สหรัฐฯ กำลังเดินผิดทาง เรื่องสิทธิบัตรวัคซีน - Forbes Thailand

สหรัฐฯ กำลังเดินผิดทาง เรื่องสิทธิบัตรวัคซีน

ในขณะที่สหรัฐฯ มักจะประณามจีนรายวันในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี Biden กลับประกาศให้การสนับสนุนสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างความเสียหายอย่างหนักหนาสาหัสที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ประธานาธิบดี Biden ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ เห็นชอบแนวทางขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะบังคับให้บริษัทยาของสหรัฐฯ ส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศหรือบริษัทที่ต้องการหลังจากที่บริษัทยาของสหรัฐฯ ได้ลงทุนไปแล้วนับพันล้านเหรียญ และทุ่มเททั้งทรัพยากรบุคคลและเวลาลงไปอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาวัคซีนเหล่านี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนนับล้านเอาไว้ได้ แต่เรื่องนี้จะทำให้เกิดผลร้ายที่น่ากลัวตามมา เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจะทำลายหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าที่สุดของประเทศไปโดยไม่มีเหตุผลที่ดีมารองรับ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้มีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะกระบวนการผลิตวัคซีนมีความซับซ้อนมากและไม่สามารถเร่งได้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ The Washington Post ซึ่งปกติไม่ค่อยจะปกป้องหลักการตลาดเสรีสักเท่าไรยังบอกว่า “ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุดก็คือ สิทธิบัตรของวัคซีนไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่เป็นคอขวดและต่อให้มีการส่งมอบสิทธิบัตรให้กับประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้จะทำให้มีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด” บริษัทยาต่างๆ กำลังเร่งผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้อยู่แล้ว และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้วัคซีนมีความปลอดภัยด้วย ถึงแม้ว่าอุปทานวัคซีนในโลกจะยังตึงตัวต่อไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่จะมีวัคซีนเพิ่มเข้ามาอีกกว่า 1.2 หมื่นล้านโดสภายในสิ้นปี 2022 ความจริงที่น่าตกใจก็คือ ถ้าหากประธานาธิบดี Biden ไม่กลับลำในเรื่องนี้ พวกอาชญากรและบริษัทที่มีมาตรฐานต่ำจะผลิตวัคซีนปลอม หรือวัคซีนที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานป้อนเข้ามาในตลาด แต่ความเสียหายที่แท้จริงจะมาจากผลกระทบในระยะยาว เพราะกว่าจะผลิตยาใหม่แต่ละตัวป้อนเข้ามาในตลาดได้สำเร็จต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 2.6 พันล้านเหรียญ บวกกับต้องใช้เวลาวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพอีกนานนับสิบปี ถ้าหากว่านักการเมืองสามารถยึดเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตยาไปได้ง่ายๆ แบบนี้ ต่อไปก็คงไม่มีบริษัทยาหรือนักลงทุนที่ไหนอยากจะทุ่มเททรัพยากร และแบกรับความเสี่ยงจากการพัฒนายาและเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ ออกมา เพราะจะยุ่งยากลำบากลำบนไปทำไม ถ้าเมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วต้องใส่พานประเคนไปให้กับจีนและประเทศอื่นๆ ประเด็นนี้จะทำให้นวัตกรรมของวงการยาหยุดชะงักหรือเผชิญข้อจำกัดอย่างหนัก ซึ่งหากพิจารณาถึงความคืบหน้าและแนวโน้มที่สดใสของงานวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อมและโรคร้ายแรงอื่นๆ แล้ว ต้องถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ทั้งอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศสต่างก็ตกตะลึงกับสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังจะทำ และประสานเสียงคัดค้านการติดสินใจในเรื่องนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีชีวภาพเป็นด้านที่สหรัฐฯ พัฒนาไปไกลมาก ทิ้งห่างประเทศอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วทำไมรัฐบาลนี้ถึงต้องทำลายความได้เปรียบนี้ทิ้งไปโดยไม่จำเป็นด้วยเล่า ทำเนียบขาวจำเป็นต้องกลับหลังหันในเรื่องนี้อย่างด่วนเลย  

ผู้เสียภาษีทั่วโลก จงระวัง!

บรรดานักเก็บภาษีกำลังไล่ตามเก็บภาษีจากคุณอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เสนอให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเพราะมีการวางแผนที่จะพัฒนาต่อไปสู่การบังคับใช้กับการเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะมีภูมิลำเนาหรือทำธุรกิจอยู่ที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้ เหล่านักการเมืองต่างก็จ้องจะรีดเงินจากคุณมากขึ้นทั้งนั้น Yellen กล่าวว่าอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำสำหรับทั้งโลกเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี เพราะไม่เช่นนั้นประเทศต่างๆ จะพากันทำร้ายตัวเองด้วยการแข่งกันลดภาษีจนต่ำเตี้ยติดดิน และรัฐบาลประเทศต่างๆ จะไม่สามารถขึ้นภาษีได้เลย เว้นเสียแต่ว่าจะมีการดำเนินมาตรการอะไรสักอย่างที่เด็ดขาดขึ้นมา ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ว่ามานี้เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะแม้ว่าประเทศต่างๆ พากันปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลมาตลอดหลายปีเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต แต่ก็ยังห่างจากศูนย์อีกไกล ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไอร์แลนด์ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอัตราภาษีต่ำแต่ก็ยังอยู่ที่ 12.5% ในขณะที่ฮังการีที่อัตราภาษีต่ำที่สุดในยุโรปแล้วก็ยังอยู่ที่ 9% เท่านั้น ในขณะเดียวกันอังกฤษได้ประกาศแผนที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 อย่างไรก็ตาม Yellen และบรรดาผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับการขึ้นภาษีต่างพากันใช้วิธีข่มขู่ให้คนกลัวเพื่อจะได้ขึ้นภาษีได้คล่องๆ จะได้นำเงินในกระเป๋าประชาชนไปใช้จ่ายในโครงการตามที่ได้วางแผนเอาไว้
Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ
สิ่งที่ Yellen เสนอนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากเธอและประธานาธิบดีทำการตกลงกันได้ จากนี้อีกไม่นานสหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทในสหรัฐฯ เสียเปรียบอย่างมากในการแข่งขันกับบริษัทในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลกไว้ที่ระดับสูงจะช่วยบรรเทาผลกระทบของนโยบายที่พรรคเดโมแครตกำลังพยายามดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่กลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ไม่เข้าใจประสบการณ์ในอดีตซึ่งสอนเรามาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การใช้ระบบภาษีอัตราต่ำเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย กลุ่ม G20 ซึ่งเป็นเวทีของกลุ่มเศรษฐกิจหลักของโลก กำลังพยายามผลักดันแผนกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำของทั้งโลกขึ้นมา ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศในยุโรปที่กระตือรือร้นในการสนับสนุนแผนดังกล่าว คือ ประเทศที่เก็บภาษีในอัตราสูงอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนผู้ที่สนับสนุนการเก็บภาษีอัตราสูงในสหรัฐฯ ก็แอบซุกเงื่อนไขข้อหนึ่งเอาไว้ในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลจากวิกฤตโรคระบาดของประธานาธิบดี Biden นั่นก็คือ ห้ามไม่ให้รัฐต่างๆ ลดภาษี ซึ่งเงื่อนไขนี้ทำให้รัฐ New York และ California เป็นเดือดเป็นร้อนมาก เพราะจะเป็นปัจจัยให้ประชากรของรัฐจำนวนนับล้านคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในรัฐที่อัตราภาษีต่ำกว่าอย่าง Florida และ Texas จะว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ประชากรจะหนีจากรัฐที่ใช้จ่ายอย่างมือเติบจนทำให้ต้องเก็บภาษีโหด ยกตัวอย่างเช่น รัฐ New York ซึ่งเป็นรัฐที่เก็บภาษีแพงที่สุดในสหรัฐฯ ตั้งงบประมาณรายจ่ายเอาไว้สูงถึง 2.12 แสนล้านเหรียญ ในขณะที่รัฐ Florida ตั้งงบประมาณรายจ่ายเอาไว้เพียง 9.7 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งของงบรัฐ New York ด้วยซ้ำทั้งๆ ที่ Florida มีจำนวนประชากรรวมมากกว่ารัฐ New York ถึง 2 ล้านคน เพราะฉะนั้นผู้เสียภาษีอย่างเราๆ จึงควรตั้งความหวังไว้ว่า แนวทางการเก็บภาษีเหล่านี้จะถูกขัดขวาง เพราะไม่เช่นนั้นทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะประสบความเสียหายโดยไม่จำเป็นในช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดๆ แต่ยังโชคดีที่เริ่มมีเสียงคัดค้านออกมาแล้วนำโดยประเทศไอร์แลนด์และฮังการี ซึ่งในขณะที่ Yellen หวังว่าจะกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ 21% บางประเทศอยากให้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ 15% เท่านั้น แต่แน่นอนว่าการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำไม่ว่าจะกำหนดที่เท่าไรก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งนั้น เพราะมันจะเป็นการกำหนดฐานสำหรับการขึ้นภาษีให้กับนักการเมืองจอมตะกรุมตะกราม นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ เองก็มีหลายๆ รัฐที่ยื่นฟ้องศาลเพื่อพิจารณาว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ “รัฐต่างๆ ห้ามลดภาษี” ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่   เรื่อง: Steve Forbes เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine