มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ให้ความเห็นชอบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาได้เกิดผลกระทบต่อหลายฝ่ายทั้งทางบวกและทางลบไม่มากก็น้อย ในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 25 ปี (พ.ศ.2533-2558) โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาได้ดังนี้
1. ช่วง พ.ศ.2533-2541 ค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคตลอดเวลา การขยายตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำและผลิตภาพของแรงงาน (ความสามารถในการทำงานที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นจากการอบรมฝึกฝน) กับค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน 2. ช่วง พ.ศ.2541-2555 เป็นช่วงการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีผลมากนักต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างเฉลี่ยค่อนข้างมาก ตัวแทนภาคแรงงานและฝ่ายวิชาการจึงเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างซึ่งภายหลังคณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศให้ทุกจังหวัดปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากัน 300 บาททั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2556 เมื่อคำนวณโดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นการเพิ่มอัตราค่าจ้างอีกร้อยละ 25.5 และไม่มีการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับ “แรงงานแรกเข้าทำงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน” ไปจนถึงปี 2558 3. การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากค่าเฉลี่ย 175.73 บาท ในปี 2555 เป็น 300 บาท หรือ 70.7% ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างดัชนีผลิตภาพแรงงานและดัชนีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยลงมากและเป็นครั้งแรกที่ดัชนีค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าดัชนีค่าจ้างเฉลี่ยในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะ SMEs ประเภทที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม (small) ส่วนน้อยยังจ่ายค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทอยู่ถึงร้อยละ 49 และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีผลทำให้ช่วงห่างระหว่างผลิตภาพแรงงานกับค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มจะกลับไปขยายตัวกว้างมากขึ้นอีกครั้ง จากประวัติศาสตร์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเวลาที่3 ชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับ “แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือแรกเข้า” อีกครั้ง เพื่อให้ดัชนีค่าจ้างขั้นต่ำไปในทิศทางเดียวกับดัชนีผลิตภาพแรงงาน จังหวัดที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเต็มที่ คือ จังหวัดที่แรงงานใหม่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยไม่สูงไปกว่าค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีอยู่เพียง 34 จังหวัด หรือ 45% คิดเป็นจำนวนแรงงาน 34.5% ของแรงงานใหม่ทั้งหมดซึ่งไม่มากนัก ถ้าเทียบกับจังหวัดที่มีแรงงานใหม่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วซึ่งมีถึง 43 จังหวัด หรือ 55% คิดเป็นจำนวนแรงงาน 65.5% ที่ได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อยจากการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคราวนี้น่าจะเกิดผลดีต่อแรงงานแรกเข้าเพื่อรอพัฒนาฝีมือและส่งผลให้แรงงานที่ทำงานอยู่แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตามทฤษฎีแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ไม่น่ากระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่อาจทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้วยเช่นกัน แต่ด้วยนโยบายของรัฐในการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่ายต่อภาคแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะเกษตรกรอาจหักล้างผลกระทบนี้ไปได้ โดยสรุป ในอนาคตการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานใหม่รอการพัฒนาฝีมือควรยึดดัชนีค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อมาปรับค่าจ้างโดยอัตโนมัติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการค่าจ้าง ส่วนค่าจ้างสำหรับผู้ที่พ้นช่วงทดลองงานแล้ว ส่วนที่เกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นเรื่องของนายจ้าง ด้านแรงงานเดิมที่มีประสบการณ์ ค่าจ้างก็จะเพิ่มสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของพนักงานใหม่อยู่ระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจะเพิ่มขึ้นเท่าไรเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะพิจารณาจากความสามารถของลูกจ้าง ประการสุดท้าย ฝ่ายรัฐต้องทำหน้าที่ของตนให้ดี เช่น หน่วยงานใดดูแลเรื่องราคาสินค้าจำเป็นและค่าครองชีพ หรือหน่วยงานใดดูแลสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นต้น หากทำได้เช่นนี้นายจ้างเอกชนคงปรับตัวได้ ถ้าการปรับค่าจ้างครั้งต่อไปทำไปอย่างมีเหตุมีผลและเป็นธรรมก็จะเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560