพย์สินของเศรษฐีที่ติดอันดับในทำเนียบของเราที่พวกเขาเตรียมตัว "เก็บภาษีคนรวย" ก็จะเห็นได้เลยว่า พวกเขาถือเงินสดอยู่ในมือน้อยมาก ซึ่งใครก็ตามที่เคยเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง หรือรถยนต์สักคนก็คงจะช่วยยืนยันได้ถึงความแตกต่างระหว่างการถือสินทรัพย์กับเงินสด
ทั้งนี้ การเก็บภาษีทรัพย์สินหมายความว่า คนเราจะมีทรัพย์สินเหลือให้เก็บภาษีน้อยลง ซึ่งตามนิยามแล้ว การเก็บภาษีจากการถือครองทรัพย์สิน หรือหลักทรัพย์จะทำให้มันมีมูลค่าลดลงมีผู้คนมากมายที่ต้องตัดขายทรัพย์สินที่ตัวเองถืออยู่ออกไป เพื่อที่จะได้มีเงินมาจ่ายภาษีที่เก็บจากสินทรัพย์ที่พวกเขาถือครอง
แม้จะมีบทเรียนจากประวัติศาสตร์นับพันปีมาแล้ว แต่นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังอหังการพอที่จะเชื่อว่าการขึ้นภาษี และการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นภาระ และมีต้นทุนสูงจะไม่กระทบกับความสามารถในการทำธุรกิจของผู้คนการเก็บภาษีทรัพย์สินจะเป็นการทำลายความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมันจะทำให้การละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนโดยกลุ่ม FANGs (Facebook, Amazon, Netflix, Google) ดูเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย
เพราะมันจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมีสิทธิขอรายการสินทรัพย์ทั้งหมดที่คุณมี รวมถึงมีสิทธิที่จะตรวจสอบบ้านของคุณ ที่เก็บของของคุณ บัญชีโบรกเกอร์ บัญชีธนาคาร และทั้งหลายทั้งปวงของคุณ เพื่อที่จะพิจารณาว่าคุณเข้าเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีทรัพย์สินหรือไม่ซึ่งพวกเขาแค่กดคลิกเดียวก็สามารถเข้าถึงประวัติธุรกรรมที่คุณเคยซื้อหรือขายอะไรก็ได้ทั้งหมดนี่มันคือวิถีสู่ความเป็นทาสชัดๆ
กำไรคือสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย
พวกเดโมแครต (รวมถึงพวกรีพับลิกันบางคนด้วย) ไม่เข้าใจบทบาทที่สำคัญของกำาไรในการผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง พวกเขามีแผนจะขึ้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจ ภาษีการจ้างงาน และภาษีมรดก โดยยังไม่ต้องพูดถึงการรีดเงินทางอื่นๆ อีกอย่างเช่นการเก็บเงินจากการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้อนาคตดูมืดมนเพราะการเก็บภาษีพวกนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงกับแหล่งเงินทุนที่สำคัญได้แก่ เงินออมและกำไร ถ้าหากไม่มีการลงทุน เศรษฐกิจก็จะชะงักงัน
ความจริงเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐในยุโรป
เรียนมหาวิทยาลัยฟรี! รักษาพยาบาลฟรี! ดูแลผู้สูงอายุฟรี! ค่าจ้างแรงงานสูง! ทวีปยุโรป โดยเฉพาะสแกนดิเนเวีย ได้รับการยกย่องจากพวกเดโมแครตให้เป็นต้นแบบที่สหรัฐฯ ควรดำเนินรอยตาม ซึ่งต้องยอมรับว่า โครงการสวัสดิการสังคมของประเทศเหล่านี้เหนือกว่าของสหรัฐฯ อย่างมาก แต่สิ่งที่ยังไม่ถูกพูดถึงก็คือ คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยต้องถูกขูดรีดอย่างหนัก เพื่อมาใช้อุดหนุนบริการฟรีพวกนี้ อัตราภาษีเงินได้ของชาวยุโรปสูงกว่าของสหรัฐฯ และทุกประเทศในยุโรปก็มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงถึง 20-25%
ในขณะที่ภาษีการขายสินค้าและบริการในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 6% เท่านั้น มันคงจะสนุกถ้าหากว่าในการโต้วาทีเพื่อคัดเลือกตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีการถามคำถามผู้สมัครทุกคนว่า เขาหรือเธอจะทำอย่างไรถึงจะหาเงินมาได้มากพอที่จะจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบในยุโรปได้โดยไม่ต้องขึ้นภาษีการขายสินค้าและบริการเป็น 20%
นอกจากการขึ้นภาษีเงินได้แล้ว ประเทศต่างๆ ในยุโรปยังมีการเก็บภาษีการจ้างงานที่สูงลิบลิ่วอีกด้วย ซึ่งในสหรัฐฯ มีเพดานอัตราภาษีการจ้างงาน หรือ “FICA” อยู่ที่ 15.3% ของเงินเดือนในขณะที่มาตรฐานยุโรปอยู่ที่ 35-50% ทีเดียว แน่นอน สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตมักจะไม่มีอะไรฟรี
GDP เป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้
ในการวัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเราถูกสอนให้เชื่อกันมานมนานว่า สิ่งที่จะใช้วัดขนาดและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจได้ดีที่สุดก็คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี แต่ว่ามันไม่ใช่เลย นอกจากจะให้ภาพที่ไม่สมบูรณ์แล้ว อันที่จริงมันยังให้ภาพที่ผิดเพี้ยนของสภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย บ่อยแค่ไหนที่เราได้ยินว่าการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนถึง 70%ของเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริง การลงทุนทางธุรกิจและการผลิตต่างหากที่เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจ หากไม่มีการผลิตเสียแล้วก็ย่อมไม่มีการบริโภค เพราะการบริโภคเป็นผลของการผลิตอีกที
ทั้งนี้เครื่องมือที่จะให้ภาพที่สมบูรณ์ สมจริง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องได้ดีกว่าจีดีพีอย่างมากก็คือ ผลผลิตเบื้องต้น (Gross Output หรือ GO) ซึ่งที่สหราชอาณาจักรเรียกว่า ผลผลิตรวม (total output)
ความต่างของข้อมูลสองตัวนี้ก็เหมือนกับความแตกต่างระหว่างการ ทำ X-ray กับการทำ CAT สแกนนั่นแหละ จีดีพีคือ มูลค่าของสินค้าและบริการทุกชนิดที่ผลิตสำเร็จขึ้นมาภายในอาณาเขตของประเทศซึ่งมันมีค่าเท่ากับกำไรขั้นต้นของบริษัทใดสักบริษัทนั่นแหละ แต่ตัวเลขจีดีพีไม่ได้เป็นตัวบอกถึงรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่มีนักวิเคราะห์จะประเมินมูลค่าของบริษัทใดๆ โดยละเลยรายได้และค่าใช้จ่ายไป
ในทางกลับกัน GO รวมขั้นตอนที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเหล่านั้นเข้ามาในการคำนวณด้วย ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้ ขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสูงถึงกว่า 4.5 ล้านล้านเหรียญ ไม่ใช่แค่ 2.1 ล้านล้านเหรียญอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน GO เป็นตัววัดสภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มในอนาคตที่ไวกว่าจีพีพีมาก เพราะ GO จะสะท้อนให้เห็นได้ทันทีเมื่อการผลิต และการลงทุนขยายตัวขึ้นหรือหดตัวลง