ทำไมสหราชอาณาจักรอยู่อย่างไม่ยิ่งใหญ่ - Forbes Thailand

ทำไมสหราชอาณาจักรอยู่อย่างไม่ยิ่งใหญ่

หากมีรางวัลด้านความไร้ฝีมือในการบริหารบ้านเมืองสหราชอาณาจักรคงชนะขาด ประเทศนี้ทำ Brexit พังไม่เป็นท่าตั้งแต่เริ่มลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2016

ทุกวันนี้เศรษฐกิจหยุดนิ่งการออกจาก EU ยังคลุมเครือ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมชุดนี้ก็ทึ่มจนอาจทำให้ Jeremy Corbyn ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งต่อต้านอเมริกัน ไม่ชอบยิว และมีแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ได้เป็นนายกฯ คนต่อไป (สมาชิกพรรคแรงงาน 7 คนในสภาเพิ่งลาออกจากพรรคเพราะแนวคิดพิษร้ายของเขา) ประเทศนี้น่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการรวมข้อดีของสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ และน่าจะทำให้กลุ่ม EU อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร แต่รัฐบาลพรรคขุนนางกลับเล่นการเมืองแบบเลื่อนลอย สับสน และยังมีการใช้จ่ายหวังเพื่อเอาใจผู้คนและตั้งกฎเกณฑ์มากขึ้น ซึ่ง Barack Obama น่าจะปลื้ม
  • กบฏไร้น้ำยา หลังการลงประชามติ และ นายกฯ David Cameron ผู้จัดโหวตโดยเชื่อว่า Brexit ไม่มีทางผ่านออกไป พรรคอนุรักษ์นิยมก็เลือกผู้นำคนใหม่ซึ่งคัดค้าน Brexit แต่กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit มัวแต่เถียงกันเองและไม่หาตัวแทน เรื่องจึงเละมาตลอด แถม Theresa May ยังแสดงความไม่เอาไหนเพิ่มอีก ด้วยการให้เลือกตั้งก่อนกำหนดเพราะคิดว่าพรรคจะชนะถล่มทลายแต่กลับเสียเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ไปแทน
  • รัฐบาลตาขาว อยากให้ลดภาษีเงินได้หรือเก็บอัตราเดียวเหมือนในยุโรปกลางกับยุโรปตะวันออก ให้ลดความเยิ่นเย้อในระบบงานเหมือนที่ Cameron ทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2010 อยากให้ลดภาระของภาคธุรกิจโดยเฉพาะสตาร์ทอัพงั้นหรือ ให้สวรรค์ช่วยเถอะ! มาตรการแบบนี้มีแต่จะถูกสับว่าช่วยคนรวย อวยนักธุรกิจ แต่ไม่รักสิ่งแวดล้อมและ Theresa May กับลูกทีมขี้ขลาด ก็ไม่กล้าใช้นโยบายหัวก้าวหน้าเหมือน Margaret Thatcher แถมหลังจาก Thatcher ออกจากเลขที่ 10 ถนน Downing ไปเกือบ 3 ทศวรรษ เธอก็เหมือนไม่มีตัวตนในพรรคแล้ว
สหราชอาณาจักรไม่เข้าใจการเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจซึ่งต้องล้มกาแพงภาษีและการค้าเหมือนที่ฮ่องกงทำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกาะที่มีแต่ตึกแออัดและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเป็นเมืองหลวงด้านการเงินของยุโรปหรือของโลกแบบสมัยที่ Isaac Newton ทำให้เงินปอนด์มีค่าเหมือนทองคำในปี 1717 ตอนเขาดูแลโรงกษาปณ์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเหรียญปอนด์ทองคำช่วยวางรากฐานการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ https://youtu.be/9TE8XxhtiMA

ภาพยนตร์ให้ความรู้เรื่องเงิน

เมื่อต้นปี PBS เปิดตัวสารคดีเรื่อง In Money We Trust? ซึ่ง สร้างจากหนังสือที่ผมเขียนร่วมกับ Elizabeth Ames ชื่อ Money: How the Destruction of the Dollar Threatens the Global Economy-and What We Can Do About It สารคดีเรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก Maryland Public Television และตอบคำถามว่า “เงินคืออะไร” ผ่านมุมมองใหม่ที่น่าตื่นเต้น สารคดีอธิบายถึงการคิดค้นเงินตราเมื่อ 2,500 ปีก่อน ซึ่งทำาให้เกิดการค้าและความร่วมมือระหว่างคนแปลกหน้า และขับเคลื่อนความสำเร็จของมนุษย์ตั้งแต่การเกิดวิชาปรัชญาใน Athens ยุคเรอเนสซองส์จนถึงการปฏิวัติไฮเทค และสำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้คนไม่เชื่อมั่นในเงินตรา เช่น วิกฤตเงินเฟ้อในเยอรมนีต้นทศวรรษ 1920 ซึ่งนำไปสู่การผงาดของ Adolf Hitler และความวุ่นวายที่เวเนซุเอลาในปัจจุบัน ในสารคดีมีผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำาถามซึ่งรวมถึง “เราควรปฏิรูป หรือใช้ระบบเงินตราแบบเดิมต่อไปใช่ไหม” และ “เราจะไปทางไหนดีจาก ณ จุดตรงนี้” โดยมีทั้ง Alan Greenspan และ Paul Volcker อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ Amity Shlaes ผู้เขียน The Forgotten Man ซึ่งว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และ Adam Fergusson ผู้เขียน When Money Dies ซึ่งว่าด้วยวิกฤตเงินเฟ้อในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สารคดียาว 1 ชั่วโมงเรื่องนี้ฉายในช่วงครบ 10 ปีวิกฤตการเงินปี 2008-2009 พอดี เมื่อความเชื่อมั่นในเงินตราลดน้อยลงในยุคนี้ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม เศรษฐกิจเติบโตน้อยลง และเกิดสกุลเงินดิจิทัลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Mutual of America ซึ่งเป็นผู้นำด้านการประกันเพื่อคนวัยเกษียณและเป็นสปอนเซอร์หลักจัดอีเวนต์ที่สำานักงานใหญ่เมือง New York เพื่อฉาย In Money We Trust? รอบพิเศษ John Greed ซีอีโอพูดไว้ได้ดี “จากความผันผวนของตลาดการเงินและผลที่อาจเกิดขึ้นกับเงินออมของคนอเมริกัน ถือว่าสารคดีเรื่องนี้ออกมาถูกจังหวะ” ในฐานะที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ผมขอขอบคุณทุกท่าน ที่ช่วยให้สารคดีนี้เกิดขึ้นได้
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เดือน พฤษภาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine